การอ่านสร้างครอบครัวอบอุ่น…ลดความเหลื่อมล้ำได้ : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน และ กีรติ คุวสานนท์

แฟ้มภาพ

วาทกรรมที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 8 บรรทัด” เป็นวาทกรรมที่น่าตกใจสำหรับทั้งคนในวงการศึกษาและนอกวงการศึกษา แต่ในขณะเดียวกันมีความเห็นจากอีกหลายฝ่ายที่มีข้อสงสัยและคัดค้านกับวาทกรรมนี้ หากแต่วาทกรรมนี้ทำให้ใครหลายๆ คนต้องตื่นตัวกับการส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เกิดพฤติกรรมการอ่านที่สูงขึ้นของประชาชนไทย แต่บางครั้งเราอาจลืมไปว่าการสนับสนุนหรือกระตุ้นให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ได้เป็นสร้างนิสัยรักการอ่านที่ยั่งยืนเท่ากับการปลูกฝังการรักการอ่านในช่วงวัยเด็ก ที่ต้องลงทุนในด้านเวลาและความร่วมมือของหลายฝ่ายมากกว่าการรณรงค์ให้ประชาชนรักการอ่านที่ล้มเหลวมาโดยตลอด

การปลูกฝังการอ่านอาจทำได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ตามแต่ทฤษฎีหรือความเชื่อต่างๆ หนึ่งในโครงการด้านการอ่านของจังหวัดยโสธร “ชวนกันอ่านให้ลูกฟัง” มีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อทั้งเยาวชนและสถาบันครอบครัว โครงการนี้ได้นำความคิดของการอ่านหนังสือให้กับเด็กแรกเกิด โดยผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย ครอบครัวทุกฐานะยากดีมีจน เป็นผู้อ่านให้เด็กฟัง ความคิดนี้อาจดูเป็นความคิดที่แหวกแนว หรืออาจถูกมองว่าเป็นการกระทำที่สูญเปล่า เพราะว่าทารกที่อายุน้อยขนาดนั้นจะฟังนิทานที่ผู้ปกครองอ่านรู้เรื่องได้อย่างไร แล้วการอ่านให้เด็กฟังเพียงอย่างเดียวจะทำให้เด็กรักการอ่านได้อย่างไร

อันที่จริงแล้วการที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เกิดนั้น อาจไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับการปลูกฝังการรักการอ่าน หรือพัฒนาการทางด้านภาษาโดยตรง แต่การอ่านให้เด็กฟังในช่วงแรกของชีวิตเด็กนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่มากขึ้น เมื่อเด็กได้ยินเสียงพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังก็จะเกิดความคุ้นเคย จดจำเสียงของพ่อแม่ได้ ในช่วงวัยแรกเกิด เด็กจะใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ในการช่วยจดจำคนรอบๆ ตัว โดยเฉพาะลักษณะของการออกเสียง ซึ่งการอ่านหนังสือให้เด็กฟังนั้นเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ส่งเสริมความพึงพอใจให้กับเด็ก และยังเป็นการสร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย

ตามข้อมูลของโครงการ ไม่เพียงแต่ในช่วงของวัยทารกเท่านั้นที่พ่อแม่จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง แต่วัยที่เริ่มโตขึ้นจากทารก อ่านสม่ำเสมอให้เด็กฟังอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้เองเป็นสิ่งที่ปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน เมื่อเด็กได้มีกิจวัตรในการฟังพ่อแม่อ่านนิทานให้ฟัง วันละ 2-3 เล่ม เด็กชอบให้อ่านซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นกับกระบวนการนี้ เด็กจะซึมซับนิสัยการอ่านโดยการเห็นและรับรู้ทุกๆ วัน เด็กโดยเฉพาะในช่วงวัยประถมนั้นเป็นช่วงวัยแห่งการเลียนแบบ ค้นหาแบบอย่าง (Role Model) เพื่อเรียนรู้และลอกเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้น การที่พ่อหรือแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวันนั้นจึงเป็นการสร้างแบบอย่างให้เห็นจนเกิดเป็นความเคยชินและพัฒนากลายเป็นนิสัยในที่สุด

Advertisement

ในช่วงเวลาที่อ่านหนังสือด้วยกันนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน อบอุ่น ได้ฟังนิทาน ได้หัวเราะพูดคุยกันในครอบครัว จะทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีกับการอ่านหนังสือไปด้วย เพราะเด็กจะเชื่อมโยงความสุขที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมเหล่านี้เข้ากับพฤติกรรมการอ่าน และจะถูกฝังอยู่ในตัวของเด็กเองโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งจะส่งผลให้เด็กที่ผ่านกิจวัตรในลักษณะนี้จะมีทัศนคติที่ดีต่อการหยิบหนังสือมาอ่าน

ประโยชน์ทางตรงอีกหนึ่งประการคือพัฒนาการทางภาษาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กที่ได้รับฟังการอ่านนิทานจากพ่อแม่ การอ่านหนังสือให้เด็กฟังนั้นเป็นการเปิดประสบการณ์การได้เรียนรู้ภาษาโดยเฉพาะด้านคำศัพท์ รูปประโยค และการจับใจความมากขึ้น เพราะเมื่อมีการได้ยิน ได้ฟัง และรู้ความหมายของคำและรูปประโยคต่างๆ เด็กจะเริ่มมีการตีความเพื่อให้เข้าใจในเรื่องราวของนิทานที่กำลังได้ยิน

กระบวนการเหล่านี้เป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา สมาธิ และการคิดจินตนาการของเด็ก และเนื่องจากเด็กได้รับประสบการณ์ของการได้ฟังได้เรียนรู้ภาษาอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในด้านการเรียนรู้ภาษาของเด็กเมื่อเด็กก้าวเข้าสู่ระดับประถมศึกษา ทั้งทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน

นอกจากนี้การใช้เวลาในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังนั้นยังเป็นการดึงตัวเด็กเองออกจากสื่อดิจิทัล เช่น การดูโทรทัศน์ การดูคลิปการ์ตูน หรือการเล่นเกมจากมือถือ ซึ่งสื่อดิจิทัลเหล่านี้เป็นเสมือนดาบสองคมของเด็กในวัยนี้ เนื่องจากสื่อเหล่านี้เป็นสื่อที่มีลักษณะของการสื่อสารในทางเดียว (One Way Communication) เมื่อเด็กเสพสื่อที่มีลักษณะของการสื่อสารทางเดียวซึ่งสำหรับเด็กคือการดูหรือฟังเพียงอย่างเดียว จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาโดยเฉพาะการพูดที่ช้า สมาธิสั้น เนื่องจากสื่อไม่ได้มีการส่งเสริมให้เด็กนำข้อมูลที่รับเข้าไปแล้วต้องมีการตอบกลับมา แต่การอ่านหนังสือของพ่อแม่ให้เด็กฟังนั้น แน่นอนว่าระหว่างการฟังนิทานจะต้องมีการพูดคุย หรือถามตอบในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งนั่นเป็นกระบวนการในการช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาให้กับตัวเด็กได้ในอีกทางหนึ่ง

ผลวิจัยของโครงการนี้พบว่านักเรียนที่ครอบครัวเข้าร่วมในโครงการ มีพัฒนาการเกินวัย โดยเฉพาะพัฒนาการทางภาษา โดยเห็นได้จากผลสอบ O-net และจากผลการตรวจประจำปีของทางสาธารณสุขจังหวัด

นอกจากพัฒนาการทางด้านภาษา และการปลูกฝังการรักการอ่านแล้ว พฤติกรรมการอ่านหนังสือให้ลูกฟังยังเป็นการสานสัมพันธภาพในครอบครัวอีกด้วย ในสังคมที่วุ่นวายและเร่งรีบ สิ่งหนึ่งที่ลดน้อยลงในสถาบันครอบครัวอาจไม่ใช่ความรักที่สมาชิกในครอบครัวมีให้กันแต่เป็นเวลาที่ใช้ร่วมกันของคนในครอบครัวที่ขาดหายไป การที่พ่อแม่มีพฤติกรรมการอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกๆ วัน นั่นเป็นการกำหนดเวลาที่สมาชิกในครอบครัวได้ใช้ร่วมกัน เด็กจะสัมผัสได้ถึงความรัก ไออุ่นที่พ่อแม่ให้เวลาและการเอาใจใส่

ในช่วงเวลาของการอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้น หากเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นลูกๆ หลายคนก็อาจเป็นเวลาที่ทำให้พี่น้องได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน หากมีเรื่องราวที่ลูกๆ ต้องการแบ่งปันหรือพูดคุย ช่วงเวลาสั้นๆ นี้อาจเป็นช่วงเวลาที่มีค่า ที่ได้เรียนรู้ ผ่อนคลาย และได้แลกเปลี่ยนกันในครอบครัว ทำให้เกิดความรักความเข้าใจและสายสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว และยังเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้สังเกตและให้คำแนะนำลูกๆ ได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย พ่อแม่อาจหยิบยกข้อคิดคุณธรรมจากนิทานมาพูดคุยหรือสอนลูกๆ ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้วิธีคิดของผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่จะได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีคิดของเด็กๆ เช่นกัน ซึ่งปัญหาครอบครัวระหว่างพ่อแม่และลูกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นสาเหตุหลักเกิดมาจากความไม่เข้าใจกันและขาดการพูดคุยกันในครอบครัว

จากผลวิจัยของโครงการนี้ ได้พบว่า เด็กๆ ที่ผ่านโครงการการอ่านให้ลูกฟังนั้นเมื่อโตขึ้นจะมีสมาธิยาวนาน รักการอ่าน มีระเบียบวินัย แบ่งปัน และมีพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรมที่ดี

หลายๆ บ้านอาจมีปัญหาว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ทุกวัน ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันของทั้งปู่ ย่า ตา ยาย หรือสมาชิกครอบครัวอย่างพี่ที่มีอายุมากกว่า ซึ่งสามารถอ่านหนังสือได้แล้ว การอ่านหนังสือให้ลูกหลาน หรือน้องฟังนั้นเป็นประโยชน์กับผู้อ่านด้วยเช่นกัน เพราะว่าผู้อ่านเองก็ได้ความรู้จากสิ่งที่อ่านด้วยเช่นกัน หากคุณปู่คุณย่าที่ไม่สามารถอ่านหนังสือให้เด็กฟังได้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางร่างกาย ก็อาจเป็นการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังได้เช่นกัน

การอ่านหนังสือ หรือเล่าเรื่องเล่านิทานต่างๆ ให้เด็กๆ ฟังนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึก ความคิด หรือความเชื่อของคนในวัยของรุ่นปู่ ย่า ให้กับรุ่นหลานได้ซึมซับ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาให้กับคนรุ่นปู่ ย่า และยังเป็นการส่งต่อความคิด ความเชื่อและแนวปฏิบัติให้กับรุ่นหลานอันเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยได้ด้วย

โครงการการอ่านให้ลูกฟังนั้นเป็นโครงการที่ทำให้ได้ทราบถึงความสำคัญของการอ่านที่สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่ 1,000 วันแรกของเด็ก และยังเป็นการปลูกฝังที่เดินไปพร้อมๆ กับพัฒนาการในด้านต่างๆ และความมั่นคงของสถาบันครอบครัวที่ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หากแต่ในหลายๆ ครอบครัวการอ่านหนังสือให้ลูกฟังอาจเป็นกิจวัตรที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากการขาดหนังสือที่เหมาะสมกับการอ่านให้เด็กฟัง

การแก้ปัญหานี้สำหรับโครงการอ่านให้ลูกฟังในจังหวัดยโสธรนั้น ถูกแก้ไขด้วยวิธีการหมุนเวียนหนังสือกันอ่าน กำหนดระยะเวลาของหนังสือที่นำกลับไปและจะนำกลับมาแลกกันอีกครั้งเพื่อทำให้แต่ละครอบครัวมีหนังสือที่หลากหลายในการอ่านให้ลูกฟัง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดดีๆ ของผู้ใหญ่ใจดีอีกหลายฝ่ายในการจัดให้ครอบครัวได้มีหนังสือเพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอที่มีแนวคิดการแจกหนังสือเป็นของขวัญให้คุณแม่ที่มาคลอดลูกที่โรงพยาบาล หรือเป็นการพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กที่มีเนื้อหาในมุมต่างๆ ของจังหวัดยโสธร รวมถึงการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้ถึงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และพฤติกรรมพึงประสงค์ ถึงแม้ว่าเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจในเนื้อหาทั้งหมด แต่การค่อยๆ นำเสนอด้วยวิธีนี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ปลูกฝังสำนึกรักบ้านเกิด การรักธรรมชาติ ประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรม พร้อมๆ กันกับการปลูกฝังการรักการอ่านไปพร้อมๆ กัน

นิสัยรักการอ่านนั้นไม่สามารถปลูกฝังให้เกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น หากแต่เป็นเสมือนการหยอดเหรียญใส่กระปุกออมสินที่ต้องค่อยๆหยอด ค่อยๆ ทำให้เกิดขึ้น และเมื่อถึงวันที่เด็กๆ เหล่านี้โตขึ้น นิสัยรักการอ่านจะติดตัวพวกเขาไปด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า เด็กๆ จะมีอาวุธสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน

รัฐบาลน่าจะหยิบโครงการ “ชวนการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง” ที่จังหวัดยโสธรมากำหนดเป็นนโยบายให้ทุกจังหวัดริเริ่มการอ่านในทุกครอบครัวด้วยหนังสือดีราคาถูก เข้าถึงทุกฐานะของครอบครัว การอ่านสร้างครอบครัวอบอุ่นได้ และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำความแตกต่างของคนในสังคมด้วยการลงทุนน้อยแต่คุ้มค่าที่สุด

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
กีรติ คุวสานนท์
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image