อาศรมมิวสิก : การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ : โดยสุกรี เจริญสุข

ความพยายามที่จะจัดการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติขึ้นในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ได้ทำกันมานานแล้ว ความเดิมนั้น การมีวงโยธวาทิต (Marching Band) ใช้ในการสวนสนาม เป็นความจำเป็นและเป็นความต้องการของประเทศ เพื่อใช้เป็นวงรับเสด็จและบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี หรือไว้จัดแถวสวนสนาม ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยร้อยเอกน็อกซ์ (Thomas G. Knox) และร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) นายทหารอังกฤษที่เข้ามาฝึกกองดุริยางค์ทหารที่วังหลวงและวังหน้า (พ.ศ.2395)

ต่อมาราชการได้ใช้วงโยธวาทิตทำหน้าที่นำกองทหาร กองลูกเสือ และกองนักกีฬาเรื่อยมา พระเจนดุริยางค์ได้จัดอบรมครูลูกเสือเพื่อให้เป็นผู้ควบคุมวงดุริยางค์เมื่อปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นรากฐานของวงโยธวาทิตในโรงเรียน

เมื่อวงโยธวาทิตเข้าไปผูกกับกิจกรรมการกีฬา กิจกรรมลูกเสือและอนุกาชาด ทำให้วงโยธวาทิตขยายความนิยมเป็นวงกว้างและรุ่งเรืองมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา พบได้ว่ามีวงโยธวาทิตอยู่ในทุกโรงเรียน จะเป็นวงขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม ที่สำคัญคือ โรงเรียนใช้วงโยธวาทิตในการนำขบวนแถวนักกีฬา นำแถวลูกเสือ และนำแถวอนุกาชาด เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2524 กรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมมือกับธนาคารทหารไทย จัดประกวดวงโยธวาทิต (นั่งเล่น เดินแถว และแปรขบวน) ปีเดียวกัน วงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวรารามได้เดินทางไปประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้วงโยธวาทิตทั่วประเทศตื่นตัวยิ่ง จากนั้นทุกปีก็มีการเตรียมวงโยธวาทิตเดินทางไปต่างประเทศเพื่อการประกวด เพราะมีความเชื่อกันว่าวงโยธวาทิตของโรงเรียนใดที่ได้รับรางวัลจากต่างประเทศ ผู้บริหารโรงเรียนนั้นก็จะมีโอกาสได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นซี 9 ด้วย เพราะถือว่าได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

Advertisement

เมื่อธนาคารทหารไทยถอนตัวออกจากการประกวดวงโยธวาทิต กรมพลศึกษาก็จัดการประกวดตามลำพัง กิจกรรมการประกวดก็ซบเซาลง มีข้อสังเกตว่า วงโยธวาทิตที่ได้รับรางวัลมักจะเป็นวงโยธวาทิตของโรงเรียนที่ซื้อเครื่องดนตรีใหม่และซื้อเครื่องดนตรีด้วยงบประมาณที่สูง ในที่สุดการประกวดวงโยธวาทิตในประเทศก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับและเสื่อมความนิยมลง

การเดินทางของวงโยธวาทิตที่ไปประกวดต่างประเทศนั้น เป็นการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะมีผู้ร่วมงานหลายฝ่าย อาทิ นักดนตรี ผู้ควบคุมวง คณะทำงาน ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และผู้ให้การสนับสนุน เป็นต้น รวมแล้วมีคนร่วมเดินทาง 120 คน หากใช้เงินคนละ 1 แสนบาท ใช้งบประมาณร่วม 10 ล้านบาทต่อครั้งต่อโรงเรียน โดยธรรมชาติของข้าราชการ (ผู้บริหารโรงเรียน) นั้น ผู้อำนวยการทุกคนต่างก็อยากเป็นผู้อำนวยการซี 9 ด้วยกันทั้งสิ้น การสนับสนุนให้วงโยธวาทิตไปประกวดในต่างประเทศ จึงเป็นบันไดขั้นสูงที่จะสร้างชื่อเสียงและยังเป็นช่องทางลัดที่จะมีความก้าวหน้าในทางราชการได้

Advertisement

ลองคิดเล่นๆ ว่า หากมีวงโยธวาทิตของไทยเดินทางไปประกวดต่างประเทศปีละ 10 วง ก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก มีเงินไหลออกนอกประเทศปีละหลายสิบล้านบาททีเดียว ทุกโรงเรียนก็นิยมเตรียมวงไปประกวดวงโยธวาทิตต่างประเทศ เพราะได้ชื่อเสียง มีราคาความน่าเชื่อถือ แถมยังได้ไปเที่ยวอีกด้วย

ในปี พ.ศ.2542 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติขึ้น เป็นการประกวดแบบนั่งบรรเลง ซึ่งแตกต่างไปจากการเดินแถว การแปรขบวน อย่างที่เคยประกวดกันมาก่อน เพื่อต้องการพัฒนาการเล่นดนตรีและยังได้ถ่วงดุลการ (นำเงิน) ออกนอกประเทศของวงโยธวาทิตด้วย หากมีวงจากต่างประเทศเข้ามาประกวด ก็ถือว่าได้กำไร การแข่งขันเพื่อชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รางวัลชนะเลิศมีเงินสนับสนุน 1 ล้านบาท และยังมีรางวัลลดหลั่นกันไปอีก 4 รางวัล (รวม 5 รางวัล)
เมื่อถึงปี พ.ศ.2550 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ถอนตัวจากการสนับสนุน ทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องจัดการประกวดต่อไปตามลำพัง

ในที่สุดแล้ว พ.ศ.2556 ก็เป็นปีสุดท้ายที่มีการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ เพราะไม่สามารถที่จะจัดต่อไปได้ ต้องยกเลิกเนื่องจากไม่มีผู้สนับสนุน หากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะพยายามดื้อรั้นจัดต่อไป ก็คงไม่รอด เพราะหาเงินไม่ได้ ต้องทำทั้งการหาเงิน การจัดงาน และการเป็นเจ้าภาพ ประหนึ่ง “ทำนาให้นกกิน” สิ้นเปลืองตัวโดยไม่มีใครเห็นชอบหรือให้การสนับสนุน

การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็หยุดลง ได้ว่างเว้นไป 4 ปี (พ.ศ.2557-2560) เมื่อกลางปี พ.ศ.2560 บริษัท คิง เพาเวอร์ (King Power) ได้ส่งผู้บริหารมาเจรจาเพื่อจัดการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติต่อไปอีก โดยบริษัทสัญญาว่าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด (10 ล้านบาท)

ทุกคนที่ชื่นชอบการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติก็มีไฟกลับขึ้นมา

ในที่สุด การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ก็กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดขึ้นระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 ครั้งนี้ได้แบ่งการประกวดเป็นวงขนาดใหญ่และวงขนาดเล็ก ซึ่งวงขนาดใหญ่มีนักดนตรี 45-80 คน ส่วนวงขนาดเล็กมีนักดนตรี 4-15 คน ทั้งวงใหญ่และวงเล็กก็แบ่งเป็นระดับผู้ใหญ่และระดับนักเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เล่นเครื่องดนตรีทั้งเครื่องเป่าและเครื่องตีได้มีโอกาสสมัครและมีส่วนร่วมแข่งขัน

ในการประกวดครั้งนี้ (พ.ศ.2561) มีวงขนาดใหญ่ รุ่นใหญ่ สมัครเข้าแข่งขัน 11 วง รุ่นนักเรียน สมัครเข้าแข่งขัน 15 วง ส่วนวงขนาดเล็ก รุ่นใหญ่ สมัครเข้าแข่งขัน 27 วง และรุ่นนักเรียน สมัครเข้าแข่งขัน 23 วง รวมแล้วมีวงที่สมัครเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ 76 วง ทั้งนี้ มีวงที่มาจากต่างประเทศ 4 วงด้วยกัน คือ โปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สเปน และฮ่องกง ซึ่งเป็นวงขนาดเล็กทั้ง 4 วง อย่างน้อยฝรั่งก็ให้ความเชื่อถือประเทศไทยมากขึ้น และมีนักท่องเที่ยวชั้นดีเข้าประเทศมากขึ้นด้วย

ดูจากจำนวนวงที่สมัครแล้ว เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะเป็นการพัฒนาวงดนตรีจากวงเดินแถวไปเป็นวงดนตรีนั่งเล่น เพื่อสร้างความไพเราะให้กับผู้ฟัง สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การประกวดจัดในหอแสดงดนตรีที่สุดยอดของประเทศไทย คืออาคารมหิดลสิทธาคาร ทั้งวงเล็กและวงใหญ่ สำหรับวงเล็กนั้น ที่จัดให้มีการประกวดก็เพื่อให้วงที่มีเด็กเล่นดนตรีจำนวนน้อย มีนักดนตรีไม่พอที่จะเล่นวงใหญ่ ก็สามารถมีสนามมีเวทีเล่นดนตรีได้ ในขณะเดียวกัน งานที่สามารถทำมาหากินได้นั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นวงดนตรีขนาดเล็ก
วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นรอบคัดเลือก โดยคณะกรรมการจะฟังเทปที่วงได้ส่งผลงานมาทางสื่อ (on line) แล้วคัดเลือกวงดนตรีเพื่อให้ผ่านเข้ารอบแสดงจริง ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 วงที่เข้ารอบก็จะได้เตรียมตัวฝึกซ้อม เพื่อเข้าไปแข่งรอบรองชนะเลิศในวันที่ 19-22 มีนาคม 2561 ที่อาคารมหิดลสิทธาคาร และวงที่เข้ารอบสุดท้าย (5 วง) ก็จะไปแข่งขันในวันที่ 24 มีนาคม 2561

วงที่ชนะเลิศนอกจากจะได้รับรางวัลแล้ว ก็จะได้รับเชิญให้ไปแสดงที่บริษัท คิง เพาเวอร์ (King Power) ซอยรางน้ำ กรุงเทพมหานคร ด้วย

ข่าวเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ว่า “กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเตรียมขยายห้องเรียนดนตรีไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีวิทยาลัยดนตรีในสังกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวงโยธวาทิต วงสมัยใหม่ (Modern Band) วงขับร้องประสานเสียง วงดนตรีไทย และวงอื่นๆ คาดว่าปีการศึกษา 2561 สามารถที่จะขยายโครงการห้องเรียนดนตรีไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้ โดยใช้โรงเรียนกีฬาเป็นต้นแบบ”

เป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นและน่าดีใจที่รัฐบาลให้ความสนใจเรื่องการศึกษา “ห้องเรียนดนตรี” หากยังจำกันได้ เมื่อ 3-4 ปีมาแล้ว กรุงเทพมหานครได้พัฒนาห้องเรียนดนตรีโดยใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท ซื้อเครื่องดนตรี ทุกโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร (กว่า 400 โรงเรียน) ได้เครื่องดนตรีไปใช้ทุกโรงเรียน โรงเรียนไหนไม่มีครูดนตรีหรือครูเล่นดนตรีไม่เป็นก็เก็บเครื่องดนตรีใส่ห้องเรียนไว้ จนเครื่องหมดสภาพไปเอง เพราะอย่างไรเสีย รัฐก็ได้ซื้อเครื่องดนตรีให้เรียบร้อยแล้ว

หวังว่าห้องเรียนดนตรีของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง น่าจะเป็นห้องดนตรีที่แตกต่างไปจากห้องเรียนดนตรีของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ทำมาก่อนและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงแล้ว หากโรงเรียนทั่วประเทศไทยมีวงดนตรีตามที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งใจ อีกหน่อยการจัดประกวดเล่นดนตรี การประกวดวงดนตรี การประกวดร้องเพลง ก็คงจะเป็นเวทีและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ประเทศไทยคงเป็นเมืองดนตรี เป็นเมืองที่มีแต่เสียงเพลง เมื่อปี พ.ศ.2509 ดร.ถาวร พรประภา เคยปวารณาที่จะสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นนครแห่งดนตรีเหมือนกับเวียนนาตะวันออก

ผู้เขียนขอถือโอกาสเชิญผู้ใหญ่และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการไปชมการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ที่อาคารมหิดลสิทธาคาร ศาลายา ในวันที่ 19-22 และวันที่ 24 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นวงดนตรีที่เหมือนกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ตั้งไว้

เผื่อว่าท่านผู้มีอำนาจจะได้ไปดูเพื่อจะเพิ่มเติมสิ่งที่ตกหล่นได้ แต่ถ้าหากว่าโครงการของท่าน “เจ๋ง และลงตัวอยู่แล้ว” ก็คงไม่จำเป็นจะต้องดูงานหรือศึกษาอะไรเพิ่มเติมอีก

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image