ความรักคือ‘การให้’ : โดย กฤษณา พันธุ์มวานิช

“มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะค้นพบรักแท้ในหัวใจของตัวเองได้เพราะรักแท้หรือกรุณามาจากพุทธภาวะในหัวใจของเราทุกคน ฉะนั้นขอแค่เราเป็นคนเท่านั้นแหละ เราก็มีธรรมชาติเดิมแท้เป็นความรักแท้ที่จำพรรษาในใจอยู่แล้ว รอแต่ว่าเมื่อไหร่เราจะค้นพบเท่านั้นเอง เขารอเราอยู่ตลอดเวลา ทุกภพทุกชาติทุกวินาที”

เป็นตอนหนึ่งของบทสนทนาธรรมของท่านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือท่าน ว.วชิรเมธี ที่ควรนำมาทบทวนถึงความเป็นมนุษย์ของเรา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน อ.เมือง จ.เชียงราย และได้รับฟังธรรมะที่ท่าน ว.วชิรเมธีได้แสดงให้แก่ผู้ที่ไปในครั้งนั้น สิ่งที่ประทับใจจนทำให้อยากถ่ายทอดสาระที่เป็นประโยชน์ให้ได้รับทราบอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเทศกาลวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์

ประโยคที่ประทับใจผู้เขียนคือ คำว่า “ให้”

สังคมทุกวันนี้มีแต่การแย่งชิง แข่งขันในการใช้ชีวิต เพราะไม่รู้จักให้ รู้จักแต่จะเป็นผู้รับไม่เป็นผู้ให้ ความรักจะมาพร้อมกับการให้ ตัวอย่างเช่นเรารักใครเราก็จะให้สิ่งของ ให้ความช่วยเหลือ เราซึ่งเป็นผู้ให้ก็มีความสุขที่ได้ให้ ผู้รับความรักจากเราก็มีความสุข

Advertisement

ขณะเดียวกันเราไม่ให้ มีแต่ความเห็นแก่ตัว ความทุกข์ก็จะเกิดแก่ตัวเราเองเป็นอันดับแรก และคนรอบข้างก็จะมีความรู้สึกเหมือนอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน

ท่าน ว.วชิรเมธีได้ให้ทรรศนะของความรักเป็น 4 ระดับคือ

1.รักตัวกลัวตาย เป็นความรักขั้นพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน และที่เรียกว่าสรรพชีพ สรรพสัตว์ทุกชนิด

Advertisement

สรรพชีพหมายถึง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา ทั้งอยู่ในโลกเดียวกันกับเราหรืออยู่ในโลกอื่นออกไป

สรรพสัตว์ หมายถึง สัตว์ทั้งปวงที่เรามองเห็นด้วยตา สิ่งมีชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเรียกว่า “คน” หรือไม่เรียกว่าคนก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความรักขั้นพื้นฐานคือรักตัวกลัวตายความรักอย่างนี้ เป็นความรักอิงสัญชาตญาณการดำรงชีวิตอยู่รอดสิ่งมีชีวิตทั้งหมดเกิดมาก็มีความรักชนิดนี้อยู่กับตัวแล้ว แต่ยังไม่ใช่รักแท้เพราะในแง่ลบมันมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว

นั่นคือด้วยเหตุที่พยายามจะเอาตัวรอด ก็เป็นเหตุให้ต้องทำร้ายทำลายชีวิตอื่น ดังนั้น ความรักตัวกลัวตายจึงไม่เพียงพอ และยังไม่ใช่รักที่แท้ ต้องพัฒนาต่อไป

2.รักใคร่ปรารถนา เป็นความรักในเชิงชู้สาว เกิดขึ้นทั้งกับคนและกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งคือสรรพชีพ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มีความผูกพันกันทางชู้สาว ความรักชนิดนี้อิงอยู่กับสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ แท้ที่จริงรากฐานของความรักชนิดนี้ก็มาจากความรักชนิดที่ 1 คือรักตัวกลัวตายนั่นเอง แต่ประณีตขึ้น แสดงออกละเมียดละไมมากขึ้นดูเหมือนว่าแทนที่จะรักตัวกลัวตายอย่างเดียว ก็เผื่อแผ่ใจออกไปรักคนอื่น ด้วยแท้จริงที่รักคนอื่นก็เพื่อให้คนอื่นนั้นมารักตัวเอง

หากมองอย่างลึกซึ้ง รักใคร่ปรารถนาก็ยังเป็นความรักที่มีความเห็นแก่ตัวปนอยู่นั่นเอง ฉะนั้นรักใคร่ปรารถนาจึงยังไม่พอ

3.รักเมตตาอารี ความรักอิงความผูกพันทางสายเลือด นามสกุล ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้นวรรณะ ภาษาและวัฒนธรรม พูดง่ายๆ ว่าเป็นความรักที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตระหนักรู้ว่าผู้ที่ร่วมสายพันธุ์เดียวกันกับตนนั้นเป็นพวกเดียวกันกับตน ความรักชนิดนี้บางครั้งเราเรียกว่าความรักอิงสายเลือดบ้าง ความรักอิงความเมตตาบ้าง เช่น พ่อแม่รักลูก ครูบาอาจารย์รักลูกศิษย์ เพื่อนรักเพื่อน นายรักลูกน้อง มนุษย์ด้วยกันรักมนุษย์ สัตว์ด้วยกันรักสัตว์ คนชาติเดียวกันรักคนชาติเดียวกัน เช่น คนไทยรักคนไทยมากกว่าฝรั่ง ฝรั่งก็จะรักฝรั่งมากกว่าคนไทย

นี่เรียกว่ารักเมตตาอารี แม้จะเป็นความรักที่มีรากฐานอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่นั่นเอง เพราะยังมีข้อจำกัดว่าเลือกรักเลือกเมตตาเฉพาะเผ่าพันธุ์พงศาคณาญาติของตนแม้จะดูกว้างขวางแต่ก็ยัง

ไม่ไปพ้นพรมแดนของการถือเขาถือเราอยู่นั่นเอง

4.รักมีแต่ให้ เป็นความรักของมนุษย์ผู้ที่ได้ค้นพบภาวะความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในหัวใจอย่างลึกซึ้ง แล้วหลุดพ้นจากกิเลสขึ้นมากลายเป็นอารยชน ความรักชนิดนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นความไร้แก่นสารหรือความไม่มีตัวตนของตนเอง จึงไม่มีตัวตนไว้สำหรับเห็นแก่ตัว เมื่อไม่เห็นแก่ตัว จึงเห็นแก่โลกทั้งผอง หัวใจไร้พรมแดน เกิดเป็นความรักขั้นสูงสุด มองคน มองสรรพชีพ มองสรรพสัตว์ทั้งหลายในลักษณะโลกทั้งผองพี่น้องกัน ความรักชนิดนี้เป็นความรักแท้ เปิดเผย บริสุทธิ์ จริงใจ โดยไม่เรียกร้องการตอบแทน เปรียบเสมือนแสงเดือนแสงตะวันที่สาดโลมผืนโลกโดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งตอบแทน เปรียบเสมือนสายฝนและดงดอกไม้ที่ชโลมผืนโลก ให้ความชุ่มชื่นเย็น งดงาม และไม่ต้องการให้ใครมองเห็นคุโณปการของตัวเอง

เป็นดอกไม้ก็ส่งกลิ่นหอมแล้วร่วงโรยไปตามวันเวลาอย่างสงบเงียบ ไม่ปรารถนาจะเป็นที่ปรากฏอะไร

การให้มีความหมายที่กว้างขวาง การให้ที่ไม่สิ้นสุด “ให้ความรู้เป็นวิทยาทาน คือ การวางรากฐานแห่งความสุขในระยะยาว การให้ทานนั้น ถ้าทำไม่เป็นก็อาจกลายเป็นภาระที่ไม่รู้จักจบสิ้นของผู้ให้ได้เหมือนกัน ดังนั้น ก่อนจะให้อะไรแก่ใครก็ตาม ต้องใช้ปัญญาพิจารณาอย่างลึกซึ้ง รอบคอบ และรอบด้าน เพราะนักปราชญ์ท่านเตือนไว้ว่า “จงอย่าเป็นคนโง่ที่ใจดี” หมายความว่า “อย่าให้แก่คนที่ไม่ควรให้ และอย่าให้จนทำให้ตัวเองต้องเดือดร้อน” จึงขอแนะนำให้รู้จักการให้ที่น่าสนใจในรูปแบบที่ต่างออกไป เช่น

– การให้ความรู้ เช่น ให้ความรู้เป็นวิทยาทาน
– การให้ความรัก เช่น ให้ความเมตตาการุณย์แก่ผู้ตกทุกทข์ได้ยาก
– การให้ความเอาใจใส่ เช่น มีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดี
– การให้อภัย เช่น การยกโทษให้แก่คนที่สร้างความผิดพลาดโดยไม่เจตนา
– การให้โอกาส เช่น การให้คนรุ่นใหม่ได้ลองทำตามความฝันอย่างเสรี
– การให้ปิยวาจา เช่น การพูดจาไพเราะกับคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน
– การให้แก่แผ่นดินถิ่นเกิด เช่น การมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการสร้างโรงเรียน ห้องสมุด สวนสาธารณะ โรงพยาบาล หรือร่วมสร้างจิตสำนึกรักและกตัญญูต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ฉะนั้น การให้เป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าถ้าเรารู้จักการให้ ที่ถูกต้อง เหมาะกับคน กับสถานที่ กับโอกาส ก็จะเป็นการให้ที่มีคุณค่า หลักธรรมแห่งการให้ในพระพุทธศาสนาคือ ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ถ้าสามารถปฏิบัติได้ครบทั้ง 4 อย่างนี้ ความรักใคร่สามัคคีก็จะบังเกิดในหมู่มวลมนุษย์

กฤษณา พันธุ์มวานิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image