สนุกกับโปรแกรม Earth โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

กระแสน้ำอะกัลลัส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เวลา 7:00น. (เวลาในประเทศไทย)

การสังเกตเมฆและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งๆ นั้นดีแน่ครับ เพราะทำให้ได้รับรู้ข้อมูลโดยตรง ยิ่งถ้าข้อมูลดังกล่าวเชื่อมโยงกับภาพที่ใหญ่ขึ้นในระดับต่างๆ ด้วยแล้ว ก็จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น และอาจคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดตามมาได้อย่างมีเหตุมีผล

ผมขอแนะนำโปรแกรม Earth ซึ่งมีทั้งบนเว็บและเป็นแอพพลิเคชั่น โปรแกรมนี้ให้ข้อมูลสภาพอากาศและสภาพมหาสมุทรในรูปแบบภาพกราฟิกเคลื่อนไหว น่าสนุกทีเดียว

วิธีการใช้งาน : เข้าโปรแกรมตามที่ให้ไว้ในขุมทรัพย์ทางปัญญา ภาพแรกที่ปรากฏจะแสดงโลกและกระแสลมที่ผิวพื้น คุณสามารถขยายภาพได้ แตะจุดต่างๆ (ด้วยนิ้วบนสมาร์ทโฟน หรือด้วยเคอร์เซอร์บนจอคอมพิวเตอร์) จะมีข้อมูลตำแหน่งละติจูดและลองจิจูด รวมทั้งทิศทางและอัตราเร็วลม การเปลี่ยนตัวแปรต่างๆ ให้กดเลือกเมนู earth ที่มุมซ้ายล่าง

ส่วน ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ให้เลือก Height ระดับความสูงระบุด้วยความกดอากาศ มีหน่วยเป็น hPa หรือ เฮกโตพาสคัล ดังนี้ 1000 hPa (ราว 100 เมตร), 850 hPa (ราว 1,500 เมตร), 700 hPa (ราว 3,500 เมตร), 500 hPa (ราว 5,000 เมตร), 250 hPa (10,500 เมตร), 70 hPa (ราว 17,500 เมตร) และ 10 hPa (ราว 26,500 เมตร)

Advertisement

ตัวอย่างที่ 1 : อุณหภูมิ
วิธีการ : เลือก Mode : Air, Height : Sfc, Overlay : Temp, Projection : O
คำอธิบาย : อุณหภูมิแสดงผลโดยใช้สีจาก Scale ในเมนู เช่น สีส้ม (35 องศาเซลเซียส) สีเขียว (ราว 8 องศาเซลเซียส) และสีน้ำเงินติดกับสีเขียว (ราว 0 องศาเซลเซียส) เป็นต้น

ภาพที่ 1 : อุณหภูมิและรูปแบบลม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เวลา 10 : 00 น.
(เวลาในประเทศไทย)

ตัวอย่างที่ 2 : กระแสลมกรด
วิธีการ : เลือก Mode: Air, Height : 250hP, Overlay : Wind, Projection : P
คำอธิบาย : กระแสลมกรด หรือลมกรด ฝรั่งเรียกว่า jet stream (หรือเรียกสั้นๆ ว่า jet) คือกระแสลมแรงในบรรยากาศชั้นบนในช่วงความสูง 7-16 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นลำคล้ายท่อรูปหน้าตัดวงรี ลมกรดวิ่งไปรอบโลกโดยมีทิศทางหลักคือจากตะวันตกไปยังตะวันออก ภาพนี้แสดงกระแสลมกรดที่ระดับความสูงราว 10.5 กิโลเมตร ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการบินได้

ภาพที่ 2 : รูปแบบกระแสลมกรด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เวลา 10 : 00 น.
(เวลาในประเทศไทย)

ตัวอย่างที่ 3 : ปรากฏการณ์ลานีญา
วิธีการ : เลือก Mode: Ocean, Animate: Currents, Overlay: SSTA,Projection : O
คำอธิบาย : ภาพแสดงสภาวะลานีญา กล่าวคืออุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกแถบฝั่งตะวันออก (ใกล้อเมริกาใต้) เย็นกว่าปกติ (แสดงด้วยสีน้ำเงินหรือม่วง)

ภาพที่ 3 : ปรากฏการณ์ลานีญา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561
เวลา 7 : 00 น. (เวลาในประเทศไทย)

ตัวอย่างที่ 4 : ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในบรรยากาศ
วิธีการ : เลือก Mode : Particulates, Animate : Currents, Overlay : PM10, Projection : O
คำอธิบาย : ฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เช่น ฝุ่น (dust) ควัน (smoke) และฟูม (fume) เรียกย่อว่า PM10
ฝุ่นเหล่านี้แขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นาน สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ จึงเป็นอันตรายต่อมนุษย์

ภาพที่ 4 : ฝุ่นละออง PM10 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เวลา 14 : 00 น.
(เวลาในประเทศไทย)

ตัวอย่างที่ 5 : กระแสน้ำอะกัลลัส
วิธีการ : เลือก Mode : Ocean, Animate : Currents, Overlay : Currents, Projection: P
คำอธิบาย : กระแสน้ำอะกัลลัส (Agulhas – ถ้าเป็นภาษาโปรตุเกสออกเสียงว่า อากูเลียส) มีลักษณะแคบและไหลแรงลงมาตามชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แล้วเปลี่ยนทิศทางวกกลับและมีลักษณะคดเคี้ยว

ภาพที่ 5 : กระแสน้ำอะกัลลัส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เวลา 7 : 00 น. (เวลาในประเทศไทย)

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ใช้งานโปรแกรม Earth
ได้ที่ https://earth.nullschool.net
หรือสแกน QR Code
สำหรับแอปพลิเคชันบนแอนดรอยด์
ใช้ชื่อ Earth Weather Live


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image