‘อนาคตของการเลือกตั้ง’โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในช่วงเวลารอยต่อของการเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมานี้ แม้ว่าเราจะยังมองไม่เห็นอนาคตทั้งของการเลือกตั้ง อนาคตของผลการเลือกตั้ง และอนาคตของการเมืองไทยอย่างชัดเจนนัก แต่สิ่งสำคัญก็คือ กงล้อของการเมืองประชาธิปไตยกำลังเริ่มหมุนไปอย่างช้าๆ

ทั้งที่ประชาธิปไตยในรอบนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรนั้นยังไม่มีใครรู้แน่

เป็นเรื่องน่าดีใจที่เมื่อมีการตั้งต้นของการเดินทางกลับสู่ประชาธิปไตย ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปีที่ผ่านมา

ในปีนี้เริ่มมีการเปิดให้พรรคการเมืองใหม่ๆ แสดงความจำนงจะตั้งพรรคใหม่มากมาย อย่างสัปดาห์แรกก็มีเข้าไปสี่สิบกว่าพรรคแล้ว (ขณะที่พรรคเดิมนั้นต้องรอไปก่อนอีกเดือนหนึ่ง)

Advertisement

แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าบรรดาพรรคใหม่ๆ เหล่านี้ สุดท้ายจะส่งหลักฐานครบหรือไม่ เช่น มีสมาชิกพรรคถึง 500 คนไหม และพร้อมจะจดทะเบียนเป็นพรรคจริงไหม และลงสมัครครบทุกเขตไหม

ท่ามกลางความตื่นเต้นในเรื่องนี้ ข้อมูลจริงๆ ก็คือ ในอดีตที่ผ่านมาการเลือกตั้งก็มีสีสันเช่นนี้เสมอ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็จะมีคนใหม่ๆ ที่มาสมัครมากมาย มีพรรคเกิดขึ้นใหม่เยอะแยะ

พรรคจำนวนไม่น้อยก็เข้าเกณฑ์ได้รับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจาก กกต.ด้วย

Advertisement

แต่อาจเป็นไปได้ว่า ในอดีต เมื่อพรรคเก่าที่มักจะเคยมีผลงานมาก่อนลงสมัครพร้อมกันกับพรรคใหม่ แสงไฟและความสนใจของประชาชนและสื่อก็มักจะส่องไปที่พรรคเก่าและพรรคใหญ่ มากกว่าพรรคใหม่ๆ และพรรคที่ยังมองไม่ค่อยเห็นว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะได้คะแนนเสียงมากนัก

ในความเห็นของผมนั้น บางทีสิ่งที่ผู้มีอำนาจในเวลานี้พยายามจะทำให้เกิดขึ้นคือการเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองอาจจะเป็นจริงก็ได้ เพราะอย่างน้อย สื่อคงสนใจพรรคเหล่านี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะไม่มีข่าวการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการของพรรคเก่า

แต่คำถามก็คือ หมดจากเดือนนี้ พรรคใหม่ๆ เหล่านี้จะรอดไปกี่พรรค เมื่อพรรคเก่าที่เคยมีคะแนนเสียงมาก่อนนั้นลงสนามจริงๆ ซึ่งก็จะทำให้เห็นแล้วครับว่าบางทีพรรคใหม่นั้นอาจจะไปไม่ถึงแม้กระทั่งหน่วยเลือกตั้งด้วยซ้ำ เนื่องจากความสนใจจากสื่อและประชาชนน่าจะหันไปสนใจในเรื่องนโยบายและความเป็นไปได้ของนโยบายที่แต่ละพรรคจะนำเสนอมากกว่าเรื่องอื่นๆ

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่บางส่วน อาทิ เด็กๆ ที่ผมมีโอกาสสอนเขา ผมพบว่าคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยเลือกตั้ง และคนรุ่นที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว

กลับมีความสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ถ้าเทียบกับประสบการณ์ของผมที่เคยสอบถามเรื่องความสนใจเรื่องการเลือกตั้งของเด็กๆ เมื่อยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ซึ่งในยุคนั้นคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองไม่มากนัก

การรณรงค์ที่เกิดขึ้นอย่างเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น เป็นเรื่องของการพยายามที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สนใจการเมือง เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่าการเมืองมันเกี่ยวข้องกับตัวเขามากนัก

ยังจำได้ว่า ในการรณรงค์ในสมัยก่อนมีโซเชียลมีเดียมักจะเน้นไปที่การเอาคนที่วัยรุ่นชื่นชอบเช่นบรรดาศิลปินต่างๆ มารณรงค์ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผมมานั่งคิดอีกทีว่า ในวันนี้สงสัยจะมีศิลปินคนไหนจะมารณรงค์เลือกตั้งบ้าง หลังจากที่เคยรณรงค์ปิดคูหาเลือกตั้งกันอยู่ไม่ใช่น้อย

แต่ความสงสัยของผมอาจจะไม่ถูกไปเสียหมด เพราะว่าเมื่อผมลองถามเด็กรุ่นใหม่บางส่วนแล้ว ผมพบว่าไม่ว่าสีเสื้อไหน (หรือไม่มีสีเสื้อ) ก็ต่างสนใจที่จะไปเลือกตั้งทั้งสิ้น

แต่ก็ขอย้ำอีกครั้งว่า เขายังไม่ตัดสินเลือกพรรคไหนจริงจังในตอนนี้

เพราะเขา “รอ” ดูนโยบายของแต่ละพรรคก่อน

คําถามที่ท้าทายจึงอยู่ที่ว่า ระบบการเลือกตั้งใหม่ที่สร้างขึ้นมานี้ ทำให้การเมืองเป็นการเมืองแบบนโยบายหรือไม่ เพราะมีข้อห้ามมากมายที่ไม่ให้เสนอนโยบาย

จริงอยู่ว่า นโยบายบางอย่างนั้นเป็นเรื่องที่เราพบว่ามีส่วนนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม หรือมีส่วนทำให้บางกลุ่มเสียประโยชน์ขั้นรุนแรงถึงกับทนไม่ได้ หรือนโยบายบางอย่างก็อาจส่งผลในระยะยาวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของประเทศอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ประเด็นที่ท้าทายไปอีกแบบหนึ่งจากเรื่องของการพยายามไม่ให้เสนอนโยบายต่างๆ ก็คือ การพยายามตั้งเกณฑ์ประชาชนให้ได้ว่า พวกเขาจะเข้าใจและประเมินความเป็นไปได้ของแต่ละนโยบายอย่างไร และในขณะเดียวกันนโยบายเหล่านั้นต้องไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายในระยะยาวแก่ประเทศด้วย

การประเมินในเรื่องของนโยบายไม่ควรจะถูกประเมินโดยตัวกฎหมายใดๆ แต่ควรจะประเมินโดยความตระหนักถึงปัญหาซึ่งควรจะจุดกระแสทำให้เกิดนโยบายขึ้นมาโดยของประชาชนภายใต้การรณรงค์ของแต่ละพรรค และการมีเสรีภาพและความหลากหลายของสื่อมากกว่าการบังคับด้วยกฎเกณฑ์ของรัฐหรือคนนอกวงปัญหา

อาจเป็นไปได้ที่คนบางกลุ่มในการเลือกตั้งในรอบนี้อาจไม่ได้เพียงแค่เสนอตัวลงเลือกตั้ง แต่เขาอาจจะเริ่มสนใจกระบวนการได้มาซึ่งนโยบาย และกระบวนการประเมินนโยบาย (และข้อเสนอนโยบาย) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

นอกเหนือจากเรื่องที่เกี่ยวกับความสนใจต่อการเลือกตั้ง และความเป็นไปได้ของการเมืองเชิงนโยบายแล้ว คำถามที่ผมนึกถึงอีกคำถามหนึ่งก็คือว่า ระบบการเลือกตั้งในรอบนี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมการเลือกตั้งแบบใหม่ขึ้นมาไหม โดยเฉพาะที่เรียกว่า การลงคะแนนเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์ (strategic voting or tactical voting) ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป

แต่เดิมพฤติกรรมการเลือกตั้งหลักๆ ของคนไทยมีด้วยกันอยู่ 4 แบบ

หนึ่ง คือ ไปเลือกตั้งคนที่เราชอบ หรือพรรคที่เราชอบ ไม่ว่าจะชอบเพราะหน้าตา ประวัติ นโยบาย หรือคำขวัญกินใจ หรือขายฝัน หรือไปเลือกตั้งแบบที่ไม่ลงให้ใครเลย

สอง คือ การขายเสียง อันนี้ว่ากันง่ายๆ แต่การขายเสียงก็ใช่ว่าจะไม่มีกระบวนการคิดที่สลับซับซ้อน เพราะการซื้อเสียงก็ซับซ้อน การให้เหตุผลในการขายเสียงก็สลับซับซ้อนเช่นกัน

สาม คือ การไม่ไปลงคะแนนเสียง หรือที่เรียกว่าการนอนหลับทับสิทธิ

สี่ คือ การไม่ยอมให้คนอื่นไปลงคะแนนเสียง ประเภทปิดคูหาเลือกตั้ง หรือแบบว่าอธิบายกันง่ายๆ ว่า แค่ไปล้อมเอาไว้ คูหาก็ปิดเองอะไรทำนองนี้

การลงคะแนนเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เป็นเรื่องที่อาจจะดูเหมือนใหม่ แต่ความจริงก็มีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าอาจจะยังไม่ถูกกล่าวถึงอย่างเป็นระบบ

พูดง่ายๆ ก็คือ การลงคะแนนเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์ ก็คือการที่เราไปลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครรายใดหรือพรรคใด โดยที่ไม่ใช่คนที่เราอยากเลือกจริงๆ

จะพูดอีกทางก็คือ เราไปลงคะแนนแต่เราถูกบังคับโดยสถานการณ์ให้เลือกคนที่เราอยากเลือกที่สุดไม่ได้ เพราะว่าเราอาจมีเป้าหมายอื่นๆ อยู่อีกในการเลือกตั้ง เช่น เราไม่อยากให้คู่แข่งของเราชนะการเลือกตั้ง ในขณะที่หากเราเลือกคนหรือพรรคที่ใช่สำหรับเราจริงๆ แล้ว พรรคหรือคนฝ่ายตรงข้ามเราจะมีสิทธิชนะ ดังนั้นเราก็อาจจะต้องเลือกพรรคหรือคนที่สูสีฝ่ายนั้นเข้าไว้ เพื่อไม่ให้คนหรือพรรคที่เราไม่ชอบได้ชัยชนะ

เรื่องเหล่านี้ก็คงมีอยู่บ้างในอดีต แต่อาจจะไม่ถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ แต่ในครั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบไหม แม้ว่าในครั้งนี้เงื่อนไขเชิงยุทธศาสตร์อาจจะซับซ้อนกว่าในครั้งที่ผ่านมา

หนึ่ง คือ การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันเอง

สอง คือ การแข่งขันระหว่างระบบพรรคการเมืองที่ต้องการอำนาจจากการเลือกตั้ง กับระบบการเมืองที่ต้องการมีที่ทางในอำนาจหลังจากการลงจากอำนาจอย่างเป็นทางการ อาทิ การเสนอชื่อ ส.ว. หรือการเสนอแต่งตั้งคนที่อาจรู้จักกันไปนั่งในโครงสร้างอำนาจต่างๆ

ในแง่นี้การลงคะแนนเลือกตั้งในเชิงยุทธศาสตร์อาจจะมีนัยยะสำคัญตรงที่ว่าฝ่ายที่ไม่ต้องการระบอบที่เป็นอยู่ให้ดำเนินต่อไป เขาจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งอย่างไร

และในอีกด้านหนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่าข้ออ้างสำคัญในการเข้ายึดอำนาจในรอบนี้คือสังคมมีความขัดแย้งถึงขั้นที่ระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่เดิมแก้ปัญหาไม่ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ระบอบใหม่ที่กำลังจะถูกลงหลักปักฐานในสังคมไทยเองต่างหากที่จะเพิ่มความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นไปอีก เพราะความตึงเครียดที่จะก่อตัวขึ้น จะอยู่ที่ทั้งการแข่งขันระหว่างแต่ละพรรค และความตึงเครียดระหว่างคนที่ต้องการระบบพรรคและการเลือกตั้งเป็นใหญ่ กับคนที่ต้องการคานอำนาจพรรคและระบบเลือกตั้งด้วยเงื่อนไขมากมายที่ระบบเลือกตั้งและประชาชนไม่ได้เป็นผู้กำหนดมาตั้งแต่แรก

ประการสุดท้าย ผมคิดว่าเรื่องที่ท้าทายที่สุดในรอบนี้ของการเลือกตั้ง อาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าแต่ละพรรคมีการบริหารพรรคและมีส่วนร่วมจาก ประชาชนและสมาชิกอย่างไร แต่ละพรรคมีนโยบายอะไร แต่ละพรรคเป็นตัวแทนของใคร แต่ละพรรคมีจุดยืนทางอุดมการณ์แบบไหนเท่านั้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ แต่ละประชาชนและพรรคมีความคิดและให้ความหมายต่อคำว่า “การเมือง” อย่างไรต่างหาก

ประเด็นที่ท้าทายยิ่งของการเมืองในรอบใหม่นี้น่าจะอยู่ที่ว่า ประชาชนและพรรคมองว่าการเมืองคืออะไร ในแง่ที่ว่าแต่ละพรรคและประชาชนต้องการให้การเมืองเป็นเรื่องของการยึดอำนาจรัฐเอาไว้ให้ได้ แล้วก็ขับเคลื่อนนโยบายไปตามที่ให้สัญญากับประชาชนเอาไว้

หรือประชาชนและพรรคนั้นมองว่าการเมืองคือการอยู่ร่วมกัน การเมืองคือการเจรจาและต่อรองกันให้ได้ และมองว่าทุกอย่างไม่ได้มีไว้เพื่อตัวเราหรือกลุ่มเราเท่านั้น แต่ต้องรับฟังและพยายามเอาข้อเสนอของฝ่ายอื่นมารวมกันให้ได้

หากเราไม่พยายามทำความเข้าใจว่าการเมืองมีมากกว่าเรื่องของการยึดอำนาจรัฐและเอารัฐมาขับเคลื่อนผลประโยชน์ของกลุ่มตนและบังคับ ให้ฝ่ายอื่นยอมตามอำนาจที่เราได้มา ความขัดแย้งและความตึงเครียดก็จะยังดำรงอยู่ หรือที่เลวร้าย กว่าก็คือ คนนอกก็จะถืออาวุธเข้ามาปกครองเขาในนามของความมั่นคงและการรักษาความสงบในทุกๆ ครั้ง ซึ่งความสงบที่ฉากหน้านั้นมักจะมาด้วย  ความรุนแรงในการปิดกั้นเสรีภาพ และละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามของการบังคับใช้กฎหมายอยู่เนืองๆ   หรือเสนอตัวแบบทางการเมืองที่ฝ่ายวงนอกอำนาจของประชาชนต้องขอมีสิทธิเข้ามาแทรกแซงและถือครองอำนาจนำไปเรื่อยๆ

การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์อาจจะมีผลเสียในเชิงที่ว่าเราไม่สามารถเลือกพรรคที่ใช่และคนที่ชอบได้จริงๆ เพราะเราต้องมุ่งสกัดกั้นพรรค คน หรือผู้มีอำนาจที่เราไม่ชอบด้วย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การลงคะแนนเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ก็อาจมีข้อดีในแง่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องประนีประนอมกับความเป็นจริงบางประการที่เราไม่ชอบมากนัก และทำให้เราต้องเริ่มคิดได้ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของการเมือง

เราอาจจะต้องเริ่มต้นผลักดันการตรวจสอบอำนาจรัฐด้วยกลไกทางรัฐธรรมนูญในแบบอื่นๆ และริเริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองในแบบใหม่ๆ ในเรื่องใกล้ตัว เช่น งานอาสาสมัครในท้องถิ่น หรืองานอาสาสมัคร หรือจิตอาสาอื่นๆ ที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเรา สิ่งใกล้ตัว และสังคมได้อีก โดยไม่มอบอำนาจทุกอย่างไว้ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image