ตะขิ่น โก ด่อ มาย : บิดาแห่งขบวนการชาตินิยมในพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

หนังสือชีวประวัติของตะขิ่น โกด่อ มาย เขียนโดย เตง เพ มยิ้น

เมื่ออาทิตย์ก่อนผู้เขียนพาผู้อ่านไปสัมผัสสำนักพิมพ์ฝ่ายซ้ายในตำนานของพม่านามว่า “นากานีบุ๊กคลับ” หรือบุ๊กคลับมังกรแดง ซึ่งก่อตั้งขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) ไม่นานนัก เป้าหมายของนากานีคือการตีพิมพ์บทความและหนังสือฝ่ายซ้าย ตั้งแต่ตำรามาร์กซิสม์ คอมมิวนิสต์ ไปจนถึงตำราการปฏิวัติในรัสเซียและในจีน

ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมชมชอบของปัญญาชนหนุ่มสาวพม่าในขณะนั้น ฮันส์ แบร์น ซึลเนอร์ (Hans Bernd Zollner) นักวิจัยอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยพาสเซา ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมพม่า (Myanmar Literature Project) ที่มีจุดเน้นที่วรรณกรรมฝ่ายซ้ายพม่าที่สำนักพิมพ์นากานีตีพิมพ์ไว้ ซึ่งมีจำนวนมากนับร้อยชิ้น แม้สำนักพิมพ์นากานีจะเปิดดำเนินการเพียง 40 เดือน เท่ากับว่านากานีตีพิมพ์หนังสือทั้งที่เป็นหนังสือแต่งและหนังสือแปล 2.5 เล่มต่อเดือน!

โครงการวิจัยของซึลเนอร์ไม่เพียงกล่าวถึงวรรณกรรมฝ่ายซ้ายเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงที่มาของนักเขียนที่จัดอยู่ในกลุ่มนากานีอีกหลายคน คนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและเป็นนักเขียนที่ผู้เขียนพูดถึงอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจเรียกว่าเป็นนักเขียนฝ่ายซ้ายที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในพม่า คือ เตง เพ มยิ้น เช่นเดียวกับนักเขียนคนอื่นๆ และนักชาตินิยมพม่าที่เติบโตขึ้นมาในทศวรรษ 1920 (ตั้งแต่ พ.ศ.2463 ลงมา)

Advertisement

แต่ก่อนที่จะมาเป็นเตง เพ มยิ้น และนักชาตินิยมที่บ่มเพาะกันมาจากรั้วมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ยังมีนักชาตินิยมอีกรุ่นหนึ่ง

ซึ่งอาจถือเป็นนักชาตินิยมรุ่นแรกๆ ในพม่า และถือเป็นผู้นำทางจิตใจของนักชาตินิยมในยุคต่อๆ มา ได้แก่ สะยา ลุน (Saya Lun) หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม ตะขิ่น โกด่อ มาย (Thakin Kodaw Hmaing) ตามร้านอาหารหรืออีกหลายสถานที่ในพม่า เราจะเห็นรูปภาพของผู้ชายที่มีหนวดดกหนามีแววตามุ่งมั่น และโพกผ้าตามแบบชายชาวพม่าโบราณ เป็นภาพบุคคลที่พบเห็นบ่อยที่สุดรองจากภาพของ นายพลออง ซาน และ ด่อ ออง ซาน ซูจี และหากมีโอกาสไปเยือนสุสานกันด่อมิน (Kandawmin) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับประตูทางเข้าเจดีย์ชเวดากองทางทิศใต้

ทุกท่านก็จะได้เห็นสุสานของโกด่อ มายเคียงข้างกับสุสานของบุคคลสำคัญอีก 4 คนในพม่า ได้แก่ อู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติคนเอเชียคนแรก พระนางศุภยาลัต พระมเหสีของกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า และด่อ ขิ่น จี มารดาของด่อ ออง ซาน ซูจี ชี้ให้เห็นว่าโกด่อ มายคือบุคคลอันเป็นที่เคารพรักเสมอมาทั้งในหมู่นักเขียนและโดยสังคมพม่าโดยรวม โกด่อ มายได้รับจากการศึกษาขั้นพื้นฐานจากวัด และด้วยธรรมชาติที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือและเขียนบทกวี เขาจึงเดินทางเข้าย่างกุ้งเพื่อเป็นคนเขียนบทละคร และต่อมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำหนังสือพิมพ์ธุริยา (Thuriya) หนังสือพิมพ์ภาษาพม่าที่มีชื่อเสียงอย่างมากในขณะนั้น ก่อนจะผันตัวไปเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน แต่ก็เป็นได้ไม่นาน

Advertisement

โกด่อ มายได้รับคำนำหน้าชื่อว่า “ตะขิ่น” เมื่อเข้าร่วมกับขบวนการชาตินิยมเราชาวพม่า หรือ “โด้ะ บะหม่า อะซีอะโยน” ในปี 1934 (พ.ศ.2477) และกลายเป็นมันสมองระดับ “ติ้งแทงค์” ของขบวนการชาตินิยม โกด่อ มายเขียนหนังสือทั้งนิยายและหนังสือเกี่ยวกับสันติวิธีมากถึง 40 เล่ม ยังไม่รวมหนังสืออีก 15 เล่มที่เขาเป็นบรรณาธิการ โกด่อ มายได้รับรางวัลด้านสันติภาพจากองค์กรหลายแห่งในระดับนานาชาติ และได้รับเกียรติเข้ารับรางวัลสูงสุดสำหรับนักเขียนพม่า

 งานเขียนของโกด่อ มายมีเนื้อหาชาตินิยมจัด แม้แต่นามปากกา “โกด่อ มาย” ก็มาจากการเสียดสีผู้ชายพม่าที่ชื่นชมวัฒนธรรมแบบตะวันตกจนเกินพอดี คำว่า “มาย” (hmaing) ในภาษาพม่ามีความหมายว่าชายนักรัก หรือคาสซาโนว่า

ความที่โกด่อ มายเป็นผู้บุกเบิกงานเขียนในแนวชาตินิยมเป็นคนแรกๆ และการยึดมั่นในอุดมการณ์ขับไล่ระบอบอาณานิคมออกไปจากพม่า และฟื้นฟูศีลธรรมที่ดีงามแบบพม่าให้กลับคืนมาอีกครั้ง ทำให้เขามีสถานะพิเศษในหมู่นักเขียน เขาเป็น “สะยาจี” หรือครูใหญ่ของนักเขียนชื่อก้องอีกหลายคน เตง เพ มยิ้น เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ศรัทธาโก ด่อ มายมาก เขาเขียนชีวประวัติของ

โกด่อ มาย แต่เป็นชีวประวัติในแนวเรื่องแต่ง ให้โกด่อ มายโลดแล่นในชีวิตของตัวเอง เหมือนตัวเองในนิยายที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เตง เพ มยิ้น เขียนชีวประวัติของโกด่อ มายในชื่อ “ประวัติของสะยา ลุนโดยเตง เพ” โดยยกย่องให้โกด่อ มายเป็น “ผู้นำนักเขียนเพื่อการปฏิวัติแห่งพม่า” แน่นอนว่าชีวประวัติที่ผู้เขียนใส่อารมณ์และจินตนาการเข้าไปนั้นอาจไม่ได้มีความถูกต้องเต็มร้อย แม้เตง เพ มยิ้น จะอ้างว่าได้ตรวจทานและอ่านให้โกด่อ มายฟังด้วยตัวเอง

และฝ่ายหลังไม่ได้ค้านอะไร ชื่อเสียงของโกด่อ มาย สำหรับเตง เพ มยิ้น มีความสำคัญสำหรับแวดวงวรรณกรรมในพม่าเพราะงานเขียนของ “ครูใหญ่” และอัจฉริยะทางวรรณศิลป์ผู้นี้เป็นสไตล์สดใหม่ที่เน้นการใช้ทักษะภาษาพม่า โกด่อ มายเชี่ยวชาญการเขียนร้อยแก้ว แต่ทุกประโยคของเขาร้อยเรียงกันด้วยวรรณศิลป์ที่สละสลวยแบบเดียวกับบทกวี สร้างสไตล์หรือ genre แบบใหม่ เน้นการเขียนบรรยายด้วยย่อหน้าขนาดยาวที่มีสัมผัสแบบบทกวี ที่เรียกว่าการเขียนแบบ “เล โช” (lay choe) ผู้เขียนคิดว่านี่อาจเป็นอิทธิพลที่โกด่อ มายทิ้งไว้ให้กับวิธีคิดและวิธีเขียนของชาวพม่าในปัจจุบัน เนื่องจากชาวพม่าเน้นการเขียนประโยคยาวๆ มีส่วนขยายมาก และเน้นรายละเอียด

นอกจากโกด่อ มายจะเป็นอัจฉริยะในด้านการเขียน เขายังเป็นผู้นำขบวนการชาตินิยมเพราะเป็นผู้หยิบยกประเด็นปัญหาของระบอบอาณานิคมที่สร้างปัญหาให้กับสังคมพม่า สไตล์การเขียนอีกประเภทที่สร้างชื่อให้โกด่อ มายเรียกว่า “ติกะ” (htika) ซึ่งเขาเขียนเป็นคำอธิบายในเชิงศาสนา แต่นำมาอธิบายความเลวร้ายของระบอบอาณานิคมและกระตุ้นให้ชาวพม่ารักชาติ รวมทั้งร่วมมือร่วมใจกันขับไล่ระบอบอาณานิคมออกไป ใน “ติกะ” ที่โกด่อ มายตั้งชื่อว่า “บอยเก้าก์ ติกะ” หรือบทติกะว่าด้วยการคว่ำบาตร โกด่อ มายกระตุ้นให้ชาวพม่าภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมที่ดีของตน ผลกระทบของ “บอยเก้าก์ ติกะ” เหนือความคาดหมาย เพราะโกด่อ มายสามารถปลุกระดมนักศึกษาได้ทั่วประเทศ จนทำให้มีการนัดหยุดเรียนและนัดหยุดงานทั่วประเทศตลอดทศวรรษ 1920

เมื่อมีการตั้งสโมสรนักศึกษาขึ้น พร้อมกับกิจกรรมต่อต้านระบอบอาณานิคมอื่นๆ ที่จะตามมา จึงไม่น่าแปลกใจที่นักศึกษาจะมองโกด่อ มายเป็นเหมือนกับบิดานักปฏิวัติ และเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงสังคม เขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักชาตินิยมหลายรุ่นตั้งแต่ออง ซาน มาจนถึงนักศึกษาและนักกิจกรรมในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image