Cloud Lovers : ‘เมฆตัวประกอบ’ ก็โดดเด่นได้! : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมฆบางรูปแบบไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่จะติดสอยห้อยตามเมฆหลักด้วยเสมอ เมฆที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ International Cloud Atlas เรียกว่า “accessory clouds” ในภาษาไทยผมขอเรียกว่า “เมฆตัวประกอบ” ก็แล้วกัน

เมฆตัวประกอบมี 4 แบบ ได้แก่ หมวกเมฆ วีลัม แพนนัส และฟลูเม็น มาไล่ดูกันครับ

เมฆตัวประกอบแบบแรกเป็นเมฆบางๆ ที่อยู่เหนือเมฆก้อน อาจลอยอยู่เหนือเมฆก้อน หรือบางครั้งติดกับเมฆก้อนก็ได้ เรียกว่า หมวกเมฆ หรือ pileus (ออกเสียง “ไพ-ลี-อัส”) ซึ่งมาจากภาษาละตินแปลว่า หมวก นั่นเอง หมวกเมฆอาจเกิดร่วมกับเมฆสกุลคิวมูลัสและคิวมูโลนิมบัส

หมวกเมฆมักพบเหนือเมฆก้อนใหญ่อย่างในภาพที่ 1 แต่เมฆก้อนเล็กก็พบหมวกเมฆได้บ้างอย่างภาพที่ 2 พฤติกรรมสนุกๆ ของหมวกเมฆ ผมเคยเล่าไว้แล้วในเรื่อง สนุกกับ “หมวกเมฆ’ อ่านได้ที่ www.matichon.co.th/news/656159 ครับ

Advertisement

ภาพที่ 1: หมวกเมฆ
22 พฤษภาคม 2553 18.03 น. อุดรธานี
ภาพ: พุทธิพร อินทรสงเคราะห์

Advertisement

ภาพที่ 2: หมวกเมฆ
2 กันยายน 2560 (ซ้าย 17.19 น. | ขวา 17.20 น.)
สุทธิสาร กรุงเทพฯ
ภาพ: Pussadee Jeasakul

เมฆตัวประกอบแบบที่สองเป็นแผ่นบาง รูปร่างยาวขนานกับพื้น และจะลอยอยู่ใกล้ๆ ส่วนบนหรือส่วนกลางของเมฆก้อน แบบนี้เรียกว่า วีลัม (velum) มาจากภาษาละติน แปลว่า ใบเรือ ดูภาพที่ 3 ครับ

วีลัมอาจลอยอยู่หน้าเมฆก้อน หรือถูกเมฆก้อนที่กำลังเติบโตขึ้นในแนวดิ่งพุ่งทะลุผ่านขึ้นไปก็ได้ วีลัมเกิดในสภาพอากาศดี จึงมักจะคงตัวอยู่ได้นาน แม้ว่าเมฆก้อนที่อยู่ใกล้ๆ จะสลายตัวไปแล้วก็ตาม เมฆก้อนที่มีวีลัมได้ ได้แก่ คิวมูลัสและคิวมูโลนิมบัส

ภาพที่ 3 : วีลัม
ศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 15.51 น. บนเที่ยวบินเชียงใหม่-สุวรรณภูมิ
ภาพ : อาทิตย์ บุญสินสุข

ถัดไปคือ เมฆตัวประกอบแบบที่สามซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็น นั่นคือ ใต้ฐานเมฆอาจดูขยุกขยุย หรือมีเศษเมฆลอยอยู่ใกล้ๆ เจ้าลักษณะขยุกขยุยหรือเศษเมฆที่ว่านี้เรียกว่า แพนนัส (pannus) มาจากภาษาละติน แปลว่า เศษผ้า (รุ่งริ่ง) ดูภาพที่ 4 ครับ แพนนัสอาจเกิดร่วมกับเมฆบางสกุล ได้แก่ แอลโตสเตรตัส นิมโบสเตรตัส คิวมูลัส และคิวมูโลนิมบัส

ภาพที่ 4 : แพนนัส
16 กรกฎาคม 2554 16.43 น.
ภาพ : นรมน ธนบุญสมบัติ

เมฆตัวประกอบแบบสุดท้ายเกิดร่วมกับเมฆคิวมูโลนิมบัสแบบพิเศษที่เรียกว่า ซุปเปอร์เซลล์ (supercell) เท่านั้น ดังนั้น จึงขอชวนคุณผู้อ่านไปรู้จักซุปเปอร์เซลล์กันก่อน (ศัพท์เทคนิคเยอะนิดนึงนะครับ)

ซุปเปอร์เซลล์เป็นเมฆที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดพายุทอร์นาโดได้ เนื่องจากภายในเมฆมีแกนอากาศหมุนอยู่ในแนวดิ่ง เรียกว่า เมโซไซโคลน (mesocyclone) เจ้าเมโซไซโคลนนี้อาจทำให้เกิดเมฆผนัง (wall cloud) ยื่นลงมาจากฐานเมฆ ตรงกลางเมฆผนังอาจมี “งวง” เรียกว่า ทูบา (tuba) โผล่ยื่นออกมา ถ้าทูบาหย่อนลงมาแตะพื้นเมื่อไหร่ก็จะเรียกว่าเกิดพายุทอร์นาโด

เมฆซุปเปอร์เซลล์อาจมีเมฆตัวประกอบเป็นเมฆระดับต่ำ ซึ่งวางตัวขนานไปกับลมที่พัดในระดับเดียวกัน แถมยังเคลื่อนที่เข้าหาเมฆซุปเปอร์เซลล์ เมฆตัวประกอบที่ว่านี้ เรียกว่า ฟลูเม็น (flumen) มาจากคำภาษาละติน แปลว่า ไหล, การไหล, กระแส หรือแม่น้ำ ดูภาพที่ 5 ครับ

ภาพที่ 5: ฟลูเม็น
ภาพ: Steve Willington

ความสนุกอย่างหนึ่งในการชมเมฆ คือ การเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น เมฆตัวประกอบทั้งหมดว่ามานี้นั่นเอง 😀

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
สนใจศึกษาเมฆตัวประกอบเพิ่มเติม ขอแนะนำ https://cloudatlas.wmo.int/clouds-accessory.html

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image