คอลัมน์ Cloud Lovers : Heiligenschein แสงเรืองอัศจรรย์ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ในช่วงเช้าซึ่งดวงอาทิตย์สูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก ลองหาสนามหญ้ากว้างๆ แล้วยืนหันหลังให้ดวงอาทิตย์ แน่นอนว่าคุณจะเห็นเงาตัวเองค่อนข้างยาว และถ้าโชคดี คุณอาจได้เห็นแสงสว่างจางๆ รอบเงาศีรษะ เรียกว่า ไฮลิเก้นไชน์ (heiligenschein)

ภาพที่ 1 แสดงลักษณะการมองไฮลิเก้นไชน์ด้วยตาเปล่า ส่วนภาพที่ 2 แสดงตัวอย่างภาพเงาและไฮลิเก้นไชน์ในกรณีที่ใช้กล้องถ่ายภาพโดยถือกล้องไว้ตรงหน้า

diagram-Heiligenschein-Out_of_the_Blue
ภาพที่ 1 : ลักษณะการมองไฮลิเก้นไชน์ด้วยตาเปล่า
ที่มา : หนังสือ Out of the Blue

Advertisement

2013-11-06-Heiligenschein-Mam-FB-adj
ภาพที่ 2 : ไฮลิเก้นไชน์รอบเงาศีรษะ
ภาพ : ภคพร บรรจงจัด

คำว่า heilgenschein (ไฮลิเก้นไชน์) มาจากภาษาเยอรมัน โดย heilig แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ และ Schein (สังเกตว่า ตัว S ใช้ตัวใหญ่ เพราะเป็นคำนาม) แปลว่า แสงสว่างเรืองรอง อย่างเช่น Sonnenschein แปลว่าแสงอาทิตย์ (ขอขอบคุณ อาจารย์เยาวลักษณ์ ภูอภิรมย์ สำหรับความรู้ภาษาเยอรมันครับ)
ประเด็นที่น่าสงสัยคือ ไฮลิเก้นไชน์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

คำตอบอยู่ที่หยดน้ำที่เกาะอยู่ใกล้ผิวใบหญ้า สังเกตว่าผมเขียนว่า “ใกล้ผิว” เพราะว่าหยดน้ำที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ต้องไม่อยู่ติดผิวใบหญ้า แต่จะเกาะอยู่บนเส้นขนเล็กๆ ทิ้งระยะห่างพอประมาณจากผิวใบหญ้า

หยดน้ำทำหน้าที่คล้ายเลนส์แต่มีโฟกัสที่ไม่คมชัดนัก โดยจะโฟกัสแสงที่ระยะหนึ่งนอกผิวหยดน้ำ (ห่างจากผิวหยดน้ำราว 20% ของเส้นผ่านศูนย์กลาง) ทีนี้หากแสงโฟกัสตกลงบนผิวของใบหญ้า ก็จะทำให้แสงส่วนหนึ่งสะท้อนย้อนกลับไปตามเส้นทางที่เกือบเหมือนเดิม คล้ายๆ กับว่าหยดน้ำทำหน้าที่สะท้อนแสงย้อนกลับไปในทิศทางเดิม คือ พุ่งกลับไปหาดวงอาทิตย์ ดูภาพที่ 3 ครับ


ภาพที่ 3 : การเกิดไฮลิเก้นไชน์
ภาพ : Les Cowley

ผลก็คือ คุณจะเห็นบริเวณรอบๆ จุดตรงข้ามดวงอาทิตย์ (anti-solar point) สว่างกว่าบริเวณอื่น

ในกรณีที่เรามองด้วยตาเปล่า หรือยกกล้องไว้ตรงหน้า จุดตรงข้ามดวงอาทิตย์นี้จะตรงเงาศีรษะ ดังนั้น ไฮลิเก้นไชน์จะอยู่ตรงกับเงาของศีรษะเช่นกัน (ดูภาพที่ 2 อีกครั้ง)

แต่หากเรายื่นกล้องออกไป โดยเล็งกล้องไปที่ปลายเงา คราวนี้กล้องเป็นผู้มอง ผลก็คือ ไฮลิเก้นไชน์จะอยู่ตรงกับเงาของกล้อง ดูภาพที่ 4 ครับ

ภาพที่ 4 ไฮลิเก้นไชน์อยู่รอบเงากล้องที่กำลังจับภาพ
ภาพ : fdecomite
ที่มา > https://www.wikihow.com/Observe-a-Heiligenschein#/Image:Heiligenschein-7905.jpg

อาจมีคนสงสัยว่า ถ้าเรามีเพื่อนยืนอยู่ข้างๆ แต่ละคนจะเห็นไฮลิเก้นไชน์อย่างไร?

คำตอบคือ คุณเห็นแสงเรืองๆ รอบเงาศีรษะของตนเองเท่านั้น เงาของเพื่อนไม่มีแสงเรืองๆ ในขณะที่เพื่อนของคุณจะเห็นแสงเรืองๆ รอบเงาศีรษะของเขาเท่านั้น เงาของคุณไม่มีแสงเรืองๆ

พูดง่ายๆ ว่า “แต่ละคนจะมีไฮลิเก้นไชน์เป็นของตนเอง” นั่นเอง!

Heiligenschein-2_shadows
ภาพที่ 5 ไฮลิเก้นไชน์อยู่รอบเงากล้องที่จับภาพ
ที่มา > http://dailysky.yakohl.com/pop.php?pid=560

ลองหาสนามหญ้ากว้างๆ เก็บไฮลิเก้นไชน์กันหน่อย แต่ต้องทดลองช่วงเช้า และลุ้นให้มีหยดน้ำค้างเกาะอยู่บนใบหญ้ามากเพียงพอ เพียงเท่านี้คุณก็จะมีแสงศักดิ์สิทธิ์รอบเงาศีรษะไปอวดเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียได้แล้ว!

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับ heiligenschein ที่ http://atoptics.co.uk/droplets/heilig.htm และที่

QR_Code-Heiligenschein-AtOptics

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image