GDPR คืออะไร สำคัญอย่างไร? ทำไมจึงต้องเข้าใจ GDPR? : โดย นคร เสรีรักษ์

ความสนใจหรือความตระหนักรู้เรื่องความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยนับว่ามีอยู่ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่คนไทยนิยมใช้โซเชียลมีเดียกันจนติดอันดับต้นๆ ของโลก เราโพสต์เราแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์โดยไม่เคยตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นส่วนตัว ที่น่าห่วงกว่าการไม่เห็นคุณค่าในพื้นที่ส่วนตัว คือการมองไม่ตระหนักถึงอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการโจรกรรมข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์ในทางไม่ชอบ จนพูดกันว่าความเป็นส่วนตัวตายไปแล้วจากโลกดิจิทัลวันนี้

ระยะหลังๆ นี้ เริ่มมีการพูดถึงข้อมูลส่วนบุคคลกันมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูล การติดต่อสื่อสาร และธุรกิจที่มีฐานข้อมูลส่วนบุคคลขนาดใหญ่ นั่นคือความกังวลต่อ GDPR ซึ่งเป็นข้อบังคับของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการเก็บและการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ที่กลัวกันมากก็เพราะบทลงโทษของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ GDPR จะถูกปรับสูงถึง 20 ล้านยูโร ที่สำคัญคือจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่กำลังจะมาถึง

จริงๆ แล้ว เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระดับนานาชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีพัฒนาการมากมายทั้งในระดับกฎหมายต่างประเทศในนานาประเทศและกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในหลายเวที เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ข้อตกลงของรัฐสภาแห่งยุโรป ข้อบังคับสหภาพยุโรป (European Union Directive 95/46/EC) แนวทางของสหประชาชาติ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามแนวทางของ APEC

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามข้อบังคับ EU
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตาม EU Directive 95/46 เกิดขึ้นในปี 1995 เป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับระหว่างประเทศฉบับแรกที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ถูกสร้างขึ้นโดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ข้อบังคับนี้ให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของข้อมูล ทั้งยังให้การรับรองว่าข้อมูลจะได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตลอดทั้งตลาดร่วมยุโรป โดยมีหลักการที่เป็นสาระสำคัญดังนี้

Advertisement

1.การรักษาคุณภาพของข้อมูล
2.มาตรการของการประมวลผลข้อมูลที่ชอบด้วยกฎหมาย
3.ข้อกำหนดในการประมวลผลข้อมูลพิเศษ/ข้อมูลที่อ่อนไหว (sensitive data)
4.สิทธิในการได้รับแจ้งการเก็บข้อมูล
5.สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล
6.สิทธิในการคัดค้านการประมวลผล
7.การรักษาความปลอดภัยในการประมวลผลข้อมูล
8.การส่งผ่านข้อมูลส่วนบุคคลไปยังประเทศที่สาม

นอกจากการควบคุมการส่งข้อมูลภายในประเทศสมาชิกแล้ว สำหรับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หากจะทำการติดต่อรับ-ส่งข้อมูลกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ก็ต้องมีมาตรการการคุ้มครองข้อมูลที่เหมาะสมเป็นที่พอใจแก่สหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน ซึ่งมาตรการที่เหมาะสมที่อียูได้ตั้งไว้ แม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมากที่สุด และมีการเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารมากที่สุด ก็ยังต้องพยายามหาวิธีการประนีประนอมเพื่อเป็นทางออกและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย

EU Directive 95/46 ใช้บังคับมานานกว่า 20 ปี และโดยที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริบทการสื่อสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการเติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก จึงมีการปรับปรุงแก้ไข Directive ดังกล่าว ซึ่งในที่สุดรัฐสภาแห่งยุโรปก็ได้เห็นชอบ General Data Protection Regulation (GDPR) เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2561

GDPR (General Data Protection Regulation)
GDPR เป็นกฎระเบียบของ EU ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชนในกลุ่มประเทศ EU จากการที่ความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลถูกล่วงละเมิดมากขึ้นในโลกยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เป็นการปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งออกกฎ EU Directive เมื่อปี 1995

ความเปลี่ยนแปลงจากข้อกำหนดใน GDPR ที่สำคัญและได้รับความสนใจ หรือตระหนกตกใจกันมาก น่าจะเป็นบทลงโทษที่ระบุไว้ว่า การเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน EU ที่ไม่ปฏิบัติตาม GDPR จะถูกปรับเป็นจำนวนเงินถึง 20 ล้านยูโร หรือ 2-4% ของรายได้ต่อปีทั่วโลก ขึ้นอยู่กับว่าวงเงินใดมากกว่า กฎระเบียบนี้มีผลใช้บังคับกับหน่วยงานที่อยู่ใน EU และรวมไปถึงหน่วยงานนอก EU

หลักการคุ้มครองข้อมูลยังคงเป็นไปตามมาตรฐานของ EU Directive โดยมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากข้อกำหนดใน GDPR ดังนี้

1.ขอบเขตการบังคับใช้เชิงพื้นที่
GDPR บังคับใช้ในทุกหน่วยงานที่มีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลพลเมืองที่อาศัยอยู่ใน EU ไม่ว่าบริษัทจะตั้งอยู่ที่ไหน นั่นคือ GDPR บังคับใช้กับผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูลใน EU ไม่ว่าการประมวลผลจะทำใน EU หรือไม่ก็ตาม โดยจะบังคับใช้กับทุกกิจกรรมที่เป็นการจำหน่ายสินค้าและบริการแก่พลเมือง EU และทุกกิจกรรมที่มีลักษณะการติดตามพฤติกรรมของพลเมืองที่เกิดขึ้นใน EU หากเป็นธุรกิจของประเทศอื่นที่ไม่ใช่สมาชิก EU (Non-EU Business) ก็ต้องดำเนินการแต่งตั้งผู้แทนใน EU ด้วย

2.บทลงโทษ
ในกรณีที่เกิดความเสียหายหรือการรั่วไหลของข้อมูล (Data Breach) หน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินถึง 20 ล้านยูโร หรือ 2-4% ของรายได้ต่อปี

ขึ้นอยู่กับว่าวงเงินใดสูงกว่า ซึ่งเป็นโทษปรับสูงสุดในกรณีร้ายแรง เช่น การไม่ขอความยินยอมที่เหมาะสมเพียงพอในการประมวลผลข้อมูล หรือการปฏิบัติขัดหลักการ Privacy by Design บางกรณีมีโทษปรับ 2% เช่น กรณีการไม่มีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ การไม่แจ้ง Supervising Authority และเจ้าของข้อมูลเมื่อเกิดเหตุรั่วไหล หรือการไม่จัดทำ Privacy Impact Assessment

3.การให้ความยินยอม
หลักความยินยอมได้รับการยืนยันเข้มแข็งมากขึ้น โดยระบุว่าการขอความยินยอมต้องดำเนินการในรูปแบบที่เข้าใจได้และสามารถเข้าถึงได้สะดวก (Intelligible and easily access) ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการประมวลผลข้อมูลในการขอคำยินยอม โดยการขอความยินยอมต้องมีความชัดเจน ใช้ภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ นอกจากนี้การยกเลิกการให้ความยินยอมต้องก็ต้องดำเนินการได้ด้วยความสะดวก

สิทธิของเจ้าของข้อมูลภายใต้ GDPR

สิทธิที่จะได้รับแจ้งเมื่อเกิดความเสียหาย (Breach Notification)
ภายใต้ GDPR ถือว่าการแจ้งเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เมื่อเกิดความเสียหายหรือการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งเกิดผลกระทบมีความเสี่ยงต่อสิทธิเสรีภาพของเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้การแจ้งต้องดำเนินการภายใน 72 ชั่วโมง โดยผู้ประมวลผลต้องแจ้งต่อลูกค้าและผู้ควบคุมข้อมูลโดยไม่ชักช้าหลังจากเกิดความเสียหาย

สิทธิที่จะรู้และเข้าถึงข้อมูล (Right to Access)
เจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะได้รับการแจ้งจากผู้ควบคุมข้อมูลว่า มีการประมวลผลข้อมูลหรือไม่ การประมวลผลดำเนินการที่ไหน มีวัตถุประสงค์อะไร และเมื่อร้องขอ ผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องจัดหาสำเนาข้อมูลดังกล่าวให้เจ้าของข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ข้อกำหนดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องความโปร่งใสของข้อมูลและเป็นการยืนยันความเข้มแข็งของเจ้าของข้อมูล

สิทธิที่จะขอให้ลบข้อมูล (Right to be Forgotten/Right to erase)
เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ (1) ในการแจ้งให้ลบข้อมูล ระงับการเผยแพร่ หยุดการประมวลผลโดยบุคคลที่สาม (2) มีสิทธิในการแจ้งให้ลบข้อมูลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บครั้งแรก และ (3) มีสิทธิในการลบข้อมูลที่เจ้าของข้อมูลได้ยกเลิกความยินยอม

ทั้งนี้ผู้ควบคุมต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาเปรียบเทียบสิทธิของเจ้าของข้อมูลกับประโยชน์สาธารณะในการมีอยู่ของข้อมูลนั้น

สิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง (Data Portability)
สิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง ในรูปแบบที่สามารถใช้งานได้ตามปกติรวมทั้งรูปแบบที่อ่านได้ด้วยเครื่องมือ/อุปกรณ์ (machine-readable format)

สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตั้งแต่ต้น (Privacy by Design/Privacy by Default)
กำหนดให้มีการวางระบบความคุ้มครอง (Protection) ตั้งแต่ในโอกาสแรกของการออกแบบระบบ มากกว่าการมาเพิ่มการดำเนินการในภายหลัง โดยกำหนดว่าต้องมีการใช้มาตรการทางเทคนิคและการบริหารที่เหมาะสม โดยยึดหลักประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเป็นการคุ้มครองสิทธิเจ้าของข้อมูล

ผู้ควบคุมข้อมูลจะเก็บและประมวลผลข้อมูลได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ภารกิจสำเร็จ (data minimization) และต้องมีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลโดยผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการประมวลผล

สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองโดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ (Data Protection Officers: DPO)
ใช้ระบบการเก็บบันทึกข้อมูลภายในองค์กร (Internal Record Keeping) แทนระบบการรายงานต่อ Data Protection Authorities (DPA) และกำหนดให้มีการแต่งตั้ง DPO สำหรับผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และมีภารกิจหลักในการติดตามและประมวลผลข้อมูลเป็นประจำและเป็นระบบ (Regularly and Systematic monitoring Data Subjects)

การแต่งตั้ง DPO ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติด้านวิชาชีพและความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและภาคการปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ภายในองค์กรหรือผู้ให้บริการภายนอก ต้องแจ้งข้อมูลการติดต่อกับทาง DPA และต้องมีทรัพยากรเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจและพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญของ DPO ทั้งนี้ DPO มีระบบรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง และต้องไม่ทำหน้าที่อื่นที่อาจเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน

GDPR กับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลของไทย
ความพยายามในการออกกฎหมายเพื่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นในปี 2540 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการจัดทำร่างกฎหมายถึง 5 ฉบับ ผ่านรัฐบาลหลายคณะ

จนล่าสุด คณะรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศจะเร่งออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศ

รัฐบาลปัจจุบันได้ส่งร่างกฎหมายไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2557 หลังจากนั้นไม่ถึงสามเดือน สังคมไทยถูกทำให้สับสนมากขึ้นด้วยการที่รัฐบาลชุดเดียวกันได้เสนอร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีกฉบับ ในชุดกฎหมายขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … ดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการนำกลับมาทบทวนของกระทรวงดิจิทัล ซึ่งมีการปรับแก้หลายครั้งจนกลายเป็นร่างล่าสุด มีการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นไปเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา

จึงมีประเด็นที่ต้องดูกันต่อไปว่าการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามร่างนี้จะมีมาตรฐานในระดับที่ทางอียูจะยอมรับหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วประเด็นการส่งข้อมูลข้ามแดนจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการส่งข้อมูลของคนต่างประเทศ ตามมาตรฐานสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศจะห้ามส่งข้อมูลไปยังประเทศที่ไม่มีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือมีแต่ต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศผู้ส่ง ร่างนี้เขียนว่าการส่งข้อมูลข้ามแดนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรรมการกำหนด โดยที่ในวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูล กรรมการที่จะดูแลบริหารกฎหมายก็ยังไม่มี หลักเกณฑ์ที่จะออกมาจึงยังไม่รู้ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

ในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.นี้ ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ ถ้าต้องมีกรณีการแลกเปลี่ยน การรับ-ส่งข้อมูลระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอียู ทางยุโรปจะเห็นว่ามาตรฐานของไทยภายใต้ร่างแบบนี้จะเทียบเท่า GDPR หรือไม่

GDPR กับประเทศไทย
ประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงมาตรการ GDPR ได้ยาก เพราะการค้าระหว่างประเทศมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก และในการดำเนินธุรกิจซึ่งทั้งหมดดำเนินการบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการตลอดเวลา ปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลมีมหาศาล ในบรรดาข้อมูลเหล่านี้ย่อมรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งข้อมูลพลเมืองของประเทศผู้ซื้อและประเทศผู้ขายสินค้าและบริการ

พิจารณาจากภาคท่องเที่ยวและบริการเพียงส่วนเดียว ซึ่งนักท่องเที่ยวจากยุโรปเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ทำรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทย แน่นอนว่าข้อมูลส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะต้องมีการ รับ-ส่ง-แลกเปลี่ยน กับผู้ให้บริการในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บริษัทและหน่วยงานในประเทศเราน่าจะมีผลกระทบจากกฎระเบียบ GDPR จำนวนมาก ตั้งแต่การเก็บข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศ ธุรกิจสายการบิน บริษัทท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก โรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพ สถาบันการเงิน ธุรกิจการเงิน การแลกเปลี่ยนเงินตรา บัตรเครดิต การประกันชีวิต การประกันภัย บริษัทโทรคมนาคม บริษัทที่ดำเนินธุรกิจธุรกรรมออนไลน์ และ E-commerce ทั้งหมด

ความใหญ่โตของฐานข้อมูลส่วนบุคคลในผู้ประกอบการด้านการเงินการธนาคาร ธุรกิจการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม และโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการด้านการประมวลผลข้อมูล Big Data Cloud รวมทั้งธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ซึ่งหมายความว่าทุกหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ Data Controller หรือเป็น Data Processor ที่จะเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองจากประเทศในกลุ่ม EU จะต้องคำนึงถึงการปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรการ GDPR ด้วยความระมัดระวัง

ยังมีความกังวลจากหลายฝ่ายที่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ GDPR โดยมองว่าถึงแม้ผู้ประกอบการไทยอาจไม่โดนดำเนินคดีทางกฎหมายจากการไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติขัดกับหลักการ GDPR แต่โดยที่ธรรมชาติของการติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอยู่แล้ว หากฝ่ายผู้ประกอบการทางยุโรปเห็นว่าบริษัทคู่ค้าของไทยไม่สามารถปฏิบัติตาม GDPR บริษัท EU ก็จะไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัทในไทย ซึ่งก็จะส่งผลให้ไม่สามารถทำธุรกิจธุรกรรมกันได้ในที่สุด

นอกจากนี้ อียูอาจใช้มาตรการแทรกแซงทางการค้าอื่นๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับการให้ “ใบเหลือง” ประเทศไทยจากกรณีปัญหา Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing เมื่อเดือนเมษายน 2558 โดยระบุว่าเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอียูได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศที่เพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหา IUU fishing

คำถามที่กำลังรอคำตอบ
-GDPR เป็นที่รับรู้ของผู้ประกอบการในประเทศไทยมากน้อยเพียงใด
-GDPR จะมีผลกระทบต่อธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กหรือไม่
-หน่วยงานของรัฐหน่วยใดควรเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้ กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงการต่างประเทศ
-พลเมืองไทย ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจหรือผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไรจากมาตรการนี้
-หน่วยงานของรัฐที่เก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องปฏิบัติตาม GDPR หรือไม่

คำถามเหล่านี้ล้วนกำลังรอคำตอบ
โดยเฉพาะคำถามสุดท้าย
GDPR จะมีผลบังคับใช้ในไม่ถึงสองเดือนข้างหน้านี้แล้ว
คนไทยรู้จักและเข้าใจ GDPR กันหรือยัง?

นคร เสรีรักษ์
วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผู้ก่อตั้ง PrivacyThailand

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image