ประเทศไทยกับปรากฏการณ์อุบัติภัยบนท้องถนน : โดย ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุบัติภัยบนท้องถนนสูงสุดติดอันดับสองของโลก และอุบัติภัยดังกล่าวนับวันจะเพิ่มขึ้นและอยู่ควบคู่กับสังคมไทยตลอดไป

จากปัญหาดังกล่าวองค์กรภาครัฐและเอกชนตระหนักและให้ความสำคัญในการรณรงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเทศกาลหยุดยาวต่างๆ แนวคิดตลอดจนนวัตกรรมที่ถูกถ่ายทอดเพื่อขจัดปัญหาในหลากหลายมิติพบว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

เดือนเมษายนทุกปีจะมีเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเทศกาลดังกล่าวปีใดที่มีวันหยุดยาว ปรากฏการณ์ทางสังคมอันนำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจะปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม อุบัติภัยบนท้องถนนที่ส่งผลให้มัจจุราชต้องมาทวงชีวิตผู้คนอยู่เนืองๆ ก็ใช่ว่าจะปรากฏให้เห็นเฉพาะในเทศกาลหรือประเพณีที่สำคัญซึ่งมีวันหยุดยาวเท่านั้น ในทางกลับกันเมื่อการดำเนินชีวิตซึ่งผู้คนจำเป็นต้องสัญจร หรือเดินทางโดยพาหนะชนิดต่างๆ บนท้องถนนกลับพบว่าการสูญเสียในแต่ละวันทั่วประเทศมีจำนวนสูงพอสมควร

Advertisement

จากสถิติที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบันทึกไว้พบว่า ในช่วง 7 วันของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2560-3 มกราคม 2561 มีอุบัติเหตุสะสม 3,841 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 423 คน บาดเจ็บ 4,005 คน ในสถิติยังพบว่า วันที่ 3 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์เกิดอุบัติเหตุ 386 ครั้ง เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 402 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นรูปแบบหรือลักษณะที่เหมือนกันทุกปีคือ เมาสุรา ร้อยละ 28.24 ขับรถเร็วเกินกำหนดและตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 25.91 สำหรับพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 77.83 เป็นรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 5.29 รถปิกอัพ

ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ตามมาด้วยถนนกรมทางหลวง และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นช่วงเวลา 16.01-20.00 น.

จากข้อมูลดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2560 จำนวนอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลง ในขณะที่การเดินทางของประชาชนเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนที่ภาครัฐกำหนดมีประสิทธิภาพ

เทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สังคมไทยให้ความสำคัญ ปีนี้รัฐบาลกำหนดให้มีวันหยุดยาวถึง 5 วัน เชื่อแน่เหลือเกินว่าอุบัติเหตุและอันตรายจะเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในปี 2560 เทศกาลดังกล่าวมัจจุราชได้มาทวงคืนชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งผู้ที่ประมาทและไม่ประมาทไปเป็นจำนวนมากเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา จากการสรุปสถิติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ช่วง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน 2560 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง เสียชีวิต 390 ราย สาเหตุพฤติกรรมยังคงเดิม เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็ว ฯลฯ

ด้วยจำนวนของการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายจะพบว่าถึงแม้บางช่วงบางเทศกาลจะมีจำนวนลดลง แต่ตัวเลขที่ปรากฏไม่ใช่เป็นตัวชี้วัดของความสำเร็จในการรณรงค์ขององค์กรภาครัฐและเอกชนเท่านั้น โจทย์และการบ้านข้อใหญ่ที่จะลดความสูญเสียเป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องศึกษาและวิจัยต่อไปว่าจะใช้มาตรการหรือนวัตกรรมใดที่จะก่อให้เกิดการซึมลึกปรับเป็นพฤติกรรมที่ทุกคนต้องยึดเป็นวัตรปฏิบัติ

เมื่อกล่าวถึงการวางแผนการป้องกันและรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวแล้ว ก็ได้แต่เข้าใจและเห็นใจหน่วยงานและผู้ปฏิบัติที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง แต่หากศึกษาข้อมูลตลอดจนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนกลับปรากฏว่ายังสวนทางกับความจริง ปัญหาและพฤติกรรมจึงยังเป็นหลุมดำที่เกาะติดสังคมอยู่เช่นเดิม

รูปแบบที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการดังที่ปรากฏในทุกเทศกาลด้วยการแถลงข่าวข้อมูลและสถิติการสูญเสียหรือการจัดกิจกรรมแนะนำแก่ผู้ใช้รถในมิติต่างๆ คงไม่สามารถยุติหรือแก้ไขปัญหาได้

การกำหนดนวัตกรรมหรือรูปแบบเพื่อให้เป็นวาระแห่งชาติว่าด้วยการนี้จึงน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ภาครัฐต้องตระหนักและถ้าความสำคัญดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะในเทศกาลหยุดยาวเท่านั้น

แนวคิดและมาตรการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งซึ่งสอดคล้องกับที่ รัตนวดี เหมนิธิ วินเทอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า ตัวเลขของ WHO ได้บ่งชี้ว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย และควรจะมีการแก้ไขอย่างจริงจังและไม่ควรมองด้วยทัศนคติแบบไทยๆ ว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ตามยถากรรม แต่เป็นสิทธิของทุกคนที่จะต้องได้รับความปลอดภัย

ปัญหาส่วนใหญ่มาจากความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่ไม่เข้มข้นและต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาคณะทำงานเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนมักจะเพิ่มความเข้มงวดในช่วงเทศกาล ทำให้คนยังไม่ตระหนักถึงกฎหมาย

แต่ในต่างประเทศ เช่น แถบสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มีการใช้กฎหมายอย่างสม่ำเสมอจนพลเมืองคิดว่าเมื่อก้าวออกจากบ้านไปก็ต้องเจอกับตำรวจแล้วก็ต้องระมัดระวังตัวเอง

พร้อมกันนั้น รัตนวดีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการศึกษา ซึ่งในคาบเรียนตามหลักสูตรของไทยยังไม่มีการให้ความรู้และทำให้ตระหนักถึงหลักความปลอดภัยบนท้องถนน ทำให้วัฒนธรรมความปลอดภัยด้านนี้ยังไม่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยที่ชี้ว่าพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดถึง 80% คือรถจักรยานยนต์ ผู้ซึ่งประสบเหตุมักจะเป็นผู้ขับขี่ระดับล่าง แต่คนเหล่านี้ยังไม่มีภาคประชาสังคมให้การสนับสนุนอย่างเข้มข้น ซึ่งเมืองไทยมีองค์กรอิสระที่มุ่งทำงานเชิงรุกเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนไม่มากนัก

ดังนั้นจึงขาดผู้ที่จะเข้ามาเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม

ในประเด็นดังกล่าว นายนิกร จำนง ประธานชมรมไทยปลอดภัย อดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สปท. กล่าวกับบีบีซีไทยเช่นเดียวกันว่า การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในไทยต้องทำเป็นระบบโดยในวาระเร่งด่วน เช่น การแก้ปัญหาในช่วงเทศกาลที่กำลังจะมาถึง จะต้องตั้งเป้าลดยอดผู้เสียชีวิตเป็นตัวเลขที่จับต้องได้ และให้ผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับส่วนกลาง โดยสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับแนวทางในระยะกลางซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 ปี คือการปรับปรุงกลไกที่ทำให้เกิดระบบการขนส่งทางถนนที่ปลอดภัย ทั้งเรื่องของสภาพถนนหรือปฏิรูปกฎหมายขนส่งสาธารณะ ขณะที่แผนระยะยาว 20 ปี ควรมุ่งเน้นไปที่ระบบการศึกษาให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กไปจนถึงการรณรงค์ในสังคม และมีการจัดตั้งศาลจราจรและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางถนน

วันนี้ภัยบนท้องถนนอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจราจร (Road Traffic Accidents) เป็นปัญหาระดับโลกที่มีการใช้รถใช้ถนนในคมนาคมขนส่งที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี 2573 หากแต่ละประเทศไม่มีมาตรการที่ดีในการป้องกันอุบัติภัยทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยปีละ 24 ล้านคน ซึ่งจะทำให้อันดับของสาเหตุจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะขยับสูงขึ้นจากอันดับ 9 ในปี พ.ศ.2547 เป็นอันดับ 5 และจะแซงหน้าโรคร้ายหลายโรครวมถึงเอดส์และมะเร็ง

ปรากฏการณ์แห่งละคร “บุพเพสันนิวาส” สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญในมิติของประวัติศาสตร์ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก รัฐบาลในฐานะเป็นศูนย์รวมของอำนาจคงจะต้องสร้างปรากฏการณ์ให้สังคมตื่นตัวและตระหนักในการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกช่องทางหนึ่ง

หรือจะบรรจุมาตรการเพื่อผนวกไว้ให้เป็นหนึ่งของโครงการไทยนิยมยั่งยืนหรือประชารัฐก็น่าจะเป็นนวัตกรรมในการยกระดับคุณภาพทางสังคมของประเทศไทยได้อีกมิติหนึ่ง

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image