ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘หลักอิสระ’ในกระบวนการยุติธรรม : โดย ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘หลักอิสระ’ในกระบวนการยุติธรรม

ความพยายามที่จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐปราศจากการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่โดยนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลนั้น มักจะมีการกล่าวอ้างเสมอว่าหน่วยงานและเจ้าพนักงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทั้งศาล อัยการและตำรวจจะต้องมี “อิสระ” ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ถึงขนาดพัฒนาเป็นหลัก “อิสระ” ขึ้นมากันเองในหมู่นักกฎหมายไทยและมีการใช้หลักการ “อิสระ” จนเกินเลยความพอดีไป

ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนั้นเป็นอำนาจของประชาชน บุคคลและหน่วยงานของรัฐที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการจึงต้อง 1.) การเข้าสู่ตำแหน่งมีที่มาจากประชาชน 2.) ถูกตรวจสอบการทำหน้าที่ได้โดยประชาชน และ 3.) ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ดังนั้นประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาจึงออกแบบให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อัยการ และตำรวจมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา อัยการสูงสุดมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี (ประธานาธิบดีมีที่มาและมีความรับผิดชอบต่อประชาชน) และผ่านการรับรองจากรัฐสภา

ดังนั้น ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้าราชการและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งศาล อัยการและตำรวจจะมี “อิสระ” ถึงขนาดการเข้าสู่ตำแหน่งไม่ได้มีที่มาจากประชาชนหรือการปฏิบัติหน้าที่ปราศจากการตรวจสอบและขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ยิ่งพัฒนาหลักอิสระตามแนวทางเช่นนี้มากเท่าใดยิ่งขัดแย้งกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

Advertisement

หลักประกันการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามหลักสากลที่ยอมรับกันทั่วโลกก็คือหลัก The rule of law หรือหลักนิติธรรม หัวใจสำคัญของหลักการนี้ก็คือ “บุคคลทุกคนจะเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย” กล่าวคือ หากมีการกระทำผิดกฎหมายไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายการเมือง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ฝ่ายข้าราชการประจำอย่างผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือประชาชนทั่วไปจะต้องถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคทั่วหน้ากันไม่มีบุคคลใดหรือเจ้าหน้าที่คนใดที่จะปราศจากการตรวจสอบหรือหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้

หากมีการใช้อำนาจแทรกแซงหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างมีอคติเอนเอียงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ย่อมทำให้เกิดสภาวะความไม่เท่าเทียมกันของบุคคลภายใต้กฎหมายจึงเป็นการทำลายหลักการ The rule of law

ระบบกระบวนการยุติธรรมที่ดีตามมาตรฐานสากลจึงต้องเป็นระบบที่ทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย โดยอาศัยระบบการตรวจสอบควบคุมอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมาถึงขนาดที่ “เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่มีโอกาสที่จะละเว้น บิดเบือนพยานหลักฐานแห่งคดี หรือตีความพิพากษาตามอำเภอใจเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดได้เลย” ประชาชนไม่ต้องขวนขวายไปร้องขอความเป็นธรรมจากมูลนิธิใดๆ ให้มากำกับดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ ประชาชนหรือสื่อมวลชนจึงไม่จำต้องไปเรียกร้องขอคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้ทำคดีอย่างตรงไปตรงมา และเจ้าหน้าที่ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาแถลงข่าวให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำหน้าที่อย่างยุติธรรมไม่เข้าข้างฝ่ายใด

ระบบที่เป็นหลักประกันที่จะทำให้ทุกคนเสมอภาคภายใต้กฎหมายมีหลากหลายวิธีการ เช่น

1.ศาลจะต้องไม่อาจริเริ่มคดีเองและตัดสินคดีได้เองเพราะขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอันจะนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ (ประเทศต่างๆ จึงไม่ให้ทนายรับจ้างฟ้องคดีอาญา)

2.ศาลพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะต้องเป็นศาลที่แยกจากศาลยุติธรรมเพื่อประกันการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเมื่อผู้พิพากษากระทำความผิดและถูกฟ้องเป็นจำเลย กรณีศึกษา; ประชาชนเรียกร้องให้คืนสมบัติของแผ่นดินกรณีมีการใช้ที่ดินราชพัสดุผิดวัตถุประสงค์ก่อสร้างบ้านพักบนดอยสุเทพและตัดไม้ทำลายป่าทำให้ที่ราชพัสดุเสื่อมสภาพเสียหายแต่กลับถูกผู้พิพากษาขู่ดำเนินคดีกลับ เช่นนี้ ศาลใดจะให้ความยุติธรรมโดยไม่มีอคติเอนเอียงและไม่เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์

3.การบัญญัติความผิดฐาน “กระทำปฏิวัติรัฐประหาร” ไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเพื่อป้องกันการมีคำพิพากษารับรองว่า “การทำปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์” ทำให้เกิดการทำรัฐประหารเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องสร้างความเสียหายต่อชาติอย่างใหญ่หลวงและแบ่งปันเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงาน

4.การบัญญัติความผิดฐาน “ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม” ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อลงโทษการกระทำใดๆ ก็ตามที่ขัดขวางหลักการ The rule of law และทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความไม่เสมอภาค ไม่ตรงไปตรงมา

5.จะต้องสร้างระบบสอบสวนที่ไม่มีหน่วยงานใดมีอิสระและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะรวบรวมหรือไม่รวบรวม ปรุงแต่ง ดัดแปลง หรือทำลายพยานหลักฐานอย่างไรก็ได้เพียงลำพังโดยจะต้องมีหลากหลายหน่วยงานที่สามารถรับรู้ เข้าถึงพยานหลักฐานแห่งคดี และอัยการสามารถเรียกตรวจสอบพยานหลักฐานได้ทันทีที่มีการร้องเรียนถึงความบิดเบือนไม่โปร่งใสตั้งแต่เริ่มคดีกรณีศึกษา; คดีหวย 30 ล้านที่จังหวัดกาญจนบุรีพนักงานสอบสวนแอบตัดต่อ ดัดแปลง ปรุงแต่งพยานคำให้การพยานและทำหลักฐานสูญหายเพื่อกำหนดผลแห่งคดีในทิศทางที่ตนต้องการ

6.มีหลากหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษากฎหมายต่างๆ สามารถริเริ่มสืบสวน สอบสวนดำเนินคดีส่งสำนวนตรงต่อพนักงานอัยการได้เพื่อสร้างระบบตรวจสอบระหว่างหลากหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษากฎหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดไม่รับแจ้งความลงเป็นเลขคดีเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องหรือผู้มีอิทธิพลและเป็นทางเลือกให้ประชาชนกรณีไม่ไว้ใจหน่วยงานบางหน่วยงาน กรณีศึกษา; เจ้าหน้าที่พยายามช่วยเหลือบิดเบือนคดีคนร่ำรวยมหาศาลล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร หากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่เก็บหลักฐานเองและออกมายืนยันผลตรวจสอบ DNA พยานหลักฐานแห่งคดีจะถูกบิดเบือนไป

7.การใช้กำลังจับกุมและแจ้งข้อหาประชาชนจะต้องเป็นความผิดที่พนักงานอัยการมีความเป็นไปได้ที่จะสั่งฟ้องดำเนินคดีในฐานความผิดนั้นจริงๆ การใช้กำลังจับกุมและแจ้งข้อหาประชาชนจะถูกตรวจสอบจากพนักงานอัยการเพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบกลั้นแกล้งยัดเยียดข้อหาหนักเกินจริงหรือกักขังประชาชนนานเกินกว่าความผิดที่อัยการสั่งฟ้องจริงๆ

8.การเข้าสู่ตำแหน่งของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษาจะต้องมีที่มาเกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น การจัดตั้งตำรวจจังหวัด การเข้าสู่ตำแหน่งโดยการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งและผ่านรับรองจากรัฐสภา เป็นต้น เพื่อป้องกันการคิดแต่จะสร้างอาณาจักรเพื่อประโยชน์ส่วนตนและองค์กรของตนแต่ไม่ตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
กรณีศึกษา เช่น การที่หน่วยงานต่างๆ คิดแต่จะเพิ่มกำลังบุคลากร หรือสร้างอาคารสถานที่ทำงาน ที่พักอาศัยใหญ่โตหรูหราสิ้นเปลืองภาษีเกินความจำเป็น

ดังนั้น แนวคิดในการสร้างความ “อิสระ” เพื่อเป็นหลักประกันให้เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมทั้งผู้พิพากษา อัยการ และพนักงานสอบสวนทำหน้าที่ตรงไปตรงมา จึงผิดเพี้ยนต่อหลักการสากลเพราะยิ่งอิสระเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งขยายอำนาจเพื่อสร้างอาณาจักรยิ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและองค์กรของตน ยิ่งอิสระยิ่งหลุดพ้นจากการตรวจสอบจากประชาชน ยิ่งอิสระยิ่งปราศจากความรับผิดชอบต่อประชาชน ยิ่งอิสระจึงยิ่งขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การสร้างหลักประกันให้เจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ตรงไปตรงมาแท้ที่จริงคือจะต้องสร้างระบบกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้หน่วยงานเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคกันไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้มีอิทธิพลมากหรือจน รวยเพียงใด อันเป็นที่มาของคำกล่าวว่า “กฎหมายบังคับได้เฉพาะคนจน” ทั้งๆ ที่ความเสียหายใหญ่หลวงต่างๆ ต่อทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดิน ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองชาติล้วนเกิดจากการกระทำของผู้มีอำนาจปกครองหรือผู้ร่ำรวยมีอิทธิพลหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้นไม่ใช่เกิดจากชาวบ้านประชาชนที่ยากจน

แต่การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีความเสมอภาคและไม่ตรงไปตรงมาตามหลัก The Rule of Law ทำให้ผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพลหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้หลุดลอดจากความรับผิดเสมอๆ

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image