แรงงานข้ามชาติสมัยกรุงศรีอยุธยา (ตอนที่ 2) : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

แรงงานข้ามชาติรายต่อมาเป็นชาวโปรตุเกสที่อาจจะตามรอยมาร์โคโปโลที่ได้เดินทางมาทางตะวันออก (มาจีนเมื่อ พ.ศ.1814 ก่อนสมัยสุโขทัย) ชาวโปรตุเกสจึงมาถึงสยามก่อนชาวยุโรปชาติอื่นและได้รับอนุญาตให้เข้ามาค้าขายได้ใน พ.ศ.2054 ในรัชสมัยที่ 10 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หลักฐานอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า โปรตุเกสได้ส่งทูตชื่อ ดูอาร์ต เฟอร์นันเดซ เข้ามาใน พ.ศ.2061 ในรัชสมัยที่ 10 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยได้มีการเซ็นสัญญาอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสทำมาค้าขายในดินแดนไทยได้

ต่อมาในปี พ.ศ.2081 เมื่อรัชสมัยที่ 13 สมเด็จพระไชยราชาธิราชยกทัพไปรบกับพม่าก็มีชาวโปรตุเกสอาสาเข้ากองทัพหลวงไปช่วยรบด้วย 120 คน จากจำนวนชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด 130 คน (ปรากฏว่าในกองทัพของพม่าที่มารบกับไทยครั้งนั้นก็มีชาวโปรตุเกสอาสาถือปืนไฟมารบด้วยเหมือนกัน)

เมื่อมีชัยในสงครามกลับมาสมเด็จพระไชยราชาจึงพระราชทานบำเหน็จความชอบยกที่ดินตำบลหนึ่งริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก ใต้กรุงศรีอยุธยาให้ตั้งบ้านเรือนและพระราชทานอนุญาตให้สร้างวัดคริสต์ตามใจชอบชาวยุโรป และศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก จึงลงรากในสยามตั้งแต่นั้น

ชาวโปรตุเกสได้นำวิชาความรู้ของชาวยุโรปเข้ามาเป็นประโยชน์แก่ประเทศสยามหลายอย่าง ตอนนั้นประเทศต่างๆ ในตะวันออกยังไม่มีใครรู้จักปืนไฟ ชาวโปรตุเกสก็ได้สอนการทำปืนไฟให้ไทยจนหล่อปืนใหญ่ได้ดีเป็นพิเศษ มีหลักฐานว่าโชกุนญี่ปุ่นได้มีอักษรสาส์นมาทูลขอปืนไฟต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม

Advertisement

นอกจากนี้ยังให้แบบแผนสร้างป้อมปราการต่อสู้ปืนไฟไว้หลายแห่งยังเหลือซากอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา สวรรคโลก และสุโขทัย

ชาวญี่ปุ่นมาถึงสยามหลังชาวโปรตุเกสราว 100 ปี ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนและเข้ามาทำมาหากินอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่ พ.ศ.2083 ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยที่ 13 สมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2077-2089) แต่ข้อมูลอีกแห่งกล่าวว่าชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยานั้นเข้ามาราวรัชสมัยที่ 17 สมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2112-2133)

โดยเริ่มต้นมาจากชุมชนเล็กๆ ของพ่อค้าเรือสำเภาชาวญี่ปุ่น และตั้งเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นซึ่งภายในหมู่บ้านนั้นสันนิษฐานว่ามีชาวญี่ปุ่นอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ พ่อค้า โรนินหรือนักรบญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยา และชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ เดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์พระราชทานที่ดินให้ตั้งหมู่บ้าน ที่ตั้งของหมู่บ้านญี่ปุ่นนี้ก็อยู่ในบริเวณที่ตั้งเดิมของชุมชนชาวญี่ปุ่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ของเกาะเมือง

Advertisement

โดยในสมัยนั้น ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเป็นชุมชนชาวโปรตุเกส ส่วนที่ติดกับด้านเหนือของหมู่บ้านญี่ปุ่นจะมีคลองเล็กๆ คั่นเป็นชุมชนอังกฤษและชุมชนฮอลันดา

มีหลักฐานทางราชการของญี่ปุ่นบ่งว่า ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งรกรากในไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อปี พ.ศ.2135 ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการอพยพกันเข้ามาครั้งละมากๆ ตั้งแต่ 700 คน ถึง 7,000 คน และมีชาวญี่ปุ่นได้ออกไปทำการค้าขายถึงเมืองปัตตานี และนครศรีธรรมราช

ชนชาวญี่ปุ่นเป็นนักต่อสู้ที่กล้าหาญ ฉลาด และมีไหวพริบดี พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยามักให้ช่วยปราบปรามพวกก่อการกบฏที่เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ หลายครั้ง

ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา มีทั้งพ่อค้า นักเดินเรือ ชาวประมง และแม้กระทั่งโจรสลัด มีชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งรวบรวมพรรคพวกตั้งเป็นกองอาสาญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ครั้งยังไม่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกัน

ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองอาสาญี่ปุ่นได้อาสาออกรบช่วยไทยทำสงครามกับพม่า กองอาสาญี่ปุ่นกองนี้มีจำนวน 500 คน มี ยามาดา นางามาซา หรือออกญาเสนาภิมุข เป็นหัวหน้า กองอาสาญี่ปุ่นได้รับหน้าที่เป็นกองทหารทะลวงฟัน ป้องกันจอมทัพไทยอยู่ด้านหน้าช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ครั้งสงครามยุทธหัตถี ตัวยามาดานั้นขี่ช้างพลายเฟื่องภพไตร คุมพลอาสาญี่ปุ่นทั้งปวง

ต่อมาปี พ.ศ.2149 ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.2148-2153-พระอนุชาสมเด็จพระนเรศวรฯ) ญี่ปุ่นได้เข้ามามีสัญญาทางพระราชไมตรีกับไทยอย่างเป็นทางการ โดยพิธีการทูต ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถตลอดมาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ชาวญี่ปุ่นก็ยังคงสมัครเข้าเป็นกองอาสานี้ ตัวยามาดานั้นเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในวงการทูตและวงการค้าของต่างชาติในยุคนั้น

ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ยามาดาหรือออกญาเสนาภิมุข ได้ร่วมมือกับเจ้าพระยากลาโหมในการสนับสนุนการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินไทยหลายพระองค์ รวมทั้งพระเจ้าปราสาททองด้วยในรัชสมัยที่ 23 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอาทิตย์วงศ์ (พ.ศ.2173) พวกญี่ปุ่นถูกกีดกันให้ออกไปอยู่นอกพระนคร โดยให้ไปตั้งอยู่ที่นครศรีธรรมราช คอยระวังป้องกันพวกฮอลันดาที่จะมาก่อเหตุวิวาทกับไทย ต่อมากองอาสานี้ได้ล้มตายไปจนเหลือจำนวนน้อย ครั้นออกญาเสนาภิมุข ซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่อสัญกรรม ทำให้กองอาสาญี่ปุ่นสลายตัว พวกญี่ปุ่นที่เหลือก็ต่างคนต่างไป

ลูกครึ่งญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯคนหนึ่งคือ มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา หรือท้าวทองกีบม้า ซึ่งเป็นบุตรีของ ฟานิก ลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น และมารดาชาวญี่ปุ่นเชื้อสาย ยามาดาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา ต่อมามารี (หรือมะลิในละคร) ได้สมรสกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (บางแห่งเรียกว่าออกญาวิชาเยนทร์ หรือออกญาวิไชเยนทร์ หรือนายคอนสแตนติน ฟอลคอน) เมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ถูกประหาร เธอตกระกำลำบากอยู่นาน อนึ่ง ประวัติศาสตร์ตรงนี้ไม่ค่อยชัดว่าชื่อหรือตำแหน่งท้าวทองกีบม้าได้มาอย่างไร หรือเป็นการเรียกชื่อกีย์มาร์ แล้วลากเข้าแบบไทยๆ (หรือเหมือนขนมที่เธอทำคือ ทองหยิบที่มีรูปร่างเหมือนกีบม้า) รวมทั้งหน้าที่ดูแลของหวานแบบเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ก็ไม่ค่อยชัด (แม้จะอ้างจดหมายเหตุฝรั่งเศสโบราณก็ตาม) อาจจะทำตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาวิชเยนทร์ยังมีชีวิตหรือภายหลังเจ้าพระยาวิชเยนทร์ถูกประหาร เธอตกต่ำไปเป็นพนักงานเครื่องต้น

และต่อมาในช่วงปลายชีวิตของเธอในรัชสมัยที่ 30 สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) เธอเป็นที่โปรดปรานได้เข้ารับราชการในราชสำนักฝ่ายในรวมทั้งเป็นหัวหน้าเก็บภูษาฉลองพระองค์ ในบั้นปลายชีวิตเธอค่อนข้างมีความสุข

ชาวฮอลันดามาถึงใน พ.ศ.2147 ปลายรัชสมัยที่ 18 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133-2148) มีบริษัทชาวฮอลันดาเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยมาตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานีก่อนแล้วส่งทูตไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใน พ.ศ.2147 เป็นผลให้ได้เปิดสถานีการค้าขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไทรบุรี และภูเก็ต (ถลาง) สินค้าที่ชาวฮอลันดาต้องการ ได้แก่ ไม้ฝาง หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง น้ำตาล รังนก ไม้กฤษณา และดีบุก ซึ่งการซื้อแร่ดีบุกของชาวฮอลันดาในภูเก็ตครั้งนั้นเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส ขาดความเป็นธรรมจึงถูกชาวภูเก็ตและชาวมลายูทำการต่อต้านโดยเผาสถานีสินค้าและฆ่าฟันชาวฮอลันดาตายหมดสิ้น เป็นผลให้ชาวฮอลันดาต้องออกจากเกาะภูเก็ตไป

ชาวอังกฤษมาสยามสองครั้ง ครั้งแรกหลังฮอลันดา 8 ปี ในปี พ.ศ.2155 (แต่บางหลักฐานกล่าวว่าอังกฤษเข้ามาในปี พ.ศ.2160 แต่ที่แน่ๆ คือในรัชสมัยที่ 21 พระเจ้าทรงธรรม (2154-2171)) ทำการค้าอยู่ในกรุงศรีอยุธยาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากถูกกีดกันจากชาวญี่ปุ่นและชาวฮอลันดา ประกอบกับเจ้าหน้าที่ในบริษัทการค้าของอังกฤษที่กรุงศรีอยุธยาทุจริตต่อบริษัทจนทำให้ขาดทุนอย่างมากจึงต้องล้มเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2165

หลังจากกลับไปเป็นเวลา 50 กว่าปี อังกฤษจึงกลับมากรุงศรีอยุธยาใหม่ในปี พ.ศ.2217 ในรัชสมัยที่ 27 สมเด็จพระนารายณ์ฯ (พ.ศ.2199-2231) ซึ่งทรงต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง ได้พระราชทานใบอนุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษซื้อดีบุกตามหัวเมืองทางปักษ์ใต้ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้สะดวก

การเข้ามาของชาวอังกฤษครั้งนี้มีส่วนให้ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาแทบเปลี่ยนโฉมหน้าไป เพราะได้นำฝรั่งชาวกรีกอดีตกะลาสีเรือคนหนึ่งเข้ามาคือ นายคอนสแตนติน เยรากี หรือนายคอนสแตนติน ฟอลคอน (ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์) ซึ่งถือว่าเป็นผู้เปลี่ยนวิถีทางประวัติศาสตร์ไทย และเป็นผู้สร้างความสำคัญทางการทูตเข้าไปใกล้ชิดต่ออันตรายแห่งการเสียอิสรภาพและอธิปไตยยิ่ง

การค้าที่กรุงศรีอยุธยาในขณะที่พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาครั้งที่สองนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก “กรุงศรีอยุธยามีเรือชาติต่างๆ เข้ามาค้าขายมิได้ขาด เช่น เรือญี่ปุ่น เรือญวนจากตังเกี๋ย เรือจากเมืองมาเก๊า เมืองมะนิลา เมืองกากัสลาร์ของแขกมักกะสัน เมืองยะโฮร์ เมืองจีน และจากที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เรือชาวฮอลันดานั้นเข้ามาแทบทุกสัปดาห์”

ชาวอังกฤษยุติการค้าและการเข้ามายังอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาลง เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310)

(จบตอนที่สอง)

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image