ผู้สูงอายุ… : โดย เฉลิมพล พลมุข

ชีวิตคนหนึ่งคนเกิดมาลืมตาดูโลกมีชีวิตต้องต่อสู้กับสภาพปัญหาอุปสรรคของชีวิตรอบด้าน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษาเล่าเรียน หน้าที่การงาน โรคภัยไข้เจ็บ สัมพันธภาพระหว่างบุคคล อาจจะรวมถึงอุบัติเหตุในเทศกาล ปัญหาการทำร้ายกันถึงชีวิตในปัญหาการเมือง เขาเหล่านั้นคือผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่รอดจนกระทั่งเข้าสู่วัยแก่ชรา ผู้สูงอายุ

สังคมโลกรวมถึงสังคมไทยได้เชื่อว่าเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โดยองค์การสหประชาชาติได้ประเมินสถานการณ์ ปี พ.ศ.2544-2643 (ค.ศ.2001-2100) จะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากร รวมทั่วโลก และพบว่าผู้สูงอายุเหล่านั้นจะอยู่ในฐานะเศรษฐกิจระดับความยากจน นิยามของผู้สูงอายุสามระดับก็คือ 1.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คนในประเทศนั้นที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 และ อายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ 2.ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 20 และอายุ 65 ขึ้นไปร้อยละ 14 จากประชากรทั้งประเทศ และ 3.ระดับผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ประเทศนั้นมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 20

สำหรับเมืองไทยเรามีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่ไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพของรัฐบาลในตัวเลขประมาณ 8 ล้านคน และมีผู้สูงอายุจำนวน 3.6 ล้านคน ที่รับสวัสดิการของรัฐ นโยบายหนึ่งของรัฐบาลโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มีการเชิญชวนรณรงค์ให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยมีการตั้งเป้าไว้ที่ผู้สูงอายุจะร่วมบริจาคในจำนวน 50,000 คน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2560 ถึงปัจจุบัน มีผู้สูงอายุเข้าร่วมบริจาคเพียง 400 คน หมายถึงต้องการให้ผู้สูงอายุบริจาคในร้อยละ 1 จาก 5 ล้านคน…(มติชนรายวัน 27 เมษายน 2561 หน้า 18)

ผลของการรณรงค์เชิญชวนผู้สูงอายุที่อยู่ในฐานะเศรษฐกิจที่ดีให้บริจาคช่วยเหลือเพื่อนผู้สูงอายุที่มีความลำบากและต้องการใช้เงินที่มิได้เป็นไปตามเป้าอาจจะมีสาเหตุมาจากไม่ทราบในโครงการดังกล่าว ผู้สูงอายุบางคนก็ได้รับเงินผ่านบัญชีของธนาคารที่มิได้ไปติดต่อทำธุรกรรมกับธนาคารเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นสิทธิส่วนตัวหรือความเชื่อมั่นในระบบของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อที่ผ่านมาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นเงินของคนจน กองทุนการศึกษา…

Advertisement

ความคาดหวังของกรมกิจการผู้สูงอายุกับข้อเท็จจริงในบริบทของชีวิตผู้สูงอายุในภาพรวมซึ่งมีความสลับซับซ้อนทั้งบริบทของครอบครัว ระบบเศรษฐกิจ ความป่วยไข้จากโรคบางชนิด และรัฐสวัสดิการอาจจะรวมไปถึงนโยบายหลักของรัฐบาลที่ใส่ใจและจริงใจกับระดับปัญหาของชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งจากการคาดหวังของผู้คนที่จะไปเลือกตั้งที่มีจำนวนคนรุ่นใหม่กว่า 5.6 ล้านคน ที่ยังไม่เคยไปเลือกตั้ง ส.ส.มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2555 กับตัวเลขจำนวนผู้สูงอายุที่จะกำหนดอนาคตของประเทศในอนาคต…

ข้อเท็จจริงหนึ่งในชีวิตจริงของคนแก่ชรา ผู้สูงอายุในสังคมไทยเราในระดับชาวบ้าน ชนบท บ้านนอกห่างไกลจากตัวเมืองออกไปบ้านเรือนในระหว่างวันจะพบเห็นคนแก่ชรากับเด็กเล็กๆ เฝ้าอยู่ในบ้านบางหลัง ขณะเดียวกันยังมีบางครอบครัวที่มีผู้พิการตาบอด หูหนวก พิการแขนขา หรือผู้ป่วยปัญญาอ่อน เบี้ยยังชีพที่รัฐจัดหาให้หากผู้สูงอายุคนนั้นพิการด้วยก็จะมีเงินในการดำรงชีพเพียงหนึ่งพันบาทเศษ อาจจะมีคำถามที่ว่าจำนวนเงินดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตจากข้าวของเครื่องใช้อาหารต่อวันเพียงพอหรือไม่

หากเราท่านได้มีโอกาสเข้าไปรับบริการในโรงพยาบาลของรัฐในระดับจังหวัดหรือโรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์ พยาบาลหรือวิชาชีพด้านบริการทางการแพทย์สิ่งหนึ่งที่จะพบเห็นก็คือจะมีผู้ป่วย คนไข้ที่เป็นวัยผู้สูงอายุต้องรอคิวเข้าพบแพทย์อยู่ในจำนวนมาก

Advertisement

เมื่อเร็ววันมานี้ผู้เขียนได้มีประสบการณ์ตรงได้ไปพบแพทย์เพื่อดูความเจ็บป่วยด้วยโรคหนึ่งในเวลาเช้า ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าโอกาสที่พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคน่าจะเกือบเที่ยงตรง…

อาจจะมีคำถามที่หลากหลายไปยังรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล คสช.ที่มีโอกาสและอำนาจอยู่ในมือในขณะนี้ นโยบายหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปีก็คือการปฏิรูประบบราชการในภาพรวม หนึ่งในนั้นก็คือด้านสุขภาวะของคนในชาติที่มีสุขภาพกาย ใจ อารมณ์ สังคมที่มีความแข็งแรงซึ่งจะเป็นพลังในการพัฒนาชาติบ้านเมือง ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล การขาดแคลนวิชาชีพที่สำคัญ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนจนกระทั่งศิลปินนักร้องต้องออกมาวิ่งเพื่อหาเงินซื้อสิ่งเหล่านั้นมีจำนวนที่เพียงพอและทั่วถึงด้วยหรือไม่…

ภาระงาน ความตึงเครียดของระบบงานที่ต้องรับกับจำนวนคนไข้ ผู้ป่วยที่เข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐในจำนวนมากทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์หรืออาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง สิ่งหนึ่งที่เราท่านมักจะได้ยินได้ฟังมานั่นก็คือการเลือกลาออกไปอยู่ในระบบโรงพยาบาลธุรกิจเอกชนที่มีการขยายงานและธุรกิจในมูลค่าที่มหาศาล อาจจะมีคำถามที่ว่า คุณภาพชีวิตของคนแก่ชรา ผู้สูงอายุในฐานะเศรษฐกิจระดับฐานล่างที่มีความยากจน หาเช้ากินค่ำ บางครอบครัวแตกแยก รวมถึงสภาพปัญหารอบด้าน เขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงระบบโรงพยาบาลของเอกชนที่มีการบริการที่ดีรวมถึงราคาค่ารักษาพยาบาลก็สูงไปด้วยจะมีโอกาสเข้ารักษาความเจ็บป่วยเพียงใด

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลบางคนมีทรัพย์สินเป็นการส่วนตัวในระดับร้อยล้านถึงหมื่นล้านบาท วันหนึ่งเขาเหล่านั้นเจ็บป่วยไข้ย่อมได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ความกังวลในเรื่องการครองชีพไปตลอดจนสิ้นอายุขัยก็มิมีสิ่งใดที่น่าเป็นห่วง ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลหนึ่งก็คือในปี พ.ศ.2557 หรือเมื่อสี่ปีที่แล้วมา มีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ก็คือมีรายได้ต่ำว่า 2,647 บาทต่อเดือน ส่วนหนึ่งมาจากบุตรหลานร้อยละ 37 ได้มาจากการทำงานร้อยละ 34 จากเบี้ยยังชีพจากรัฐร้อยละ 15 และเงินบำเหน็จบำนาญร้อยละ 5 และพบว่ามีผู้สูงอายุที่มีชีวิตอยู่คนเดียวร้อยละ 9 มีชีวิตอยู่ในเขตเทศบาลร้อยละ 10 และมีชีวิตอยู่นอกเขตเทศบาลในร้อยละ 8

ผู้เขียนเข้าใจว่าข้อมูลหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ คนแก่ชราในสังคมไทยทั้งในระดับตัวเลขและคุณภาพชีวิตจริงๆ คงจะมีอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องใกล้ชิดกับเขาเหล่านั้น ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลอาจจะรวมไปถึงกรม กระทรวง และข้อมูลที่เป็นจริงที่อยู่ในมือของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง คุณภาพชีวิตที่แท้จริงตั้งแต่ลืมตาขึ้นจนถึงหลับตาลงนอน วันเวลาที่มิทราบถึงอนาคตว่าเมื่อใด สถานการณ์ใดจะหมดลมหายใจจากโลกนี้ไป เขาเหล่านั้นได้พบความสุขสุดท้ายของชีวิตหรือไม่

สังคมไทยเราส่วนหนึ่งมีหน่วยงานของรัฐเพื่อให้การช่วยเหลือชีวิตของคนแก่ชรา ผู้สูงอายุในระดับหนึ่งก็คือบ้านพักคนชราที่มีเกือบทุกจังหวัดของเมืองไทย หากเราท่านได้มีโอกาสเข้าไปดูระบบและสภาพปัญหาของการบริหารจัดการระบบราชการก็จะพบทั้งปัญหาในจำนวนตัวเลขการเข้าอยู่ รัฐสวัสดิการต่างๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ในจำนวนที่จำกัดทั้งงบประมาณและการจัดการ สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมของคนไทยเราก็คือคนที่มีฐานะและกำลังทางเศรษฐกิจที่ดีก็จะมีใจนำข้าวของเครื่องใช้ อาหาร เวชภัณฑ์ที่สำคัญไปบริจาคเพื่อให้การช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนที่ว่า สังคมไทยเรายังมิปรากฏของเศรษฐีใจบุญหรือนักการเมืองบางคนที่มีทรัพย์สินมรดกมหาศาลในช่วงเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่มิอาจจะใช้เงินทองเหล่านั้นให้หมดไปได้ ได้สร้างสถานที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพดีมิได้แตกต่างจากธุรกิจเอกชนที่ทั้งคนไทยเราบางคนและชาวต่างชาติได้ใช้วิกฤตเป็นโอกาสเปิดธุรกิจบ้านพักคนชราในหลายจังหวัดของเมืองไทยเราและมีแนวโน้มของธุรกิจประเภทนี้จะไปได้ดีโดยมีผู้สูงอายุที่เป็นคนไทยเราบางคนและชาวต่างชาติเข้าไปใช้บริการ

สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธมีความปรารถนาอยากพบเห็นก็คือ วัดหรือพระสงฆ์ที่มีฐานะกำลังทางการเงินของวัดในระดับดีจะเปิดวัดเพื่อดูแลคนแก่ชราด้วยวิถีคำสอนของศาสนา รวมถึงการใช้หลักธรรมะในการดูแลเยียวยาสภาพจิตใจ หลักของสมาธิ ศาสตร์สำคัญของวัดพระสงฆ์ในสมัยก่อนก็คือ วัดเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชาวบ้านทั้งการศึกษาเล่าเรียน การประชุม การดูแลความเจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งการให้สติในการเผาศพ เราท่านได้เห็นวัดและพระสงฆ์ในปัจจุบันได้ปฏิบัติศาสนกิจที่พระพุทธองค์ได้ฝากพระศาสนาไว้หรือไม่

ข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันศาสนา ทั้งเงินทอน พระบางรูปประพฤติผิดพระวินัยและกฎหมายของบ้านเมือง ทั้งยาเสพติด ชู้สาว การพนัน ปัญหาอาชญากรรมและปัญหาทางด้านศีลธรรม ส่วนหนึ่งได้บั่นทอนความศรัทธาเชื่อมั่นในแวดวงศาสนา สิ่งหนึ่งที่เราท่านพบเห็นก็คือจำนวนของผู้ที่เข้าไปบวชเป็นสามเณรหรือพระภิกษุที่มีจำนวนลดน้อยลง วัดร้างที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาในจำนวนมาก บางวัดทั้งในเมืองและต่างจังหวัดก็ยังให้โอกาสแก่คนแก่ชราหรือผู้สูงอายุเข้าไปบวช ที่เรียกว่าหลวงตา

ข้อมูลหนึ่งที่เกิดกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นที่มีตัวเลขของผู้สูงอายุถึงร้อยละ 33.1 ในปี พ.ศ.2558 และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2573 จะมีตัวเลขผู้สูงอายุถึงร้อยละ 37.3 หากเราท่านได้มีโอกาสไปประเทศดังกล่าวก็จะพบเห็นคนขับรถแท็กซี่โดยสาร พนักงานต้อนรับ คนทำอาหาร คนทำความสะอาดในโรงแรมล้วนเป็นผู้สูงอายุ เขาเหล่านั้นทำงานด้วยความขยัน ซื่อสัตย์และรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็ยังมีบางมุมของมหานครที่เป็นเมืองใหญ่ ยังพบคนแก่ชราผู้สูงอายุเดินหรือนั่งอยู่ตามย่านธุรกิจ บางคนไม่มีบ้านหรือญาติพี่น้องต้องอาศัยที่หลับนอนอยู่ใต้สะพานมิได้แตกต่างจากชีวิตคนชราในเมืองไทยเรา

สภาพปัญหาหนึ่งที่มิค่อยได้เป็นข่าวหรือสื่อนำเสนอมากนักก็คือ ยังมีจำนวนผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่ได้กระทำความผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย เข้าสู่คดีความถูกจองจำอยู่ในเรือนจำในตัวเลขที่น่าเป็นห่วง ในรอบปีที่ผ่านมาเราท่านมักจะได้ยินได้ฟังสามีฆ่าทำร้ายชีวิตภรรยา และภรรยาก็ฆ่าทำร้ายชีวิตสามี บางครอบครัวก็ตัดสินจบปัญหาชีวิตด้วยความตายกันทั้งครอบครัว คนแก่ชราผู้สูงอายุที่ต้องคดีความอยู่ในเรือนจำจะมีสภาพเป็นเช่นไร ทั้งสุขภาพกาย จิตใจ รวมถึงสัมพันธภาพของครอบครัวอาจจะรวมไปถึงความตายในเรือนจำหรือชีวิตหลังพ้นโทษ…

ชีวิตของคนแก่ชราหรือผู้สูงอายุหลายคนคงมิปรารถนาถึงความร่ำรวยหรือความสำเร็จของชีวิตตามโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขณะเดียวกันชีวิตของเขาหลายคนต่างเฝ้ามองความเจริญรุ่งเรืองอนาคตของบุตรหลานในวันข้างหน้า ชีวิตของเขาบางคนส่วนหนึ่งก็ต้องประคับประคองในความเสื่อมของสังขารร่างกาย ทั้งแขนขา ตาหู สมอง และบางคนก็ต้องใช้วันเวลาถึงความตายเป็นที่ยุติของชีวิตทุกๆ ชีวิตที่มาถึงในวัยชรา

ในโลกนี้มีบางประเทศได้มีกฎหมายรับรองสิทธิในการตาย อาทิ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ โดยอนุญาตให้มีการกระทำการุณยฆาต หรือช่วยยุติชีวิตให้พ้นจากความเจ็บป่วยทรมาน ที่เรียกว่าการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ (Assisted Suicide) ด้วยการฉีดยาให้ผู้ป่วยตาย ปลดสายออกซิเจนในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตไม่รู้สึกตัวมาเป็นเวลานาน หรืออาจจะปล่อยให้คนแก่ชราที่ป่วยได้ตายไปด้วยวิธีธรรมชาติ มิได้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในทางศาสนาอาจจะมีคำถามที่ว่าผู้กระทำจะเป็นบาปหรือไม่…

เมืองไทยเราก็มีกฎหมายรับรองในกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกันในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ก็คือ “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้โดยการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงสาธารณสุข…”

ชีวิตที่ดีของคนแก่ชราผู้สูงอายุมีความคาดหวังในสุขภาพดี ครอบครัวดี สังคมรอบข้างมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและอาจจะคาดหวังถึงระบบการเมืองของชาติมีการพัฒนาไปสู่ความเป็นอารยะ ก่อนเขาจะหลับตาทิ้งลมหายใจสุดท้ายไปจะมีความเป็นจริงหรือไม่

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image