ภาพลักษณ์ผู้พิพากษา กับบ้านพักบนดอย : โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

เมื่อเอ่ยคำว่า “ศาล” ย่อมเป็นที่เข้าใจของคนส่วนมากว่าหมายถึง “สถาบัน” เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลฎีกา เป็นต้น และยังหมายถึง “ผู้พิพากษา” คือข้าราชการผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี (ตาม

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 6) การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้แบ่งอำนาจสูงสุดเป็น 3 ฝ่าย คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ คือการพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งย่อมจะเป็นทั้งคุณและโทษแก่บุคคลทั่วไป

ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เช่นนี้จึงต้องมีการอบรมบ่มนิสัยอย่างเคร่งครัด โดยมีการกำหนดวินัย และมีการควบคุมความประพฤติทั้งกาย วาจา ใจ ไว้ตามประมวลจริยธรรมของผู้พิพากษา ตลอดจนแบบแผนที่บรรพตุลาการได้ประพฤติปฏิบัติกันมาตลอดเวลายาวนาน

Advertisement

เช่น ในเรื่องของความเป็นกลางนั้น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระบิดากฎหมายไทย) ทรงกราบทูล พระราชบิดา (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ความว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจ้างเขามาเป็นกลาง ให้เขาใช้ปัญญา ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ควบคุมเขาไม่ได้ ต้องให้เขาเห็นความสำคัญของตัวเขาเอง เงินเดือนจึงมากกว่าคนอื่น” สังคมจึงมองผู้พิพากษาว่าเป็นผู้สันโดษ จะคบหากับบุคคลใดก็ต้องระมัดระวังมิฉะนั้นจะถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นกลางไม่เที่ยงธรรม

ผู้พิพากษาจึงไม่อาจตั้งสำนักงานรับปรึกษาคดีหรือเป็นที่ปรึกษาของบุคคลหรือคณะบุคคลใดได้ หากกระทำไปก็จะถูกสังคมตำหนิติเตียน นอกจากจะต้องเป็นกลางแล้ว ผู้พิพากษายังต้องไม่มีอคติ

ดังที่ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ บรรพตุลาการได้กล่าวไว้ดังนี้ “ต้องทำจิตให้เป็นกลาง หมายความว่า ทำจิตให้ว่างเวลาคิดเรื่องงาน หรือนั่งบัลลังก์ จิตของเราต้องประภัสสร คือแจ่มใสสว่างจ้า ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง แต่บางทีก็มีมารมาผจญ ผมเองก็เคยถูกผจญเหมือนกัน ถูกเข้าแล้วก็คิดว่าเป็นอย่างไรก็เป็นไป ถึงจะต้องออกก็ออก เมื่อเราเห็นอย่างนี้ว่ายุติธรรม แม้จะกระทบการเมือง เป็นอย่างไรก็เป็นกัน ถ้านึกได้อย่างนี้ แสดงว่าจิตว่าง การที่ผู้พิพากษามีจิตมั่นคง ผ่องใสปราศจากอคติ และไม่รวนเรไปทางหนึ่งทางใด จะทำให้ปฏิบัติหน้าที่อิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี อย่างเป็นธรรมมากขึ้น”

Advertisement

ในเรื่องของความเคารพและความศรัทธาที่บุคคลทั้งหลายมีต่อศาลนั้น อาจารย์สัญญา เคยกล่าวไว้ว่า “ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยการเคารพนับถือของคนทั้งหลาย ปัจจุบันเขายังเคารพศาลอยู่ เมื่อครั้งผมเป็นรัฐบาล (อาจารย์สัญญาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) มีข้อกฎหมายที่เขาถกเถียงกันใหญ่โต แต่ลงท้ายมีคนบอกว่า เรื่องนี้ความจริงศาลฎีกาท่านตัดสินแล้วว่าเป็นอย่างไร ข้อถกเถียงเงียบทันที หลายคนเขายังเคารพศาลอยู่ เพราะฉะนั้นพวกคุณจะต้องรักษาความดีอันนี้ไว้ให้เขานับถือต่อไป ถ้ามีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นมาทีไร พวกผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้วก็เสียอกเสียใจกันใหญ่ ไม่น่าเลยศาลจะเป็นอย่างนี้ ทำได้อย่างไร ทำลายสถาบันป่นปี้หมด นี่แหละครับไม่ใช่ความรังเกียจจะแรงเฉพาะเพื่อนคุณ ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ มันแรงไปทุกตุลาการ แม้จะออกไปแล้ว”

เนื่องจากงานของผู้พิพากษาตุลาการทำให้ต้องวางตนเป็นกลาง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับจึงมีบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการไว้ สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในมาตรา 188 ภาพลักษณ์ของผู้พิพากษาตุลาการในสายตาของสังคมทั่วไปคือ การระมัดระวังในเรื่องไม่คบหากับบุคคลอันไม่สมควร เช่น ผู้ค้ายาเสพติด เจ้ามือสลากกินรวบ เป็นต้น ภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของผู้พิพากษาตุลาการคือ ความสมถะ สันโดษ พอใจในการครองชีวิตอยู่ด้วยรายได้ประจำเดือนในตำแหน่งของตน

เมื่อผู้เขียนดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. และได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้พิพากษาศาลฎีกา ใช้เวลาตรวจน้อยมาก เพราะผู้พิพากษาศาลฎีกามีทรัพย์สินจำนวนน้อยจริงๆ เมื่อเทียบกับข้าราชการฝ่ายอื่นซึ่งได้รับเงินเดือนจำนวนเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน เพราะผู้พิพากษาตุลาการไม่อาจร่วมเป็นกรรมการใดๆ ในหน่วยงานอื่นๆ ได้

ในเรื่องของบ้านพักของผู้พิพากษาตุลาการนั้นก็มักจะเป็นแบบบ้านโบราณ บางทีก็เป็นบ้านแบบชั้นเดียวใต้ถุนสูง หรือบางทีก็เป็นบ้านสองชั้น ประกอบด้วยระเบียง ห้องนอนไม่เกิน 2 ห้อง ห้องน้ำ 2 ห้อง

เมื่อผู้เขียนไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดจันทบุรี อาศัยอยู่ในบ้านพักแบบโบราณใต้ถุนสูง ข้างล่างเป็นพื้นดินมีน้ำขัง ถ้ามีของตกลงไปที่พื้นไม่สามารถหาพบ หลังคาตรงห้องโถงมีรูรั่ว เมื่อฝนตกต้องรีบวิ่งหากระป๋อง หรือกะละมังมาวางรองไว้เพื่อมิให้น้ำฝนไหลนองพื้นบ้าน ห้องส้วมไม่มีชักโครก มีแต่ส้วมซึมที่ต้องนั่งแปะลงไปกับพื้น (โชคดีที่ขณะนั้นผู้เขียนอายุไม่ถึง 40 ปี)

บ้านหลังนี้ชาวจังหวัดจันทบุรี ได้เคยคุยให้ผู้เขียนฟังว่า ปลูกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ก็คงมีการซ่อมแซมกันบ้าง ผู้เขียนย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหลายจังหวัด และได้อยู่บ้านพักที่เก่ามากและเก่าน้อย แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเดือดร้อนหรือนำไปเปรียบเทียบกับข้าราชการฝ่ายอื่นของจังหวัด ที่ได้อาศัยอยู่ในบ้านพักที่มีสภาพดีกว่า และไม่เคยได้ยินเพื่อนๆ ผู้พิพากษามาพูดบ่นในเรื่องนี้แม้แต่ผู้เดียว ยกเว้นเกิดอุบัติภัย เช่น เมื่อเกิดลมพายุพัดแรง บ้านพักผู้พิพากษาซึ่งเก่าเต็มทีได้พังลงตามแรงลม จึงมีการสร้างบ้านพักให้ผู้พิพากษาใหม่ เหตุนี้เกิดที่จังหวัดจันทบุรี

และในเรื่องบ้านพักผู้พิพากษานี้มีกฎระเบียบว่า ผู้พิพากษาไปรับตำแหน่งแทนผู้ใดก็ต้องอยู่บ้านผู้ที่ตนไปแทน จะอ้างว่าอาวุโสสูงกว่าแล้วไปแย่งบ้านจากผู้อาวุโสน้อยไม่ได้ ผู้เขียนยืนยันว่าเมื่อผู้เขียนไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการ และมีอาวุโสรองจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แต่ปรากฏว่าตำแหน่งที่ผู้เขียนไปแทนนั้นไม่มีบ้านพักต้องเช่าบ้านอยู่ ผู้เขียนก็เช่าบ้านอยู่เป็นเวลาถึง 4 ปี ทั้งๆ ที่ผู้พิพากษาท่านอื่นมีบ้านพัก

ความสันโดษและสมถะของผู้พิพากษานั้น มิใช่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับที่พักอาศัย แต่จะดำรงตนเช่นนี้ในทุกๆ เรื่อง เช่น เคยมีผู้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า รัฐบาลสมัยหนึ่งเคยส่งรถและเจ้าหน้าที่ตำรวจมานำรถประจำตำแหน่งของท่านประธานศาลฎีกาท่านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจและรถนำมาทำหน้าที่ได้วันเดียว ท่านประธานศาลฎีกาส่งตำรวจและรถคืนพร้อมทั้งแจ้งว่าให้นำไปใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเถิด เพราะผู้ทำหน้าที่เช่นท่านนั้นไม่มีศัตรู และไม่จำต้องแสดงอภิสิทธิ์ใดๆ ในท้องถนน

เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการสร้างบ้านพักตุลาการบริเวณป่าที่ดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่ ผู้เขียนซึ่งแม้จะพ้นจากสถาบันตุลาการมานานพอสมควรแล้วก็เกิดความทุกข์ใจ เพราะสื่อทุกแขนงไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนทางโซเชียล ก็กล่าวถึงผู้พิพากษาในแนวของการตำหนิติเตียน ท่านผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหลาย ท่านไม่อาจออกมาชี้แจงเพื่อให้สังคมเข้าใจได้ เพราะถ้าพูดไม่ดีก็จะถูกกล่าวหาว่าออกมาแก้ตัวและอาจสร้างปัญหาต่อไป เพราะมีผลประโยชน์ในเรื่องนี้โดยตรง

ผู้เขียนจึงขอโอกาสประชาชนทั้งหลาย เขียนบทความนี้เพื่อให้ท่านเข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อได้มีโอกาสคุยกับท่านผู้พิพากษาบางท่านเป็นการส่วนตัวแล้ว ส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่สบายใจในเรื่องนี้ เพราะที่สังคมเข้าใจดูจะขัดกับภาพลักษณ์ของผู้พิพากษาดังที่เคยเป็นมา

ความเป็นมาของการที่มีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณนี้มีดังนี้

1.ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งเดิมมีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค 1-3 หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค 4-9 ขณะนั้นผู้เขียนดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) ได้มีมติตั้งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคและรองอธิบดีภาค 4-9 รวม 18 ตำแหน่ง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็น ประธานและรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4-9 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมมีมติให้ผู้เขียนดำรงตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงนับได้ว่าเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คนแรก แต่ช่วงระยะเวลานั้นผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 4-9 ยังมีสถานที่ทำงานอยู่ที่อาคารศาลอุทธรณ์ (ถนนรัชดาภิเษก) และยังไม่มีแนวคิดที่ว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นตามภาคต่างๆ แต่อย่างใด

2.เดือนกรกฎาคม 2540 กระทรวงยุติธรรมมอบหมายให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 (ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่) จัดหาสถานที่สร้างบ้านพักและที่ทำการศาล

3.ศาลยุติธรรมแยกจากกระทรวงยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 และได้มีตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลงานธุรการของศาลรวมทั้งจัดการในเรื่องนี้

4.เดือนมิถุนายน 2546 มณฑลทหารบกที่ 33 มีหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 แจ้งว่าได้ตรวจสอบแล้วบริเวณพื้นที่ไม่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ประกอบกับสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีความจำเป็นเร่งด่วนในการขอใช้พื้นที่จึงเห็นควรสนับสนุน

5.สำนักงานศาลยุติธรรมมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2548 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอใช้ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 147 ไร่

6.กรมธนารักษ์มีหนังสือแจ้งอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้ที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.1723 เนื้อที่ประมาณ 147 ไร่

7.จังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือจัดส่งหนังสืออนุญาตที่ราชพัสดุให้สำนักงานศาลยุติธรรม

จากรายละเอียดการดำเนินการจัดหาที่ดินสร้างศาลและตุลาการข้างต้นบ้านพักนี้ ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะขณะนั้นผู้เขียนซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานศาลยังไม่เคยทราบเรื่อง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ในขณะนั้น เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในขณะนั้น และอาจจะมีมติโดยคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมซึ่งมีประธานศาลฎีกาในขณะนั้นเป็นประธาน ฝ่ายทหารคือ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อธิบดีกรมธนารักษ์หรือผู้แทน

บุคคลดังกล่าวทั้งหมดจะต้องทราบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ว่ามีเหตุผลใดจึงเลือกเอาพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สร้างบ้านพักตุลาการ ซึ่งถึงแม้กระบวนการได้มาจะถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้มิใช่เรื่องการได้มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นว่าการใช้พื้นที่นี้เพื่อสร้างบ้านพักเป็นการเหมาะสมหรือไม่ ทั้งรูปแบบของบ้านพัก สังคมก็ยังตั้งข้อสังเกตว่าจะขัดกับภาพลักษณ์ของผู้พิพากษาที่เป็นผู้สันโดษ สมถะ ไม่สนใจในความสุขสบายส่วนตัว

ผู้ที่แก้ไขปัญหานี้ได้อย่างถูกต้อง จำเป็นจะต้องทราบถึงความเป็นมาของการได้มาซึ่งที่ดินอย่างถี่ถ้วน จากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาของที่ดินแปลงนี้ ดังกล่าวข้างต้น บุคคลเหล่านั้นอาจจะมีเหตุผลที่จะตอบสังคมได้และเชื่อว่าสังคมจะเข้าใจ และจากในการค้นหาความจริงในเรื่องนี้ถ้ามีหน่วยงานที่ต้องรับผิด ก็ต้องออกมาอธิบายให้สังคมเข้าใจ พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบ

มาตรา 44 ไม่สมควรนำมาใช้ เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาแบบปัดสวะ ผลต่อมาคือกรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ถ้าแก้ไขไม่ถูกจุด

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาบ้านพักบนดอยจึงเป็นการทดสอบความชาญฉลาดของผู้บริหารประเทศ หากเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้องแล้วก็คงจะไม่เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์ของผู้อยู่ในสถาบันตุลาการ และขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมของผืนป่าอันเป็นที่หวงแหนของประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้

1.เป็นวิถีทางแก้ไขที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยไม่ฝ่าฝืนหลักกฎหมาย และความเป็นธรรม

2.เมื่อใช้วิถีทางนี้แล้วจะป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีกในอนาคต (อาจถึงกับต้องปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ที่ดินราชพัสดุ และการใช้พื้นที่ซึ่งอยู่ในความครอบครองของคณะทหาร และต้องทำโดยด่วน)

3.ป้องกันสถาบันหลักของการปกครองประเทศ (สถาบันตุลาการ) ให้เป็นที่ศรัทธาของประชาชนตลอดไป

4.เยียวยาผลเสียหายที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ทั้งมวล

5.ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าโดยกฎหมายหรือวิธีอื่นใด และต้องดำเนินการโดยด่วน

6.อย่าปัดความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว และเป็นความผิดของคณะรัฐบาลชุดก่อนที่คณะของท่านจะเข้ามาบริหารประเทศ

7.ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีการแสดงความเห็นคัดค้านการสร้างบ้านพักนี้ของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแต่ต้นแล้ว ไม่มีการดำเนินการแก้ไข เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

8.หากสามารถใช้วิถีทางอันชาญฉลาดแก้ปัญหานี้ได้ เป็นผลสำเร็จและเป็นไปตามข้อ 1 ถึงข้อ 7 วิกฤตศรัทธาก็จะหมดไป เพราะแสดงว่าท่านใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาสำคัญที่มีความละเอียดอ่อนเช่นนี้ได้สำเร็จ โดยไม่เลือกวิธีการใช้กำลังแต่อย่างใด แต่เป็นการใช้ความสามารถล้วนๆ

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image