รำลึก 35 ปี ดร.ปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2561 : โดยเอกชัย ไชยนุวัติ

รำลึก 35 ปี ดร.ปรีดี พนมยงค์
11 พฤษภาคม พ.ศ.2561

เมื่อลูกชายของผมเอง Max (เด็กชาย เอกนุวัติ ไชยนุวัติ) อายุ 9 ขวบ ถามคำถามว่า “พ่อครับ ปรีดีคือใคร เขาเป็นญาติเราเหรอ?” คำถามนี้ของเยาวชน แม้จะเป็นคำถามที่ดูเรียบง่าย ไร้อคติ แต่เมื่อมาคิดดูแล้วเป็นคำถามที่ถ้าจะตอบให้ถูกต้อง ก็ตอบได้ยากที่สุด เนื่องจากในยุคที่สังคมโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงง่ายด้วยการเขี่ยนิ้วที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในยุคที่เล่นเกม ROV ผ่านเฟซบุ๊กได้ ปรีดี พนมยงค์ ดูจะไม่มีที่ไม่มีทางสำหรับสังคมสมัยนี้ เพราะประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งตั้งใจที่จะละเลย ไม่พูดถึง ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2443 และจากโลกนี้ไปในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 ที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎร ผู้อภิวัฒน์การปกครอง พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย และเมื่ออาจารย์ปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2480-15 ธันวาคม พ.ศ.2481 ท่านผลักดันทำให้รัฐสยามแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับ 15 ประเทศ เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทำให้สยามได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมา เป็นสยามเสรี

ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น และสยามได้ร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร อาจารย์ปรีดีได้เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย พร้อมคนไทยอีกจำนวน(มาก) ต่อต้านการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทย เช่น นายจำกัด พลางกูร ได้สละชีวิต เดินทางไปเจรจากับจีน เพื่อให้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาไม่ถือว่าไทยเป็นฝ่ายญี่ปุ่น เหตุนี้จึงทำให้ไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 (โมฆะสงคราม)

Advertisement

อาจารย์ปรีดียังเป็นบุคคลเพียงท่านเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง ปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2488

และสำหรับผมแล้วอาจารย์ปรีดีคือผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2477 เป็นที่บ่มเพาะ สร้างอุดมการณ์ ประชาธิปไตยสากล และยึดหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในประเด็นที่ 2 ที่ผมจะนำเสนอ คือ แล้วคนรุ่นใหม่จะเชื่อมโยงกับแนวความคิดของ อาจารย์ปรีดี ได้อย่างไร? ผมได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง ภราดรภาพนิยม กับหลักประกันสุขภาพ 30 บาท รักษาถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2560 ที่งานสัมมนา “วงเสวนา อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ รำลึกมรดกคณะราษฎร” แนวคิด ภราดรภาพนิยม (Solidarism) อธิบายความหมายโดยศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ จิ๊ด (Professor Charles Gide) ว่า “การกระทำของเราแต่ละคนนั้นมีผลกระทบทั้งในแง่ดีและแง่ร้ายต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ และในทางกลับกันความรับผิดชอบและความเสี่ยงภัยต่อภัยทั้งปวงจึงเพิ่มมากขึ้นหากจำเป็นตกทุกข์ได้ยากเราจำเป็นต้องไปช่วยเหลือเขาเหล่านั้น …ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนสังคมของมนุษย์ทั้งมวลไปสู่ความเป็นชุมชนใหญ่ที่มุ่งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” (อ้างอิงจากปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ 2549) ภราดรภาพนิยมก็คือแนวคิดฉันพี่น้อง ที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่เลือกหน้า เพราะเราต่างมีพันธะทางสังคมต่อกัน

Advertisement

คนที่มีฐานะดีก็มีหน้าที่ทางสังคมที่ต้องดูแลและช่วยเหลือ คนที่มีฐานะยากจนในท้องถิ่นที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจน้อยกว่าคนเมืองหลวง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จึงเป็นแนวคิดที่สืบต่อมาจากอาจารย์ปรีดี ที่ต้องการเห็นสังคมที่ทุกคนไม่อดตาย มีงานทำ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องไม่ล้มละลายทางสุขภาพ

ดังนั้น แนวคิดนี้ คนที่ร่ำรวยมีหน้าที่ทางสังคมต้องช่วยเหลือคนที่จน เพราะไม่มีใครรู้ว่าวันหนึ่งท่านอาจจะรวยหรือจนภายในพริบตา ดังนั้นรัฐจึงต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยสรุปอาจารย์ปรีดีได้วางรากฐานประชาธิปไตยทางสังคมและเศรษฐกิจไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2475 แล้ว ผมจึงเสนอให้พี่น้องคนไทยหันมาสนใจคำว่า “ภราดรภาพนิยม” (Solidarism) อีกครั้งในปี พ.ศ.2561 นี้

ผมเชื่อโดยบริสุทธ์ใจว่า ภราดรภาพนิยมจะทำให้ความขัดแย้งทางสีเสื้อลดน้อยลงเพราะเราต่างก็เป็นพี่น้องกัน และผมคงจะตอบคำถามของลูกชายได้ว่า “พ่อครับ ปรีดีคือใคร?”

เอกชัย ไชยนุวัติ
นักวิชาการกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image