การเมืองการปกครองในโลกอนาคต : โดยโสต สุตานันท์

การเมืองการปกครองในโลกอนาคต

โลกยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์รัฏฐาธิปัตย์มีขอบข่ายอำนาจกว้างขวางอยู่เหนือเอกชนแทบไม่มีขอบเขตจำกัด จึงมีนักคิดนักปราชญ์พยายามใช้ปัญญาเสาะแสวงหาเครื่องมือ ซึ่งในที่สุดก็สามารถค้นพบยาวิเศษ 3 ขนาน คือ ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ ทฤษฎีเสรีนิยมทางการเมือง และทฤษฎีเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ อันเป็นที่มาของระบบการเมืองการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไปสองร้อยกว่าปี แนวคิดทฤษฎีดังกล่าวเริ่มกลายเป็นตัวปัญหาไปเสียแล้ว เพราะสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน เอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลสมมุติที่เรียกกันว่า “นิติบุคคล” มีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐมากมาย บริษัทข้ามชาติหลายแห่งมีมูลค่าทรัพย์สินเงินทองมากกว่างบประมาณแผ่นดินในหลายประเทศ สามารถควบคุมกลไกเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เกือบทั้งหมด แม้แต่ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองของประเทศในโลกเสรีทั้งหลายก็มีที่มาหรือได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจนายทุนขนาดใหญ่กันทั้งสิ้น ความมั่นคงของกลุ่มธุรกิจนายทุนจึงหมายถึงความมั่นคงของรัฐ
ผลที่ตามมาคือ ความแตกต่างเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และวิกฤตปัญหาต่างๆ มากมายตัวอย่างปัญหาที่สำคัญ เช่น

1.การเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพส่วนตัวของปัจเจกบุคคลมากเกินไป ได้ส่งผลทำให้กลุ่มคนที่มีศักยภาพหรือพื้นฐานฐานะความเป็นอยู่ที่ดีหรือมีสายป่านที่ยาวไกลจะยิ่งได้เปรียบในลักษณะเป็นเท่าทวีคูณ ขณะที่คนซึ่งอยู่ในฐานะเสียเปรียบอยู่แล้วก็จะยิ่งเสียเปรียบย่ำแย่เป็นเท่าทวีคูณเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเศรษฐกิจและโอกาสทางการศึกษา

2.การเปิดโอกาสให้มีสิทธิเสรีภาพหรือแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวางโดยไม่มีการจำกัดขอบเขตที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่คำนึงถึง “หน้าที่” ในการเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ก่อให้เกิดการรุกล้ำล่วงเกินสิทธิเสรีภาพของกันและกันเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีการตอบโต้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตนเองด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ มากมาย การกระทบกระทั่ง ความขัดแย้งบาดหมาง การแตกแยกขาดความสามัคคีของผู้คนในสังคมจึงแผ่ขยายลุกลามออกไปเรื่อยๆ

Advertisement

3.ด้วยกลไกของระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองต้องแข่งขันกันเสนอประโยชน์เพื่อตอบสนองกิเลสความต้องการของประชาชนในทุกรูปแบบ ซึ่งจะสอดรับกับความต้องการของกลุ่มทุนสามานย์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงถูกทำลายอย่างรวดเร็วมากมาย เพราะจะมีการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเสพบริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัดและฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล โครงการประชานิยมน้อยใหญ่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

4.จุดอ่อนสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย คือ คนที่เสนอตัวอาสาเป็นตัวแทนสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในระดับใดส่วนใหญ่จะมีกิเลสความต้องการมากกว่าคนปกติทั่วไปเป็นพิเศษ ซึ่งหากความต้องการนั้นเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “ฉันทะ” คือ ความอยากที่มุ่งตัวประโยชน์หรือสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความจริง สิ่งที่ดีงามหรือภาวะที่ดีงาม ไม่ผูกพันอยู่กับอัตตาตัวตน มีเป้าหมายเพื่อสังคมส่วนรวม พร้อมๆ กันกับการพัฒนาชีวิตตนเองให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่หากความต้องการนั้นเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “ตัณหา” คือความอยากที่มุ่งประสงค์เวทนา ต้องการสิ่งสำหรับเสพปรนเปรอตน พัวพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับตัวตน เอาตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล อยากได้ อยากมี อยากเป็น คิดทำทุกอย่างเพื่อสนองกิเลสตัณหา อัตตาตัวตนของตัวเองเป็นหลัก ย่อมเป็นต้นตอแห่งวิกฤตปัญหาทั้งปวง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ

Advertisement

เมื่อองคาพยพต่างๆ ขาดความสมดุล ยุ่งเหยิง ไม่เป็นระบบระเบียบ การเมืองย่อมผิดเพี้ยนประเทศชาติย่อมผุพัง และจะก้าวเดินไปสู่ยุคที่ David Streckfuss นักวิชาการอิสระชาวอเมริกันซึ่งมาปักหลักอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 25 ปี เรียกว่า absurd politics คือ การเมืองแบบไร้สาระบ้าบอคอแตก ซึ่งขณะนี้เริ่มส่อเค้าส่งสัญญาณให้เห็นในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา

สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ระบอบประชาธิปไตยก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้โดยไม่มีข้อยกเว้น คำถามคือ แล้วระบบการเมืองการปกครองแบบไหนที่จะเหมาะสมกับโลกอนาคต

ในมุมมองผู้เขียนเห็นว่า แท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครองระบบไหน อย่างไร ต่างก็มีหลักการและเป้าหมายเหมือนกันทั้งสิ้น คือ การสร้างความผาสุกให้กับทุกคนในสังคม หากจะแตกต่างกันก็คงเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น การมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ย่อมส่งผลทำให้ทุกคนในสังคมมีหลักประกันในอันที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองมิให้ถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจากรัฐหรือบุคคลอื่นใด ความสงบสุขย่อมเกิดมีขึ้น ขณะเดียวกันการเน้นให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ของสังคมส่วนรวม โดยจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของประชาชน ความสงบสุขย่อมเกิดมีขึ้นอีกเช่นกัน เพราะแท้จริงแล้วประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งเดียวกัน

ดังนั้น ระบบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดจึงได้แก่ ระบบที่มีดุลยภาพที่เหมาะสมลงตัวระหว่างการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนกับการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจากรัฐ โดยยึดถือแนบอิงเกี่ยวพันกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ซึ่งสูตรหรือสัดส่วนที่เหมาะสมลงตัวของแต่ละสังคมหรือในแต่ละช่วงเวลาแม้ในสังคมเดียวกันย่อมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ มากมาย ดังนั้น การคิดหาสูตรเพื่อสร้างดุลยภาพในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสติปัญญาของมนุษย์โลกตลอดเวลาตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไป

ถามว่าสังคมไทย ณ ตอนนี้ ดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับการถูกจำกัสิทธิเสรีภาพ โดยรัฐเป็นอย่างไร? เหมาะสมลงตัวหรือไม่?ด้วยปัจจัยเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์พิเศษเช่นนี้ คงยากที่จะหาคำตอบได้อย่างถูกต้องชัดเจน แต่ในภาพรวมแล้วต้องยอมรับความจริงว่า บางเรื่องบางกรณีประชาชนถูกลิดรอนเสรีภาพโดยรัฐมากเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อพิจารณาถึงบทเรียนประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ที่มา รวมทั้งเหตุปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้ว ก็คงต้องเข้าใจและเห็นใจผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เพราะเหตุการณ์เรื่องราวได้ถลำลึกมาถึงขั้นนี้แล้ว คงยากที่จะหันหลังกลับหรือคิดเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่

ผู้เขียนขอไม่วิเคราะห์วิจารณ์ว่าหลังสังคมไทยพ้นจากการอยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐจะเป็นอย่างไร? เหมาะสมลงตัวหรือไม่? รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะช่วยเหลือเยียวยาแก้ไขปัญหาหรือเป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง เพราะจากการติดตามศึกษารัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก รวมทั้งความคิดความเห็นของผู้คนในสังคมและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ มันช่างวกวนสับสน ซับซ้อนซ่อนเงื่อนไข ลึกลับมหัศจรรย์เสียยิ่งนัก แม้แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเองก็เชื่อว่าบางท่านอาจจะยังรู้สึกงงๆ กันอยู่ก็เป็นได้

หากคิดวิเคราะห์เจาะลึกมากเกินไปก็หวั่นเกรงว่าอาจถึงขั้นเป็นบ้าได้

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในเชิงหลักการเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองในโลกอนาคตที่ควรจะเป็นก็แล้วกัน ซึ่งในมุมมองผู้เขียนเห็นว่า การเมืองการปกครองในโลกอนาคตควรประกอบด้วยหลักการสำคัญอย่างน้อย 4 ประการคือ

1.โฮจิมินห์ กล่าวไว้ว่า “ง่ายหมื่นครั้งไม่มีประชาชนก็ทำไม่ได้ ยากหมื่นครั้ง แต่มีประชาชนให้ความร่วมมือก็ทำสำเร็จ” ดังนั้น จึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับการเมืองการปกครองให้มากที่สุด

ทั้งนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาดคือการเลือกตั้ง

เหตุผลเพราะว่าสังคมจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนส่วนใหญ่ ถ้าสังคมใดมีเพียงบุคคลหรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีอำนาจตัดสินใจโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน หากเกิดวิกฤตปัญหาหรือข้อผิดพลาดอะไรขึ้นมาก็จะมีการโทษกันไปมา ผู้ใช้อำนาจรัฐก็จะโทษประชาชนว่าโง่ ดื้อ รั้น ไม่เชื่อฟังคำสั่ง คำแนะนำท้วงติง ประชาชนก็จะโต้ตอบกลับในทำนองเดียวกัน สถานการณ์ย่อมเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะมีการจัดการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่รุนแรงย่อมเป็นได้สูง

แต่ถ้าผู้ใช้อำนาจมาจากฉันทามติของประชาชนคนส่วนใหญ่ หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว ประชาชนจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย การเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงย่อมไม่เกิดขึ้น ที่สำคัญโดยกระบวนการจะสามารถเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจรัฐได้ด้วยวิธีการที่สันติ

2.โลกยุคปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน แตกต่างหลากหลาย และในอนาคตคงต้องเผชิญกับวิกฤตปัญหาต่างๆ มากมาย การจัดการแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเช่นกัน ที่สำคัญต้องรวดเร็วทันเหตุการณ์ การกระจายอำนาจจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเป้าหมายสูงสุดของการกระจาย
อำนาจในอุดมการณ์ คือการใช้ทุกคนปกครองตนเอง เราต้องพยายามทำให้ประชาชนเข้มแข็งมีความรับผิดชอบยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้

หากประชาชนอ่อนแอไม่ว่าจะในระบบใดก็ไปไม่รอด รูปแบบการเมืองการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การหวังพึ่งพาฮีโร่หรือพระเอกขี่ม้าขาว การทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีของผู้มีอำนาจรัฐ รวมทั้งนโยบายในลักษณะประชาสงเคราะห์ต่างๆ จะทำให้ประชาชนอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ ท้ายที่สุดจะทำให้สังคมนั้นล่มสลาย

3.สรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา กฎกติกาที่ดีที่เหมาะสมในวันนี้ วันข้างหน้าอาจไม่ถูกต้องเหมาะสมอีกต่อไป

ที่สำคัญโลกยุคปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นรวดเร็วมาก รัฐธรรมนูญที่ดีจึงต้องมีลักษณะเปิดกว้างยืดหยุ่น มีหลักการและข้อยกเว้นที่เหมาะสม เราต้องสร้างรัฐธรรมนูญให้มีชีวิตหรือจิตวิญญาณ (Spirit) สามารถเจริญเติบโตและนำไปปรับใช้เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมได้ในทุกสถานการณ์ของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป หากรัฐธรรมนูญมีลักษณะผูกมัดตายตัวหรือมีรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป บางสถานการณ์อาจถึงทางตันและฝ่ายที่เห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมย่อมพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไข ซึ่งแนวโน้มที่จะมีการแก้ไขในลักษณะสุดขั้วไปทางแนวคิดอีกฟากฝั่งหนึ่งย่อมเป็นได้สูง

ท้ายที่สุดอีกฝ่ายหนึ่งก็จะพยายามต่อสู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกันอีก กลับไปกลับมาไม่มีที่สิ้นสุดและการต่อสู้ก็คงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

4.ดังได้กล่าวข้างต้นว่า วิกฤตปัญหาใหญ่สำคัญของโลกยุคปัจจุบันคือ การที่เอกชนโดยกลุ่มธุรกิจนายทุนขนาดใหญ่มีอำนาจอิทธิพลเหนือรัฐ สถานการณ์ของโลกตอนนี้อาจกล่าวได้ว่าในหลายประเทศผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐที่แท้จริงคือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างระบบการเมืองการปกครองที่เอื้อหรือส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้รวมกลุ่มกันในทุกรูปแบบเพื่อให้มีพลังอำนาจต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎกติกาที่เหมาะสมเป็นธรรมให้แต้มต่อ หรือการใช้มาตรการทางสังคมบีบคั้นกดดัน ไม่ปล่อยให้ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยถูกกลุ่มทุนขนาดใหญ่เอารัดเอาเปรียบ สูบเลือดกินเนื้ออย่างโหดร้ายทารุณ

นอกจากนั้น ต้องจัดวางให้ทุกองคาพยพในสังคมยืนอยู่ข้างประชาชน เพื่อสร้างแนวร่วมในการคานดุลอำนาจอิทธิพลของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่ให้ขยายขอบเขตมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายตุลาการต้องมีความกล้าหาญในการตีความบังคับใช้กฎหมาย ต้องเลือกยืนอยู่เคียงข้างประชาชนอย่างมั่นคงเด็ดเดี่ยว หากประชาชนไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้หรือผู้มีอำนาจรัฐในองค์กรหรือสถาบันสำคัญต่างๆ สยบยอมก้มหัวหรือไปร่วมมือสนับสนุนรับใช้กลุ่มทุน

จุดจบสุดท้ายคือ ตายหมู่แน่นอน ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มทุนเองหรือผู้มีอำนาจรัฐ เพราะเมื่อประชาชนยากจนข้นแค้น เดือดร้อนลำบาก ไม่มีที่อยู่ที่ยืน บ้านเมืองเต็มไปด้วยความอยุติธรรม ย่อมก่อให้เกิดวิกฤตปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากแง่คิดมายังพี่น้องร่วมชาติว่า ผู้รู้บอกว่าหนทางรอดทางเดียวของมนุษย์โลกในอนาคต คือการตัดสินใจก้าวไปสู่ “ยุคแห่งจิตวิญญาณ” โดยเร็วที่สุด เพราะจากการที่มนุษย์ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ไซเบอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความสมบูรณ์พูนสุขที่แท้จริงได้หรือแม้แต่ยุคเอไอที่กำลังจะเริ่มต้นกันขณะนี้ ก็เชื่อว่าจะสร้างปัญหามากมายให้แก่มนุษย์โลก อย่างน้อยที่สุดก็คงจะทำให้ผู้คนไม่น้อยตกงาน

ดังนั้น การศึกษาเรื่องจิตวิญญาณจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของโลกอนาคต โดยแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่ดีที่สุดก็คือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งตั้งวางอยู่ตรงหน้าคนไทยมาอย่างยาวนานหลายร้อยปีนั่นเอง หากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่รู้จักตัวเองไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร มาจากไหน ชีวิตประกอบด้วยอะไร มีจุดหมายปลายทาง ณ ที่แห่งใดแล้ว

ถึงแม้จะมีระบบการเมืองการปกครองมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายที่ดีเลิศ มีคนจบดอกเตอร์เต็มบ้านเต็มเมือง ก็คงเป็นการพ้นวิสัยที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม สงบสันติ อุดมด้วยปัญญาอย่างแท้จริงยั่งยืนได้

โสต สุตานันท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image