เตือนภัย : หมักหมม พืชเศรษฐกิจตกต่ำ ชนวนสั่นคลอนอายุรัฐบาล

ช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเห็น “ลางบอกเหตุ” ไม่สู้ดีนัก สำหรับพืชสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ตั้งแต่ภาพรถบรรทุกอ้อยในพื้นที่เพาะปลูกหลัก ใน จ.นครราชสีมากว่าพันคันจอดนิ่ง รอคิวขายให้กับโรงงานน้ำตาลที่ประกาศเลื่อนการปิดหีบอ้อยหรือเปิดรับซื้อให้เร็วขึ้นเกือบ 2 สัปดาห์ ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องเร่งตัดเร่งขนมาขาย ส่งผลให้ราคาขายตกทันทีจากตันละ 1,200 บาท เหลือไม่ถึง 1,000 บาท

ในเวลาใกล้เคียงกัน เกิดกระแสร้องเรียนให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือเกษตกรในสินค้าเกษตรต่างๆ นานา อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือยางพารา ที่มีเจอวิกฤตราคาตก ขอให้แก้ไขด่วน ลากยาวจนถึงวันนี้

ยังไม่นับรวมถึงกลุ่มปศุสัตว์ ที่กลุ่มผู้เลี้ยงในแต่ละพื้นที่สลับออกมาเคลื่อนไหวร้องเรียนขอให้ช่วยอยู่เนื่องๆ ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรที่ออกมาคัดค้านที่รัฐบาลยังไม่ชัดเจนที่จะปล่อยนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐและโอดครวญขอให้ผลักดันราคาขาย เพื่อให้พ้นขีดขาดทุนมาต่อเนื่อง 7-8 เดือนแล้ว

ซึ่งกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ก็เป็นคิวของกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง 14 จังหวัดนับพันราย ประกาศนัดรวมตัวที่บริเวณเชิงสะพานติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา มาเคลื่อนไหว 17 พฤษภาคมนี้ เพื่อขอให้รัฐบาลเปิดโครงการรับจำนำหลังแบกภาระขาดทุนมาแล้ว 2 เดือน

Advertisement

ปาล์มน้ำมัน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพืชการเมืองชนิดหนึ่ง ก็น่าตกใจไม่น้อย!! จากตัวเลขสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2561 มีถึง 15.4 ล้านตันผลปาล์ม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 8% คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ (เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 17.61%) จะเท่ากับ 2.7 ล้านตันซีพีโอ ขณะที่ความต้องการใช้จริง ที่แยกเป็น 2 ส่วนคือ เพื่อบริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 1.19 ล้านตันซีพีโอ และเพื่อผลิตไบโอดีเซล 1.15 ล้านตันซีพีโอ นำยอดผลิตกับปริมาณต้องการใช้หักลบกัน จะเกินใช้ 3.7 แสนตันซีพีโอ บวกกับสต๊อกปี 2560 อีก 4.8 แสนตันซีพีโอ จะมีปริมาณซีพีโอเกิน 8.5 แสนตันซีพีโอ

บวกสต๊อกปกติเพื่อความมั่นคงอีก 2.5 แสนตันซีพีโอ ก็จะทำให้น้ำมันปาล์มดิบล้นสต๊อกถึง 6 แสนตัน น่าจะเป็นตัวเลขที่สูงมากในรอบหลายปี !!

ตอนนี้คงมีเพียงข้าวและทุเรียน ยังมีข่าวดี ไม่ออกมาเรียกร้องอะไร เพราะข้าวได้อานิสงส์จากประเทศผู้ผลิตและนำเข้าข้าวของโลกเจอภัยพิบัติ ผลผลิตต่ำกว่าความต้องการจึงต้องหันนำเข้าแทน ส่งผลให้ราคาข้าวไทยดีติดลมบนมานานหลายเดือน ปลื้มใจว่าปีนี้ไทยส่งออกข้าวทะลุ 10 ล้านตันแน่นอน

Advertisement

ส่วนทุเรียนยังขายได้ราคาดีตามกระแส “อาลีบาบา” ของจีนสั่งซื้อนาทีเดียว 8 หมื่นลูก ถึงเป็นเพียงจุดทศนิยมของผลผลิตทุเรียนทั้งประเทศ แต่ส่งผลทางจิตวิทยาดันราคาสูงกว่าปีก่อนมากโข ส่วนผลไม้ไทยที่กำลังออกสู่ตลาดจากนี้ก็ยังต้องลุ้นว่าราคาจะดีวันดีคืนแค่ไหน ทั้งมังคุด เงาะ ลำไย จะไปทิศทางเดียวกับข้อมูลทางการออกมาระบุว่าผลผลิตปีนี้ไม่มากนัก

แม้พืชนั้นๆ จะทำเงิน ก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจได้ และอาจกลายเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะตามธรรมชาติ เมื่อปีใดสินค้าชนิดนั้นขายดีราคาแพง ก็จะแห่กันเพาะปลูกในรอบต่อไป วงในค้าข้าวจึงเชื่อว่าข้าวนาปรังและนาปี ฤดูกาลผลิตปี 2561 ที่กำลังเริ่มเพาะปลูก ฟันธงว่าเพิ่มขึ้น

เพียงชาวนารอความมั่นใจ หลังจากรู้ผลพระโคเสี่ยงทายกินอะไรในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จึงจะตัดสินใจได้ว่าควรเพิ่มเพาะปลูกอีกเท่าไหร่ ถ้าผลเสี่ยงทาย น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ การค้าดี ผลผลิตเพิ่ม 10-20% ได้เห็นแน่ !!

ดังนั้น เมื่อปัญหาเก่ายังไม่คลี่คลาย ปัญหาใหม่ก็ไล่ตาม หากยังปล่อยสะสมนานวัน ก็จะเป็นชนวนสั่นคลอนรัฐบาลได้

อีกโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต่อไปต้องโชว์ฝีมือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image