ถึงเวลาทวงสิทธิ 8% ของอาจารย์มหาวิทยาลัยกันหรือยัง : โดย สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์

คงไม่มีใครสงสัยกันอีกต่อไปแล้วว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยได้เงินเดือนน้อยกว่าครูประถม 8% จริงไหม ตอนนี้มีแต่คนสงสัยกันว่าแล้วเมื่อไรรัฐบาลชุดนี้ซึ่งอยู่มา 4 ปีแล้ว จะคืนความเป็นธรรมให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยเสียที

ถามว่าแล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยนิ่งเฉยเรื่องนี้นานถึง 8 ปีได้อย่างไร

ความจริงอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้แต่อย่างใด มีการเรียกร้อง ติดตาม ทวงถามเรื่องนี้มาโดยตลอด

มีการเขียนบทความผ่านหนังสือพิมพ์ มีการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทั้งทางวิทยุและทีวี

Advertisement

แต่เรื่องก็เงียบหายไปกับสายลม หรือรัฐบาลมองว่าการเรียกร้องทวงสิทธิของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

โดยจะขอลำดับความ (ไม่) คืบหน้าในการติดตามทวงถามสิทธิของอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ทุกท่านได้ทราบความเป็นมาอีกครั้ง ดังนี้

นับตั้งแต่มีการขึ้นเงินเดือนให้ครูประถม 8% เมื่อเดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นมา อาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

โดยในปี 2554 เป็นต้นมา มีบทความทวงสิทธิของอาจารย์มหาวิทยาลัยลงในหนังสือพิมพ์มติชนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าพบเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเกือบทุกท่าน ไล่ตั้งแต่ ศาสตราจารย์สุชาติ ธาดาธำรงเวช คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา คุณจาตุรนต์ ฉายแสง

รัฐมนตรีแต่ละท่านต่างก็เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในเรื่องนี้และรับปากจะดำเนินการแก้ไขให้ แต่น่าเสียดายอายุของรัฐมนตรีศึกษาธิการแต่ละท่านช่างสั้นนัก ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้บรรลุผลก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง

ดูเหมือนในช่วงคุณจาตุรนต์ เรื่องความพยายามแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในเรื่องนี้จะก้าวหน้าไปพอสมควร

กล่าวคือ มีการนำเรื่องการขอปรับเงินเดือนให้อาจารย์มหาวิทยาลัย 8% เข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ซึ่งมีคุณจาตุรนต์เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการขึ้นเงินเดือน 8% ให้อาจารย์มหาวิทยาลัย และให้นำเรื่องนี้เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ

แต่อนิจจา รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีอันเป็นไปต้องพ้นตำแหน่งก่อนหมดวาระ ทำให้เรื่องการขอปรับเงินเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องชะงักไป

หลังจาก คสช.ยึดอำนาจการปกครองในปี 2557 และมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศ อาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งก็ได้ไปยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมตามวิธีการปกติ โดยคิดว่ารัฐบาล คสช.จะแก้ปัญหาให้อาจารย์มหาวิทยาลัยได้รวดเร็วเพราะมีมาตรา 44 อยู่ในมือ แต่เรื่องนี้ก็ไม่คืบหน้าเหมือนเดิม

ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีกลุ่มอาจารย์เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด โดยเริ่มจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

ในช่วง พล.อ.ดาว์พงษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนี้ดูเหมือนจะก้าวหน้าที่สุด กล่าวคือ กพอ.เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนให้อาจารย์มหาวิทยาลัย 8% และมีมติให้นำเรื่องนี้เสนอ ครม.

แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้เข้า ครม.จริงๆ เพราะเลขาธิการ ครม.ได้ส่งเรื่องนี้ไปให้สำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นก่อน สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วก็ไม่สามารถให้ความเห็นได้ จึงส่งเรื่องต่อให้รองนายกฯวิษณุพิจารณา รองนายกฯวิษณุก็ส่งเรื่องนี้ไปให้ ก.พ.พิจารณาทั้งระบบ แล้วเรื่องก็เงียบหายไป

ในที่สุด พล.อ.ดาว์พงษ์ก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พอเปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ ทุกอย่างก็ต้องมาเริ่มตั้งต้นนับหนึ่งใหม่เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

และไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่ละท่านยอมรับและเข้าใจว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยได้เงินเดือนน้อยกว่าครูประถม 8%

ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะได้เงินเดือนน้อยกว่าครูประถม

ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว

คนที่เสียสละมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ล้วนแต่เป็นคนเก่ง ในสาขาเหล่านั้น กลับต้องมารับเงินเดือนน้อยกว่าออกไปทำงานอาชีพอื่น

อาจารย์นิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยซึ่งจบปริญญาโท ปริญญาเอกมา และเรียนกฎหมายมาเหมือนผู้พิพากษา อัยการ และยังเป็นผู้สอนผู้พิพากษาและอัยการแต่กลับได้รับเงินเดือนต่ำกว่าลูกศิษย์ที่ตัวเองสอนมาหลายเท่า

เช่นเดียวกันอาจารย์แพทย์และวิศวะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเรียนยากกว่าสาขาอื่นๆ แต่อาจารย์แพทย์และวิศวะกลับได้รับเงินเดือนเท่ากับข้าราชการพลเรือนทั่วไป

ท่านทราบไหมหากอาจารย์แพทย์-วิศวะไปทำงานเอกชนจะได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนบาท แต่อาจารย์เหล่านี้กลับยอมเสียสละทำงานในมหาวิทยาลัย

อาจารย์ศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ก็เช่นกันทำงานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกับครูประถม และทำหน้าที่สอนหนังสือเหมือนๆ กัน แต่กลับได้เงินเดือนน้อยกว่าลูกศิษย์ตนเองที่ไปสอนระดับประถมศึกษาถึง 8%

เรื่องนี้นอกจากเป็น Unseen in Thailand แล้วยังน่าจะเป็น Unseen in the World

ในช่วงต้นปี 2561 ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องขอให้ปรับเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้เท่ากับครูประถมกันอีกรอบ

จะเห็นได้ว่าการเรียกร้องของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีมาอย่างต่อเนื่องและทำท่าเกือบจะสำเร็จหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จจริงสักที

ล่าสุดหลังประชุม กพอ. นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าจะแก้ปัญหาเรื่องการปรับเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้เท่ากับครูประถมให้เสร็จภายใน 3 เดือน

ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าจะสามารถทำได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยอยากให้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหามากกว่า

หลังจากรายการขีดเส้นใต้ของคุณสุภาพ คลี่ขจาย นำเสนอเรื่องนี้ออกไปเมื่อต้นเดือนมกราคม 2561 ก็มีคนระดับรัฐมนตรีโทรไปหาคุณสุภาพว่าจะดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ให้โดยเร่งด่วน

นี่ก็ผ่านมา 4 เดือนแล้ว เรื่องการปรับเงินเดือนของอาจารย์มหาวิทยาลัยให้เท่ากับครูประถมก็ยังไปไม่ถึงไหน

ดูแล้วเรื่องนี้หากนายกรัฐมนตรีไม่ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาให้อาจารย์มหาวิทยาลัยก็คงยากที่จะทำให้ความฝันของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นจริง

นายกฯใช้มาตรา 44 แก้ปัญหามาแล้วเป็น 100 เรื่อง จะใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาเรื่องนี้อีกสักเรื่องไม่ได้เชียวหรือ

หากนายกฯไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ มันคงจะถึงเวลาแล้วที่อาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งประเทศจะต้องออกมาเรียกร้องความชอบธรรมให้กับตัวเองกันเสียที

สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image