ชม‘ปรากฏการณ์สนุกๆ’จากเครื่องบิน : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ภาพที่ 1 : เงาเมฆและรังสีครีพัสคิวลาร์ 4 พฤษภาคม 2560 18.31 น. ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ
บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

ขึ้นเครื่องบินทีไร ผมมักจะเลือกที่นั่งติดหน้าต่าง เพราะนอกจากจะได้ชมเมฆแบบเต็มอิ่มแล้ว บางครั้งอาจโชคดีเก็บภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติสนุกๆ ไปฝากเพื่อนๆ ในชมรมคนรักมวลเมฆได้
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างปรากฏการณ์ที่ขอแนะนำ และวิธีการลุ้นหาครับ ขอแบ่งเป็น 3 กรณี คือ (ก) นั่งฝั่งดวงอาทิตย์ (ข) นั่งฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ และ (ค) นั่งหลังปีก

กรณี (ก) ถ้าคุณนั่งฝั่งเดียวกับดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็น

⦁ หากดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า : คุณมีสิทธิลุ้นเงาเมฆและรังสีครีพัสคิวลาร์ที่พาดยาวมากๆ ดังภาพที่ 1
⦁ หากดวงอาทิตย์อยู่ไม่สูงมากนัก : คุณมีสิทธิลุ้นปรากฏการณ์ทรงกลด (halo phenomena) แบบแปลกๆ ที่อาจเห็นได้ยากหากอยู่ที่พื้น อย่างภาพที่ 2 คือ การทรงกลดแบบซับซัน (subsun) ซึ่งเป็นแถบแสงที่อยู่ใต้วงกลม 22 องศา คำว่า sub หมายถึง อยู่ใต้ + sun คือ ดวงอาทิตย์ (ในกรณีพิเศษ เราอาจเห็นซับซันเมื่ออยู่บนพื้นผิวโลกได้หากใกล้พื้นผิวมีไดมอนต์ดัสต์ (diamond dust) ซึ่งเป็นผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กจิ๋วล่องลอยอยู่)

ภาพที่ 2 : อาทิตย์ทรงกลดแบบวงกลม 22 องศา และซับซัน
7 สิงหาคม 2555 17.35 น.
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

กรณี (ข) ถ้าคุณนั่งฝั่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์

Advertisement

⦁ หากดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า : คุณจะมีสิทธิลุ้นรังสีแอนติครีพัสคิวลาร์ที่พาดยาวมากๆ
⦁ หากดวงอาทิตย์อยู่สูงพอประมาณ : คุณจะมีสิทธิลุ้นกลอรี่และรุ้งเผือก โดยกลอรี่จะอยู่ที่จุดศูนย์กลางของรุ้งเผือก (อ่านเรื่อง ‘ท่องฟ้า…หา Glory’ ได้ที่ www.matichon.co.th/news/614398 และเรื่อง ‘ซูเปอร์รุ้ง รุ้งเผือก & รุ้งแฝด’ ได้ที่ www.matichon.co.th/news/686439)

กรณี (ค) ถ้าคุณนั่งหลังปีก

⦁ ระหว่างเครื่องบินกำลังขึ้นหรือลง คุณจะมีสิทธิลุ้นวอร์เทกซ์ที่ปลายปีก (wingtip vortex) ปรากฏการณ์นี้อาจเกิดที่บริเวณอื่นนอกจากปลายปีกได้ด้วย เช่น ขอบแฟล็บ (flap) ดูภาพที่ 3 ครับ

Advertisement
ภาพที่ 3 : วอร์เทกซ์ที่ปลายปีก (Wingtip Vortices)
13 มีนาคม 2555 7.22 น.
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณผู้อ่านอาจนึกสนุกอยากลุ้นเก็บภาพปรากฏการณ์เหล่านี้บ้าง หลักการคือ คุณจะต้อง….

⦁ เลือกช่วงเวลาเดินทางขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่สูงพอเหมาะ (ตามลักษณะปรากฏการณ์)
⦁ เลือกที่นั่งติดหน้าต่างให้ตรงตามเงื่อนไขของแต่ละปรากฏการณ์

ลองดูสถานการณ์ตัวอย่างกัน สมมุติว่าคุณจะบินออกจากกรุงเทพฯไปหาดใหญ่ช่วงเช้า กล่าวคือ มุ่งลงใต้โดยมีดวงอาทิตย์อยู่ทางซ้ายมือ ดูภาพที่ 4 ครับ และสมมุติต่อว่าคุณนั่งเครื่องของ Nok Air แบบ Boeing 737-800 ที่นั่งฝั่งซ้ายติดหน้าต่างคือ A ที่นั่งฝั่งขวาติดหน้าต่างคือ K ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 4 : เส้นทางการบินจากกรุงเทพฯไปหาดใหญ่ในช่วงเช้า
ภาพที่ 5 : แผนผังที่นั่งในเครื่องบิน Boeing 737-800

 

ดังนั้น
กรณี (ก) นั่งฝั่งดวงอาทิตย์ คือเลือกที่นั่ง A เพื่อลุ้นอาทิตย์ทรงกลด เงาเมฆ และรังสีครีพัสคิวลาร์ แต่ควรนั่งห่างปีก เช่น 32A-37A และ 54A-61A
กรณี (ข) นั่งฝั่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ คือเลือกที่นั่ง K เพื่อลุ้นรังสีแอนติครีพัสคิวลาร์ กลอรี่ รุ้งเผือก แต่ควรนั่งห่างปีกเช่นกัน

กรณี (ค) นั่งหลังปีก เพื่อลุ้นชมวอร์เทกซ์ปลายปีก เลือกที่นั่ง A หรือ K ก็ได้ ตั้งแต่แถวที่ 51 ลงไปจนถึง 61

ได้ทราบเคล็ดวิชาเลือกที่นั่งเครื่องบินเพื่อลุ้นชมปรากฏการณ์ท้องฟ้าสนุกๆ แล้ว นั่งเครื่องบินคราวหน้า คว้าบทความนี้มาอ่าน แล้วเลือกที่นั่งเหมาะๆ นะครับ…ขอให้โชคดี!


ขุมทรัพย์ทางปัญญา
สามารถค้นภาพเลขที่นั่งของเครื่องบิน ได้ด้วยคำว่า seat map ตามด้วยชื่อสายการบิน


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image