สถานีคิดเลขที่12 : ตำนานอีกหน้า

เรียกเสียงเฮทั่วประเทศ และทั่วโลก เมื่อทีมกู้ภัยไทย-นานาชาติ ช่วย 13 หมูป่าพ้นถ้ำหลวงออกมาได้ทั้งหมด หลังจากติดอยู่ 18 วัน ตั้งแต่บ่ายสามโมงของวันที่ 23 มิ.ย.

ชุดสุดท้าย 5 คนของทีมหมูป่า รวมถึงโค้ชของทีมด้วย กลับออกมาในตอนบ่ายวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา

บริเวณนั้น ข้อมูลจากกลุ่มนักดำน้ำนานาชาติระบุว่า อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวประมาณ 800-1,000 เมตร (1 กม.) หรือ 2,624-3,280 ฟุต

สภาพถ้ำที่มีน้ำท่วมในหน้าฝนและยังแคบ มืด จึงกลายเป็นงานหิน บรรดานักดำน้ำลึก นักดำน้ำในถ้ำที่มีประวัติในด้านงานกู้ภัยถูกเรียกตัวด่วนมาทำงานชิ้นนี้

Advertisement

เท่าที่อ่านจากข่าว แต่ละคนรีบหอบอุปกรณ์หนัก 4-500 กก.ขึ้นเครื่องบินมาทันที ทีมใหญ่สุดคงเป็นทีมอังกฤษ ที่มากัน 10 คน หรือ 11 คน กลับไปตามนัดหมายแพทย์แล้ว 1 คน และชุดแรกที่พบ 13 หมูป่า ก็คือนักดำน้ำจากอังกฤษ

นอกนั้นคือชาติอื่นๆ อาทิ คุณหมอนักดำน้ำสำรวจจากออสเตรเลีย และยังมีนักดำน้ำต่างชาติที่มาพำนักในไทย อย่าง 3 คน ที่มาจากเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เป็นชาวเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และแคนาดา

ถนนนักดำน้ำสำรวจกู้ภัยทุกสายมุ่งมาไทย ผสมผสานกับทีมซีลของไทย ทั้งประจำการและนอกประจำการ ทำงานกันหนักในแบบทีมงานนิรนาม และเสียสละชีวิตไป 1 คน คือ จ.อ.สมาน กุนัน หรือ “จ่าแซม”

Advertisement

นั่นคืองานกู้ภัยในถ้ำ แต่ด้านนอกถ้ำก็มีความสำคัญ เจ้าหน้าที่ทางการมากันครบทั้งพลเรือน ตำรวจและทหาร

มูลนิธิที่ปกติจะทราบว่าชำนาญภัยทางถนน รอบนี้มีทีมปีนเขา สะพายเชือกโรยตัวหาปล่องหาโพรงร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมถึงทีมเก็บรังนกจากเกาะลิบง ตรัง

ยังมีทีมสูบน้ำ ทีมสูบบาดาลของเอกชน หลายคนคงได้เห็นเครื่องสูบพญานาคยักษ์ที่เป็นภูมิปัญญาไทย เดินทางมาจากจังหวัดภาคกลาง ทำงานหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำในถ้ำลดระดับลงไป

ทั้งหมดนี้ ประกอบกันเข้าเป็นทีมกู้ภัยที่ทรงประสิทธิภาพ เมื่อภารกิจสำเร็จ ต่างคนต่างเก็บของเก็บอุปกรณ์แยกย้ายกันกลับไปสู่ชีวิตปกติของตนเองอย่างเงียบๆ เป็นภาพที่เห็นได้ตลอดวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทิ้งผลงานประวัติศาสตร์ไว้ให้จดจำกันอีกยาวนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image