‘ก่อน’เหมือน‘หลัง’ โดย นฤตย์ เสกธีระ

ทําไมนะ ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ยิ่งรู้สึกเหมือนกับได้ดูหนังฉายซ้ำ

อะไรที่เคยเกิดขึ้นเมื่อก่อนรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตอนนี้กำลังย้อนกลับมาให้ได้เห็น

แม้ตัวละครจะเปลี่ยนแปลง วันนี้ไม่มี ทักษิณ ชินวัตร ไม่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แม้วันนี้กฎกติกาจะเปลี่ยนแปลง

Advertisement

แต่วิธีการ วิธีปฏิบัติในการแย่งชิงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ยังถอดแบบมาเหมือนเก่า

ลองนึกๆ ลองเปรียบเทียบการเมืองก่อนการรัฐประหารเมื่อปี 2557 กับปัจจุบันนี้ว่ามีอะไรเปลี่ยนบ้าง

นึกถึงช่วงเวลาที่พรรคไทยรักไทยก่อตั้ง ขณะที่ต้องจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้ง

Advertisement

ตอนนั้น การรวบรวมสมาชิกเข้าพรรคถูกโจมตีจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างหนัก

พรรคประชาธิปัตย์โจมตีว่า พรรคไทยรักไทย “ตกเขียว”

ทักษิณดึงนักการเมืองรุ่นเก๋าเข้าร่วม มี เสนาะ เทียนทอง เป็นดาวเด่น

สุดท้ายพรรคไทยรักไทยก็ได้เฮ ทักษิณได้เป็นนายกฯ

มาดูยุคนี้ ในช่วงที่พรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อ “พลังประชารัฐ” กำลังคึกคัก เพราะมีข่าวว่าเป็นพรรค คสช.

ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐกำลังเผชิญหน้าข้อกล่าวหา “ดูด ส.ส.”

ดึงนักการเมืองรุ่นเก๋าเข้าร่วมพรรค มีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และร่วมกันโหวตตั้งนายกรัฐมนตรี

แหม! ทำไมเป้าหมายและวิธีการถึงเหมือนกับยุคก่อนหน้านี้ชะมัด

ย้อนกลับไปยุคก่อนการรัฐประหารอีกครั้ง

ไปดูวิธีการจัดงบประมาณของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทั้งงบประมาณกลางปี และ “งบกลาง”

ครานั้นรัฐบาลทักษิณถูกโจมตีว่า งบประมาณทั้งหมดที่ดำเนินการ ทำไปเพื่อหาเสียง

โดยเฉพาะ “งบกลาง” ที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจใช้ โดยฝ่ายนิติบัญญัติยากที่จะตรวจสอบนั้น ก้อนโตเหลือเกิน

ช่วงนั้นนอกจากจะถูกโจมตีเรื่อง “หาเสียง” แล้ว ยังมีการกล่าวหาว่า “ทุจริต” ด้วย

แต่พอรัฐบาลทักษิณจากไป ประเทศไทยมีรัฐบาลชุดอื่นขึ้นมาบริหาร

ปรากฏว่า ทุกรัฐบาลยังนิยมการจัด “งบประมาณกลางปี” และ “งบกลาง” แบบเดียวกับทักษิณ

เช่นเดียวกับ ครม.สัญจร

สมัยรัฐบาลยุคก่อนยึดอำนาจ มีการสัญจรลงพื้นที่ และอนุมัติงบประมาณให้พื้นที่นั้นๆ อยู่เนืองๆ

การดำเนินการของรัฐบาลถูกโจมตีเรื่องหาเสียง

ใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีประชาชนไปหาเสียง

ณ ปัจจุบันนี้

รัฐบาลจัดคิวออกตระเวนไปทั่วประเทศ ดังนั้น หากมีข้อครหาเรื่อง “หาเสียง” ก็อย่าโมโห

เรื่องแบบนี้เคยมีการโจมตี หากจะให้หยุดโจมตีก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ

เช่นเดียวกับการผลักดันนโยบายเพื่อดูแล “รากหญ้า”

สมัยรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรียกนโยบายที่ดูแลรากหญ้าว่า “ประชานิยม”

นโยบายดังกล่าวถูกโจมตีว่า “หาเสียง” ประชาชนที่นิยมนโยบายนั้น ถูกมองว่า “โดนซื้อ”

ตอนนั้นรัฐบาลทักษิณไม่อยู่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้มไป

รัฐบาลชุดใหม่ก็ยังคงมีแนวทางช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้เหมือนเดิม

เพียงแต่เปลี่ยนคำ จาก “รากหญ้า” ไปเป็น “รากแก้ว” บ้าง เป็น “ฐานราก” บ้าง

ส่วนนโยบายที่เคยถูกเรียกว่า “ประชานิยม” ได้เปลี่ยนไปเป็น “ประชารัฐ” แทน

ตัวอย่างที่ยกมาไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้นผิดหรือถูก

เพียงแต่อยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า ก่อนและหลังยึดอำนาจ แทบไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมาประเทศไทยเสียทั้งเวลา โอกาส งบประมาณ รวมถึงความสามัคคี

เราสูญเสียสิ่งต่างๆ ไป โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

เสียดาย!

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image