สถานีคิดเลขที่ 12 : ผิด กม.ก็แจ้งจับ : โดย นฤตย์ เสกธีระ

กรณีสื่อต่างประเทศเข้าไปสัมภาษณ์ทีมหมูป่าอะ3คาเดมี่ที่ จ.เชียงราย ที่เพิ่งพ้นถ้ำออกมา แล้วเกิด “ดราม่า” ขึ้นในแวดวงออนไลน์นั้น

ขอบอกว่า หากสื่อต่างประเทศทำผิดกฎหมายก็ให้แจ้งความดำเนินคดี
ความจริงแล้วเรื่องการสัมภาษณ์เด็กๆ ในกรณีถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีการเตือนกันเป็นลำดับ
เป้าหมายหลักคือ เกรงกระทบจิตใจเด็กๆ ที่ติดอยู่ในถ้ำ

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้นำเอาข้อเท็จจริงในระหว่างนั้นทยอยออกมานำเสนอ
เรื่องการช่วยเหลือนั้นดูเหมือนจะไม่มีใครห้ามปราม
การสูญเสียชีวิตของ “จ่าแซม” เป็นที่ทราบกัน และทุกฝ่ายให้การยกย่องในความเสียสละ
รวมไปถึงน้ำจิตน้ำใจจากทุกๆ ความช่วยเหลือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายอย่างที่สื่อจำเป็นต้องแสวงหาหลังจากเหตุการณ์
กรณีการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไปยังจังหวัดพะเยานั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง
โดยเฉพาะสาเหตุที่ย้ายที่เป็นกระแสว่าเกี่ยวกับการไม่ยอมเซ็นผ่านโครงการที่มีพิรุธ
อันนี้จริงหรือเท็จประการใดก็ยังไม่มีใครยืนยัน

แต่เป็นเรื่องที่สมควรหาคำตอบ

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เกิดขึ้นกับทีมหมูป่าในถ้ำตลอด 10 วันที่ผ่านมา ซึ่งใครคนไหนก็ไม่อาจรู้ได้
การเข้าไป การหนีน้ำ การดำรงอยู่ และอื่นๆ ที่เป็นมุมมองของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ
หากจะถอดบทเรียนจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ก็จำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงจาก “ผู้ประสบภัย” ด้วย
เข้าใจว่าสื่อนอกเองก็ต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ จึงเข้าไปสัมภาษณ์เด็ก
แต่การเข้าไปทำหน้าที่ของเขาถูกมองว่าผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกเป็นห่วง

“รู้สึกเป็นห่วง หลังสื่อต่างชาติไปสัมภาษณ์สมาชิกทีมหมูป่า กลัวว่าจะทำให้สื่ออื่นๆ ทำตาม
เพราะแม้สื่อไทยจะอยู่ในระเบียบ แต่สื่อต่างชาติกลับไม่ทราบว่ามีข้อห้ามหรือเตือนอะไรบ้าง
ต่างชาติอาจไม่รู้พิษสงของการกฎหมายคุ้มครองเด็ก จึงกลัวว่าจะเกิดปัญหา แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
แต่ถ้าผิด ก็สามารถดำเนินคดีได้”

Advertisement

หากการสัมภาษณ์เด็กแล้วมีความผิด เจ้าหน้าที่ไทยต้องแจ้งความ
ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
แต่หากการทำหน้าที่ของสื่อต่างชาติไม่มีความผิดอะไร ก็ควรปล่อยให้เขาทำงานไป
การดำเนินการตามกฎหมายจะทำให้ทุกอย่างชัด

และการดำเนินการตามกฎหมายย่อมดีว่าการใช้ Hate Speech

เพราะใครเผลอไปด่าผ่านทางออนไลน์แล้วผู้ได้รับความเสียหายไปแจ้งความ ฐานทำผิด พ.ร.บ.คอมพ์ เรื่องราวก็ไม่จบ
เอาเป็นว่าทุกอย่างใช้กฎหมายเป็นบรรทัดฐานดีที่สุด
ส่วนกฎหมายจะมีมาตรฐานหรือไม่ เป็นข้อถกเถียงกันต่อไป
ตอนนี้ก็เฝ้าดูกรณีสื่อนอก

จับตาดูว่าเจ้าหน้าที่ไทยจะดำเนินการอย่างไร

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image