สถานีคิดเลขที่12 : จาการ์ตาโพสต์

เข้าใกล้ช่วงมหกรรมเอเชียนเกมส์ 2018 ที่จาการ์ตา-ปาเล็มบัง ใกล้เปิดฉาก อินโดนีเซียเกิดเหตุแผ่นดินไหวมรณะที่เกาะลอมบอกมาสองระลอกแล้ว ทำให้นักกีฬาและกองเชียร์ชักจะใจไม่ดี

แต่ถ้าเปิดแผนที่อาจสบายใจขึ้น เพราะลอมบอกกับจาการ์ตา บนเกาะชวา ห่างกันเกินพันกิโลเมตร และลอมบอกกับปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา ห่างกันเกือบสองพันกิโลเมตร จึงภาวนาว่าเอเชียนเกมส์ครั้งนี้จะผ่านพ้นไปด้วยดี เป็นสนามประลองฝีมือนักกีฬาของเอเชียได้สนุกเข้มข้น

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้เรารู้จักชาติร่วมภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น สมกับที่อยู่ในประชาคมเดียวกันและคบค้าสมาคมกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ชื่อของจาการ์ตาเริ่มเป็นที่พูดถึงในไทยมากขึ้น หลังมีบทความแสดงความเห็นของ Kornelius Purba ตีพิมพ์ใน “จาการ์ตาโพสต์” สั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหวขนาดย่อม

Advertisement

เมื่อกระตุ้นให้รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียหยิบยกเรื่องผู้นำรัฐบาลทหารไทยไม่เหมาะสมจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 หรือ 2562 หารือบนเวทีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงคโปร์

แต่สุดท้ายถ้าฟังตามคำให้สัมภาษณ์ของดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ท่านยืนยันว่าไม่มีใครบนเวทีดังกล่าวพูดเรื่องนี้เลย และเวลาประชุมทวิภาคีก็ไม่มีใครถาม

รัฐมนตรีดอนยังกล่าวถึงความเชื่อที่ตัดสินจากมุมมองของท่านด้วยว่า “เรื่องนี้ต่างชาติเขาไม่สนใจ ตรงกันข้าม เขารอคอยวันที่เราเป็นประธานอาเซียน อยากให้เราทำนั่นทำนี่ ความเป็นจริงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับข่าวที่ปรากฏในที่ประชุม”

Advertisement

ถ้าคิดเช่นนี้แล้วสบายใจเหมือนที่คิดไปเองว่ามีประชาชน (เพียงหยิบมือ) สนับสนุนการรัฐประหาร ก็คงไม่มีใครทำอะไรได้

แต่ประเด็นประธานอาเซียนไม่ควรเป็นผู้นำจากการรัฐประหารนั้นถึงไม่ได้พูดวันนี้ วันหน้าก็ต้องพูดอยู่ดี

ไม่ใช่เพราะบทความของสื่อมวลชน แต่เป็นประวัติศาสตร์ของอาเซียนที่ชัดเจน เมื่อครั้งที่ พล.อ.ตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียน เมื่อปี 2549

ตำแหน่งประธานอาเซียนในตอนนั้น จาก M มาเลเซีย ข้าม M เมียนมา ไปถึง P ฟิลิปปินส์แทน ก็เพราะเงื่อนไขเดียวกัน
หากเสิร์ชหาประวัติศาสตร์ส่วนนี้ในกูเกิล จะพบบทความความคิดเห็นประเด็นนี้ทั้งในบางกอกโพสต์ รวมถึงจาการ์ตาโพสต์ ปี 2548 ว่า “หากพม่าต้องการจะดำรงภาวะคล้ายสงครามต่อไปก็ต้องทำไปตามเงื่อนไขนั้นโดยตัวเอง ไม่ควรทำให้ชื่อเสียงของอาเซียนด่างพร้อย หรือทำให้สัมพันธภาพของประเทศสมาชิกที่มีต่อมิตรประเทศเสียหาย”

ประโยคนี้ชัดเจนและควรทำให้เสมอภาค เพราะการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นเป็นตัวแทนประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ยังหมายรวมถึงการเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียนโดยรวมด้วย

หากคนในประเทศไทยนิยมชมชอบให้ทหารเป็นผู้นำ หรือชอบระบอบการยึดอำนาจก็เป็นเรื่องของไทยเอง ไม่ควรไปยัดเยียดให้ชาติอื่น

โดยเฉพาะประเทศที่มีพัฒนาการแยกทหารออกจากการเมืองไปแล้ว ไม่ว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จะดึงให้เขาถอยหลังกลับมาทนทำไม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image