เงื่อนไขรัฐประหาร

การออกมาพูดจาพาดพิงถึง “การรัฐประหาร” (ปฏิวัติ) โดยผู้นำเหล่าทัพชุดใหม่ในช่วงสัปดาห์ก่อน อาจเต็มเปี่ยมไปด้วยความหนักแน่น กระฉับกระเฉง

แต่ก็แฝง “ความไม่ชัดเจน” อยู่ในที

หากฟังจากถ้อยคำของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เรื่อยมาถึง พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในอีกสองวันต่อมา

ทั้งหมดล้วนมิได้ยืนยันชัดเจนว่าทหารจะทำรัฐประหารแน่ๆ

Advertisement

ทว่าการรัฐประหารคือแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขแบบ “ถ้า… ก็…”

ในกรณีนี้คือ “ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจลก็ไม่มีอะไร” ตามทรรศนะของ พล.อ.อภิรัชต์

เอาเข้าจริง การอ้างอิงถึงเงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดการรัฐประหารดังกล่าวไม่ได้สะท้อนเพียงแค่โลกทัศน์ของผู้ตอบ หากยังสะท้อนโลกทัศน์ของผู้ตั้งคำถาม ซึ่งนำไปสู่คำตอบของผู้นำเหล่าทัพ

Advertisement

เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราอาจพบเห็นอะไรบางอย่างซุกซ่อนอยู่ภายใต้สถานการณ์ “การจลาจลที่เกิดจากการเมือง” ซึ่งอาจนำไปสู่การรัฐประหาร (ครั้งใหม่)
หากขบคิดให้ดี แม้ประชาชนจะถือเป็นตัวละครหรือพลังขับเคลื่อนสำคัญของทุกๆ การจลาจล

แต่ประชาชนอาจมิใช่สาเหตุหลักของการจลาจล

สำหรับเหตุการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมือง เราไม่สามารถโยนภาระรับผิดชอบทั้งมวลให้ประชาชน เหมือนดังคำขู่/คำแนะนำที่ชอบพูดกันทำนองว่า “ถ้าได้เลือกตั้ง ก็ให้เลือกคนดีๆ ไม่ใช่เลือกเหมือนที่แล้วๆ มา”

ถ้าเชื่อตามวิธีคิดของ ผบ.ทบ. “การเมือง” ที่กระตุ้นให้ประชาชนออกมาจลาจลต่างหาก ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการรัฐประหาร

แม้ดูเหมือนว่าเวลา พล.อ.อภิรัชต์กล่าวถึง “การเมือง” เป้าหมายหลักจะยังคงเป็น “นักการเมือง” ดังสะท้อนผ่านประโยค “(ทหาร) ไม่ได้คิดแบบนักการเมืองว่าเราจะเข้ามา บริหารประเทศ” หรือ “นักการเมืองที่ดีก็มีและที่ไม่ดีก็มี”

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง “การเมือง” อาจมีขอบเขตความหมายกว้างขวางกว่านั้นมาก

อย่างน้อยนอกจาก “นักการเมือง” จากพรรคการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง (ซึ่งต่างกำลังปรับเปลี่ยนคลี่คลายสถานภาพมาเป็นพรรคการเมือง) เราคงยากปฏิเสธว่า “การเมือง” ควรหมายความรวมถึง “โครงสร้างทางการเมือง” ด้วย

เพราะองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ (รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง) ล้วนมีส่วนต่อการเกิดวิกฤตการเมืองหลายระลอกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเชื่อว่า “รัฐประหาร 2557” จำเป็นต้องเกิด เพื่อคลี่คลายปัญหาการจลาจลทางการเมือง

ต้นเหตุอาจไม่ได้จำกัดวงอยู่ที่เรื่องความขัดแย้งของสีเสื้อ การก่อตัวของกลุ่มนกหวีด ความผิดพลาดของรัฐบาลเพื่อไทย การเล่นเกมของพรรคการเมืองบางส่วน การนิรโทษกรรมสุดซอย หรือนโยบายจำนำข้าว ฯลฯ

แต่อีกด้านหนึ่ง กองทัพอาจออกมายึดอำนาจเพราะเห็นว่า “โครงสร้างทางการเมือง” ที่ถูกจัดวางไว้โดย “รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550” (ซึ่งเกิดจากรัฐประหารปี 2549) นั้น นำพาให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หรือ “เสียของ”

ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นจากหลังนี้ (แต่ให้ดี คือ ไม่ควรมี)

การตัดสินใจประหาร “รัฐ” ย่อมมิได้หมายถึงการปราบหรือปรามประชาชนให้เงียบสงบ มิได้หมายถึงการสยบให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองยุติกิจกรรมการเคลื่อนไหว

แต่ยังหมายถึงการระงับยุติโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิม ผ่านการ “ฉีกรัฐธรรมนูญ”

หากมีรัฐประหารเกิดขึ้นภายในปีสองปีนับจากนี้ นั่นก็หมายความว่าโครงสร้างทางการเมืองที่ คสช.พยายามจัดวางไว้ ผ่าน “รัฐธรรมนูญ 2560” ตลอดจน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นั้นมีปัญหา หรือรับมือกับสภาพการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปของประเทศได้ไม่ดีพอ

ทั้งหมดนี้ คือ การประเมินสถานการณ์ในอนาคตผ่านเงื่อนไขแบบ “ถ้า… ก็…”

ขณะที่ในสถานการณ์จริง คงเป็นอย่างที่ ผบ.ทสส.พูดย้ำว่าประเทศยังมีหนทาง อื่นๆ มากกว่าหนทางรัฐประหาร อันเป็นทางเลือกสุดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image