สถานีคิดเลขที่ 12 สู่ความรุนแรง โดยนฤตย์ เสกธีระ

เรื่องของเรื่องมันมาจากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ใช้คะแนนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวไปคำนวณหา ส.ส.ในสภา

เหมือนกับที่เคยบอกไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่า จากกติกาตามรัฐธรรมนูญ และสถิติตัวเลขการเลือกตั้ง

คำนวณกันแล้วคาดว่า ส.ส. 1 คน จะต้องใช้เสียงโหวตประมาณ 7-8 หมื่นคะแนน

ขณะที่คาดกันอีกว่า ส.ส.เขตแต่ละเขตที่ชนะจะได้คะแนนประมาณ 30,000 คะแนน

Advertisement

เท่ากับว่า ส.ส.เขต 1 คน ซึ่งหาคะแนนเข้าพรรคได้ 30,000 คะแนน ต้องไปลบคะแนนรวมของพรรคออกประมาณ 4-5 หมื่นคะแนน

รูปการณ์ออกมาแบบนี้ พรรคไหนได้ ส.ส.เขตมาก ก็มีโอกาสไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย

พรรคการเมืองต่างๆ เขาเชื่อกันแบบนี้

แม้ว่าจะมีเสียงค้าน ระบุว่าจะมีพรรคการเมืองที่รวมคะแนนทั้งหมดที่ได้ทั้งประเทศแล้วก็ยังไม่ได้ ส.ส.สักคน

จะมีคะแนน “ตกน้ำ” เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้พรรคใหญ่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากขึ้นไปด้วย

แต่พรรคการเมืองก็ยังมองว่า พรรคใหญ่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากแน่

ถ้าพรรคใหม่มีคะแนน “ตกน้ำ” จริง พรรคที่จะได้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นพรรคขนาดกลางๆ

ด้วยความเชื่อของพรรคใหญ่ดังกล่าว จึงเกิดชื่อพรรคที่จะทำหน้าที่กวาด ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างเดียว

ถือเป็นนวัตกรรมทางการเมือง

และพรรคที่ดูเหมือนจะตกเป็นข่าวในเวลานี้ คงหนีไม่พ้น “พรรคไทยรักษาชาติ” หรือ “ทษช.”

ตามข่าวที่ได้รับ เดาๆ เอาได้ว่า พรรค ทษช. นี้จะทำหน้าที่หลายประการ

หนึ่ง เป็นพรรคสำรอง เตรียมไว้รองรับ ส.ส.พรรคที่ถูกยุบทิ้ง เพราะการเมืองมันแรง

สอง เป็นพรรคที่มุ่งกวาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งรายละเอียดเป็นอย่างไรต้องค่อยๆ แกะรอยต่อไป

สาม เป็นพรคคพันธมิตรกับพรรคที่มีอุดมการณ์การเมืองเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สดับฟังมา เรื่องพรรค ทษช. นี่ ยังเป็นไอเดียที่ใกล้ๆ จะตกผลึก

แต่เป็นไอเดียที่ฝ่ายตรงข้ามเริ่มขยับจะยื่นฟ้อง

เมื่อฝ่ายหนึ่งมั่นใจว่าจะได้รับคะแนนนิยมสูง อีกฝ่ายหนึ่งไม่มั่นใจ จึงใช้กฎเกณฑ์ควบคุมจำนวน ส.ส.ที่จะได้

ฝ่ายที่มั่นใจในคะแนนนิยมจึงหาหนทางต่อสู้บนกติกาใหม่

อีกฝ่ายจึงจับจ้องที่จะฟ้องร้อง

ฟ้องร้องเพื่อยุบพรรค และเมื่อมีการแตกพรรค ก็ฟ้องเพื่อยุบพรรคที่แตกออกไปอีก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำว่าการต่อสู้ทางการเมืองยังเข้มข้น

ด้วยกติกาที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะ “ไม่เสียของ” กำลังจะนำไปสู่ความขัดแย้งซ้ำ

ถ้ากติกาดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

ความขัดแย้งดังกล่าวก็จะวนเวียนอยู่บนสังเวียนการเมือง

แต่ถ้ากติกาที่ว่าไม่สอดคล้องกับความต้องการของคน

ความขัดแย้งก็คงจะบานปลาย

ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ความรุนแรง เกิดการจลาจล และเกิดการรัฐประหาร

ตอนนี้เส้นทางสู่ความขัดแย้งเริ่มเห็นชัด

วงจรอุบาทว์กำลังกลับมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image