เสียงข้างน้อยปชป.

ประชาธิปัตย์เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่น่าสนใจในสนามเลือกตั้งที่จะถึงนี้

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ประชุมใหญ่ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการ

ผลปรากฏออกมาอย่างที่ทราบ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนเก่า ได้เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง

Advertisement

ทีมบริหารก็ยังเป็นชุดเก่า จะมีเปลี่ยนแปลงระดับรองหัวหน้าพรรคก็เช่น รองหัวหน้าพรรคภาค กทม.

เปลี่ยนจาก นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ มาเป็น นายสรรเสริญ สมะลาภา

ส่วนนายองอาจโยกไปนั่งเป็น 1 ใน 11 กรรมการสรรหาผู้สมัคร ซึ่งมี นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นประธาน มี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นที่ปรึกษา

Advertisement

จากมติของการประชุมดังกล่าวทำให้เห็นว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยังศรัทธานายอภิสิทธิ์

นี่ถือเป็นอีกครั้งที่แสดงความศรัทธา

เพราะก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์เคยลาออกจากตำแหน่ง และเมื่อมีการเลือกตั้งหัวหน้า นายอภิสิทธิ์ก็ได้กลับมา

คราวนี้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกพรรคเลือกหัวหน้า

นายอภิสิทธิ์ก็ยังกลับมา แสดงว่าคนประชาธิปัตย์ยังเชื่อมั่น

เมื่อเชื่อมั่นในตัวหัวหน้าเก่า การยืนยันชุดบริหารเดิมก็ไม่ใช่เรื่องผิดวิสัย

อย่างไรก็ตาม การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์นำเอาวิธีการหยั่งเสียงมาใช้

ผลการหยั่งเสียงปรากฏเป็นคะแนน

คะแนนที่น่าสนใจคือคะแนนระหว่างนายอภิสิทธิ์ 67,505 กับคะแนนของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม 57,689

เป็นคะแนนที่ห่างกันประมาณหมื่นคะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนที่มีนัยสำคัญ

นัยสำคัญแรกคือความต้องการของสมาชิกที่เห็นพ้องที่จะได้นายอภิสิทธ์มากกว่า

แต่ก็มีนัยสำคัญที่สองคือยังมีความต้องการของสมาชิกอีกจำนวนมากที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ประการแรก คือ เปลี่ยนแปลงภายในพรรค โดยทำให้ “ประชาธิปัตย์” สัมผัสได้ ทำงานเป็นทีม กระจายอำนาจสู่สาขาพรรค

ประการที่สอง คือ เปลี่ยนการเมืองให้สร้างสรรค์ และเป็นที่พึ่งของประชาชน

โดยการประกาศจุดยืนทางการเมือง นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ต้องเสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น

จะมุ่งเน้นการทำงาน จะไม่ทะเลาะเบาะแว้ง วิพากษ์วิจารณ์กับกลุ่มหรือพรรคการเมืองอื่น และเป็นนักประชาธิปไตยที่ไม่ต้องพูด แต่ทำ

ประการที่สาม เปลี่ยนประเทศให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลกภายใน 20 ปี

ข้อเสนอดังกล่าวของ นพ.วรงค์ ทำให้มีสมาชิกประชาธิปัตย์สนับสนุน 57,000 เสียง

แม้ 57,000 เสียง จะเป็นเสียงข้างน้อยเมื่อเทียบกับ 67,000 เสียง

แต่สำหรับระบอบประชาธิปไตยแล้ว เสียงข้างน้อยที่มีจำนวนมากเช่นนี้ย่อมมีความหมายเสมอ

เป็นความหมาย หรือเป็นความหวังก็มิอาจคาดเดา

แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ มีคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น แม้ประชาธิปัตย์ยุคนี้จะมีหัวหน้าคนเดิม และมีกรรมการชุดเก่าเกือบหมด

แต่สำหรับจังหวะก้าวต่อไปของประชาธิปัตย์อาจจะมีจังหวะก้าวใหม่

หากพรรคประชาธิปัตย์ยังให้ความสำคัญกับ 57,000 เสียง

เสียงที่เทให้ นพ.วรงค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image