‘ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์’

ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักมานุษยวิทยาอาวุโสที่สำคัญท่านหนึ่งของเมืองไทย เพิ่งจะถึงแก่กรรมในวัย 85 ปี เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน

งานศึกษาของ ม.ร.ว.อคิน มักถูกจัดจำแนกออกเป็นสองประเด็น

ประเด็นแรก อยู่ในหนังสือคลาสสิก “สังคมไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ 2325-2416” ซึ่งพยายามอธิบายว่าระบบอุปถัมภ์และความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้คนนั้นมี “หน้าที่” หรือทำงานได้มีประสิทธิภาพอย่างไร ภายในโครงสร้างสังคมไทย ณ ยุคสมัยหนึ่ง

อีกประเด็น คือ ชุดงานวิจัยที่ศึกษาถึงผลกระทบของการพัฒนาและความเป็นสมัยใหม่ซึ่งมีต่อสายสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คนในชุมชนแออัดต่างๆ

Advertisement

อย่างไรก็ดี งานทั้งสองส่วนของ ม.ร.ว.อคิน ไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่ส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน และมีจุดเชื่อมโยงถึงกันอยู่

ดังเนื้อหาที่ปรากฏในบทสรุปของหนังสือ “สรุปรายงานภาพรวมโครงการวิจัย การเปลี่ยนแปลงสังคมไทย พ.ศ.2500-2550 ศึกษาผ่านประวัติของหลายชีวิตในชุมชน” (2561) ซึ่งเป็นผลงานวิชาการลำดับสุดท้ายของ ม.ร.ว.อคิน

ในบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ ม.ร.ว.อคิน ชี้ว่าพื้นฐานของสังคมไทยนั้นยอมรับความคิดเรื่อง “คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน” โดยได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนาพุทธร่วมกับฮินดู

Advertisement

สอดคล้องกับการทำความเข้าใจว่าการเลื่อนสถานะต่ำ-สูงทางสังคม ล้วนขึ้นอยู่กับความดี ความชั่ว และคุณธรรม ที่แต่ละคนเคยประกอบเอาไว้

ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวดำรงอยู่เคียงคู่กับ “ระบบอุปถัมภ์” ที่ลงหลักปักฐานในสังคมมาเนิ่นนาน

ทว่านับแต่ พ.ศ.2500 ซึ่งสังคมไทยได้รับเอาแนวคิดทุนนิยมประชาธิปไตยตามอิทธิพลตะวันตก มาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงต่อ “ระบบอุปถัมภ์” และ “ความไม่เท่าเทียม” แบบเดิม

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ ม.ร.ว.อคิน กล่าวถึง ก็คือ การเกิดขึ้นของ “ชนชั้น” แบบใหม่ ซึ่งมิได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่าง “ผู้ปกครอง” และ “ผู้ถูกปกครอง” ซึ่งมีหน้าที่ในสังคมต่างกัน ดังแต่ก่อน

หากหมายถึงกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและอาชีพแตกต่างกัน โดยแต่ละกลุ่ม/ชนชั้น ก็มี “ผลประโยชน์ร่วม” ที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของคนอีกกลุ่ม/ชนชั้น จนนำไปสู่การต่อสู้ต่อรองกัน

ท่ามกลางความผันแปรเหล่านั้น แม้ ม.ร.ว.อคิน จะมีความเห็นว่า “ความเชื่อในความไม่เท่าเทียมของคนในสังคมยังคงอยู่” แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คือ ความเชื่อเรื่องที่มาของฐานะตำแหน่งในสังคม

นักวิชาการอาวุโสท่านนี้อธิบายว่าคุณธรรม-ความดีงาม ซึ่งเคยเป็นแหล่งที่มาของสถานภาพทางสังคม ได้ถูกแทนที่ด้วยคุณค่าชนิดใหม่ นั่นคือ

“ความร่ำรวยอย่างเดียวโดยไม่สนใจว่าเงินทองเหล่านั้นได้มาด้วยวิธีการอย่างไร ผิดศีลธรรมหรือไม่ ทั้งนี้เพราะลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมแผ่เข้ามาครอบงำสังคม ทำให้คนเป็นปัจเจกคิดถึงแต่สิทธิประโยชน์ของตนและสภาพสังคมที่ทันสมัย ทำให้ความสำคัญของเงินตราเพิ่มขึ้นมากมาย…”

อีกหนึ่งคำถามที่ ม.ร.ว.อคิน ฝากเอาไว้ในหนังสือเล่มสุดท้าย ก็คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่าง “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” จะส่งผลอย่างไรต่อความเป็นประชาธิปไตย?

เพราะแต่เดิมความเชื่อเรื่อง “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” ใน “ระบบอุปถัมภ์” นั้นผูกพันกับหน้าที่ของคนทั้งสองกลุ่ม

แต่ความเปลี่ยนแปลงในรอบ 5 ทศวรรษ กลับค่อยๆ ผลักดันให้ “ผู้ใหญ่” ในชุมชนต่างๆ (ที่ ม.ร.ว.อคิน และคณะ เข้าไปศึกษา) สูญเสียความชอบธรรมในการปกครอง เพราะทำผิดหน้าที่ รังแกชาวบ้าน มิได้มีเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลต่อ “ผู้น้อย”

ด้วยเหตุนี้ “ผู้น้อย” จึงต้องหันไปใช้แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม มาต่อสู้ต่อรองกับ “ผู้ใหญ่”

สิ่งที่ ม.ร.ว.อคิน กังวล ได้แก่ ความสัมพันธ์ลักษณะนี้มักชักจูงให้ “ผู้ใหญ่/ผู้นำชุมชน” มีพฤติกรรมเป็นเผด็จการในท้ายที่สุด

รายละเอียดบางประการในการวิเคราะห์สังคมไทยของ ม.ร.ว.อคิน อาจไม่สอดคล้องกับความเห็นของใครหลายคน

แต่ในภาพรวมแล้ว ดูคล้าย ม.ร.ว.อคิน จะมองเห็นสภาพปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ลงตัวของสังคมไทย เช่นเดียวกับที่หลายฝ่ายตระหนักถึง

และยังร่วมกันหาทางออกชัดๆ ไม่พบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image