ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2

สัปดาห์ก่อน เกิดประเด็นถกเถียงทาง “การเมืองวัฒนธรรม” ที่ร้อนแรงพอสมควร

เมื่อหนังภาคต่อของ “ภาพยนตร์ชุด” ที่โด่งดังทั่วภาคอีสาน ทั้งยังมีฐานคนดูอีกกลุ่มเป็นคนอีสานในเมืองใหญ่ อย่าง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” เกือบไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์

จนต้องเลื่อนกำหนดการเปิดตัวจากวันที่ 22 เป็นวันที่ 24 พฤศจิกายน

สุดท้าย “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” ได้รับเรตติ้ง “น15+” และต้องตัดภาพที่ก่อให้เกิดปัญหาในมุมมองของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ออกไป

Advertisement

นั่นคือ ภาพเหตุการณ์ที่ตัวละครซึ่งสวมบทบาทเป็นพระบวชใหม่ เดินเข้าไปร้องไห้โอบกอดโลงศพของอดีตคนรักที่เพิ่งเสียชีวิต

ผู้เขียนไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาเรียบร้อย ตามประสาแฟนประจำที่ผูกพันกับหนัง “จักรวาลไทบ้าน” ตั้งแต่ภาค 1 และ 2.1

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ภาคล่าสุดยังบรรจุประเด็นน่าสนใจเอาไว้มากมายเช่นเคย

ข้อแรก ถ้าใครได้ดูหนังเต็มเรื่อง ย่อมพบว่า “ภาพพระร้องไห้กอดโลงศพอดีตคนรัก” เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของคำถามสำคัญกว่าที่เกิดขึ้นในใจของตัวละครชื่อ “พระ/ทิดเซียง”

นั่นคือคำถามว่าพุทธศาสนา/วัด/พระ ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหรือความทุกข์ทางโลกย์ได้หรือไม่? มากน้อยแค่ไหน?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำถามของ “พระ/ทิดเซียง” คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก ที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมมีหรือรู้สึกร่วมกันอยู่

ข้อสอง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” นำเสนอภาพแทนของหนุ่มสาวอีสานสองกลุ่มไว้อย่างน่าสนใจ

กลุ่มแรกปรากฏผ่านตัวละครชื่อ “ป่อง” ลูกผู้ใหญ่บ้านที่ไปร่ำเรียนจนจบปริญญาจากกรุงเทพฯ เขาเป็นคนช่างคิดช่างฝัน เจ้าไอเดีย ซึ่งทั้งหมดถูกนำเสนอด้วยศัพท์แสงสวยหรูทางการตลาด

“ป่อง” หวังจะพัฒนาบ้านเกิดด้วย “ความรู้” ของตน

กลุ่มหลังมีตัวแทนชื่อ “จาลอด” ไอ้หนุ่มไทบ้านที่แทบจะไม่เคยเดินทางออกไปนอกจังหวัดศรีสะเกษบ้านเกิด

“จาลอด” ไม่ได้เป็น “ชาวอีสานผู้เรียนรู้โลกกว้าง” แบบ “ป่อง” แต่เขาเป็นคนลงแรงประกอบสร้างให้ความคิดของเพื่อนรักกลายเป็นจริงขึ้นมา

รวมทั้งเป็นคนเอ่ยปากเตือนว่าสิ่งที่ “ป่อง” คิดว่ามันดีและใช่นั้น บางที “มันไม่ใช่และไม่เวิร์กสำหรับหมู่บ้าน”

ข้อสาม อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้ตัดรอน “ความฝัน” และ “ความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า” ซึ่งตัวละครหนุ่มสาวอีสานเหล่านั้นมีร่วมกัน

แต่นอกจากตัวพวกเขาเองแล้ว คนอย่าง “ป่อง” หรือ “จาลอด” ยังจะฝากความหวัง

ฝากอนาคตไว้กับใครอื่นได้อีก?

แนวคิด “บ้าน-วัด-โรงเรียน” และสถานภาพสูงส่งทรงอำนาจของ “ตัวแทนอำนาจรัฐ” ได้ถูกหนังในจักรวาล “ไทบ้าน” หยิบมาดัดแปลง เขย่า และหยอกล้อเสมอมา

จนคน/องค์กรของ “รัฐราชการ” เป็นเหมือนอวัยวะที่สิ้นไร้เรี่ยวแรง

“ตัวแทนรัฐ” หนึ่งเดียวที่ยังแอคทีฟอยู่ใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2” อย่าง “ครูแก้ว” ก็ทำได้แค่หว่านเงินซื้อตู้เย็น-มอเตอร์ไซค์ให้หนุ่มไทบ้านที่ตนหลงรัก และว่าจ้างลูกศิษย์วัยแตกเนื้อหนุ่มให้ยอมไปโรงเรียน

แต่ตรงช่วงท้ายๆ หนังกลับพูดถึงอนาคตและความหวังที่มาพร้อมกับนักแสดงรับเชิญ ซึ่งสวมบทเป็นนายธุรกิจรายใหม่ ผู้พร้อมจะร่วมลงทุนในธุรกิจ “สโตร์ผัก” ของ “ป่อง”

ด้านหนึ่ง นักแสดงรับเชิญคนนี้คือผู้อำนวยการสร้างของโปรเจ็กต์ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์”

สำหรับในโลกภาพยนตร์ การปรากฏตัวของเขาเป็นดังการเข้ามาเติมเต็มโอกาสและความคาดหวังของ “ชาวอีสานผู้เรียนรู้โลกกว้าง” และ “หนุ่มสาวอีสานผู้เปี่ยมความฝัน”

อีกด้าน ผู้อำนวยการสร้างหนังคนนี้ยังเป็นนักการเมือง เป็นอดีต ส.ส. ซึ่งเตรียมตัวจะลงสนามเลือกตั้งในต้นปีหน้า

นี่แสดงว่าแม้แต่หนัง “อีสานอินดี้” ก็ยังนับถอยหลังเฝ้ารอ “การเลือกตั้ง” ด้วยใจระทึก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image