‘เลือกตั้ง’ที่เรายังไม่เข้าใจ

การเลือกตั้งถือกำเนิดขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาทางการเมืองที่ซับซ้อน ในสังคมขนาดใหญ่ มีประชากรมากมายหลายหลากกลุ่ม

ถ้าไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความซับซ้อนเหล่านั้น และคิดว่าวิธีจัดการปัญหาในสังคมสมัยใหม่สามารถพึ่งพาเครื่องมือทางการเมืองที่เรียบง่าย ดิบๆ ตรงๆ ได้ เราก็ไม่ต้องใช้การเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเลือกตั้งกำลังจะหวนกลับมาอีกหน และดูเหมือนว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกแล้ว

การครุ่นคิดถึงการเลือกตั้งที่หลายคนเริ่มไม่คุ้นเคยก็ดูจะมีความจำเป็นอยู่ไม่น้อย

Advertisement

“การเลือกตั้ง 2562” ย่อมมีความหมาย “หลากหลาย” อย่างที่มันควรจะเป็น และอย่างที่สังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยควรจะเป็น

ยกเว้นการเลือกตั้งแบบพอเป็นพิธีในประเทศ ไม่มีการเลือกตั้งในสังคมประชาธิปไตยที่ไหน (ซึ่งอาจเสรี บริสุทธิ์ ยุติธรรม มากน้อยแตกต่างกันไป) ที่จะมีกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งได้ทุกอย่างสมความปรารถนาไปหมด และมีอีกฝ่ายที่ต้องสูญเสียทุกสิ่ง ไม่ได้-ไม่เหลืออะไรเลย

“การเลือกตั้ง 2562” ก็คงดำเนินไปเช่นนั้น

Advertisement

สำหรับผู้มีอำนาจ-นักการเมืองบางส่วน รัฐธรรมนูญและกฎกติกาทางการเมืองรอบนี้ อาจถูกออกแบบมาเพื่อ “พวกเรา”

สำหรับนักการเมืองหลายฝ่าย การคาดคะเนจำนวน ส.ส. และวิธีคิดคำนวณการได้มาซึ่งเก้าอี้ในสภา อาจเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะมีสูตรคณิตศาสตร์ทางการเมืองที่เชื่อถือได้รองรับอยู่

แต่ถ้าอะไรต่อมิอะไรล้วน “แน่นอน” ไปหมด “การเลือกตั้ง” ก็คงไม่ใช่ “การเลือกตั้ง” (ในระบอบประชาธิปไตย)

ปัจจุบัน เราอาจคาดการณ์ถึงการเลือกตั้งปีหน้า ผ่านมุมมองของพรรคการเมืองใหญ่ ว่าพวกเขาจะกอบโกยคะแนนเสียงได้อย่างไร? มากน้อยเท่าไหร่?

แต่เรายังไม่ค่อยได้คิดถึง “ประชาชน/ประชากร/ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสุดของการเลือกตั้งมากนัก

เรามีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่เคยมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งมาก่อน เพราะสุญญากาศการเมืองที่กินเวลายาวนานเกิน 7 ปี

น่าสนใจว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน? และมีกระบวนการคิดตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร?

“การเลือกตั้ง 2562” คือ การเปิดโอกาสให้นักการเมืองได้กลับมาแสดงบทบาทอีกครั้ง นักการเมืองที่น่าจะเชี่ยวชาญสนามเลือกตั้งและเข้าใจชาวบ้านมากกว่าทหาร

แต่หลายปีผ่านไป ชาวบ้านที่นักการเมืองคล้ายจะเข้าใจ ยังเหมือนเดิมอยู่แค่ไหน?

สิ่งที่ควรคำนึง คือ ชาวบ้าน/ประชาชนมักมีกลยุทธ์การต่อสู้ของตนเองเสมอ ท่ามกลางสภาวะทางการเมืองที่พลิกด้านไปมาระหว่าง “การเป็นประชาธิปไตย” และ “การไม่เป็นประชาธิปไตย”

เช่น รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารอาจผ่านประชามติในปี 2549 แต่ในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 พรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามการรัฐประหาร กลับชนะการเลือกตั้ง

นี่คือ “ฝันร้าย” ที่ยังหลอกหลอนใครหลายคน แม้กระทั่งเมื่อ “การเลือกตั้งปี 2562” เคลื่อนใกล้เข้ามา

เช่นเดียวกับนวัตกรรมล่าสุดของการเลือกตั้งไทย ที่บัตรลงคะแนนเสียงจะไม่มีสัญลักษณ์และชื่อพรรคการเมืองปรากฏอยู่

บางฝ่ายอาจคาดหวัง-ประเมินว่าเมื่อบัตรลงคะแนนเปลี่ยนแปลงไป การเลือกตั้งในปีหน้าจะกลายเป็นการเลือกตัวบุคคล มากกว่าเลือกพรรคหรือนโยบาย

นี่ย่อมเป็นการคาดเดาของคนออกแบบกติกาหรือคนที่กำลังจะแย่งชิงคะแนนเสียงกัน

แต่เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าประชาชนที่ต้องกาบัตรนั้น มีวิธีคิด-ตัดสินใจ และมีวิธีการจัดการกับบัตรลงคะแนนเสียงที่เปลี่ยนไป อย่างไรบ้าง?

“การเลือกตั้งปี 2562” จึงเป็นการย้อนกลับมาปะทะกันระหว่างคุณค่า ความหมาย ที่หลากหลายในทางการเมือง

นี่คือการเผชิญหน้าระหว่างคนหลายฝ่ายที่อาจจะไม่รู้จัก ไม่เข้าใจกันมากนัก เพราะขาดแคลนเครื่องมือกลางในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมาเนิ่นนาน

นี่คือการเลือกตั้งที่อาจไม่มี “หมาป่า” กับ “ลูกแกะ” ในนิทานเรื่องเดิม

เพราะบางที “หมาป่า” อาจมีหลายตัว ส่วน “ลูกแกะ” ก็อาจมีวิธีอยู่รอดใหม่ๆ ของตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image