สถานีคิด : ไหน-ไหนก็ไหน-ไหน

“พล.อ.ประยุทธ์เป็นข้าราชการ ดังนั้น ความเป็นข้าราชการมีกฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นกลาง แม้แต่รัฐมนตรีคนอื่นๆ หรือคนที่สมัครก็ต้องวางตัวให้เป็นกลาง จึงมีการแบ่งเรื่องในเวลาและนอกเวลาราชการ    (ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หากอยู่นอกเวลาราชการสามารถช่วยหาเสียงได้ใช่หรือไม่) …ไม่สมควร นายกฯคนก่อนหน้าหาเสียงได้เนื่องจากเขาเป็นผู้สมัคร และประชาชนต้องเลือก แต่กรณีผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือไม่มีใครไปเลือก แต่เป็นเรื่องที่พรรคเสนอ จึงไม่ควร และมีโอกาสเสี่ยงต่อความผิดหลายอย่าง ส่วนจะเป็นผิดอะไรบ้างนั้น ผมบอกกับ พล.อ.ประยุทธ์เองดีกว่า”

นั่นคือ คำแนะนำที่ นายวิษณุ เครืองาม มีถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากจะรับ “คำสู่ขอ” ให้ไปเป็นตัวแทนพรรคเพื่อชิงนายกรัฐมนตรี

อ่านแล้ว อึดอัดแทน

เวลาราชการ หาเสียงก็ไม่ได้

Advertisement

นอกเวลาราชการ ก็ยังหาเสียงไม่ได้อีก

ไม่เห็นมีประโยชน์ ที่จะนั่งอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อ

แต่ก็ควรสังเกตว่า คำแนะนำ “ให้ออก” ไม่หลุดออกจากปากของนายวิษณุ

Advertisement

และคงไม่มีวันหลุดออกมาแน่

เพราะถึงผู้สื่อข่าวจะไปถามจี้ไชวันละสามเวลา

ก็ไม่มีทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกจากนายกฯ อย่างเด็ดขาด

อึดอัดหาเสียงไม่ได้ ก็แค่ความรู้สึก

จะไปทิ้งอำนาจเต็มๆ “ครอบจักรวาล” และเป็นอำนาจนายกฯจริงๆ ตามบทเฉพาะการ รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ใช่รักษาการนายกฯด้วย

ใครเล่าจะลาออก

ฟันธงไปเลย พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่ง กระทั่งถึงวันมอบตำแหน่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามารับตำแหน่งอีกรอบนั่นแหละ–แฮ่ม

แต่กระนั้น ก็ยังเชียร์ผู้สื่อข่าว นักการเมือง รวมถึงประชาชนทั้งหลาย

ว่ายังมีสิทธิตั้งคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ วันละหลายๆ เวลา หรือทุกครั้งที่ปะหน้า เมื่อไหร่จะลาออกจากเก้าอี้   นายกฯ ไปแข่งขันแฟร์ๆ กับคนอื่น

เป็นความสมดุล อยู่ได้ ก็ถามได้!

อย่างไรเสีย พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่ไปไหน อยู่ปฏิบัติตามหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามปกติ

เพียงแต่การปฏิบัติหน้าที่ในช่วงนี้ จะออกไปในทาง “เอาใจ” ประชาชนมากหน่อย

ไม่ได้สิ ใช้คำว่า มากหน่อยไม่ได้สิ ต้องใช้คำว่า “เอาใจมากมาก” จนถึง “เอาใจมากสุดสุด”

เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหน ห้ามไม่ให้นายกรัฐมนตรีทำเพื่อเอาใจประชาชน

ว่าแล้วถือโอกาสเสนอแนะนายกรัฐมนตรีเรื่องเอาใจชาวบ้านเสียเลย

คือไหนๆ เราไปไกลถึงขนาด (ให้คนจน) กดเงิน 500 เอาไปใช้กันทั่วประเทศแล้ว

ทำไมไม่เอาใจคนทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอีก

แถมยังอยู่ในกรอบอำนาจของ “คณะรัฐมนตรี” ที่นายกฯนั่งเป็นประธานอยู่ด้วย

นั่นคือ หากพลิกปฏิทินดูวันหยุดปีใหม่ แม้จะยาว 4 วัน คือ 29-30-31 ธันวาคม และ 1 มกราคม 2562

แต่ดูจะไม่สุขสุดสุดเท่าไหร่

เพราะสำหรับคนที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัด เคาต์ดาวน์ คืนวันที่ 31 ธันวาคมแล้ว บางคนยังไม่สร่างดี ต้องรีบเดินทางกลับวันที่ 1 มกราคม เพื่่อให้ทันทำงานวันที่ 2 มกราคม

การเดินทางกลับในภาวะที่ร่างกายไม่พร้อม เป็นอันตรายต่อการเดินทาง

ตัวเลขอุบัติเหตุอาจเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงลำบาก

ทำไมนายกฯ-คณะรัฐมนตรี ไม่เอาใจชาวบ้าน

ให้เขาได้มีวันหยุดเพิ่มอีก 1 วัน คือวันที่ 2 มกราคม

นอกจากจะได้ทำบุญ อวยพร ญาติพี่น้อง ในวันปีใหม่ แบบไม่ต้องรีบ กลับสบายๆ วันที่ 2 มกราคม อุบัติเหตุก็อาจลดลง

ที่สำคัญเสียงเชียร์ กระหึ่มแน่

ไหนๆ ก็ไหนๆ เอาเล้ย ท่านนายกฯ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image