ซ้ำรอย-โมฆะ

ประเทศไทยเต็มไปด้วยกับดัก หลุมพราง

ปมที่ถกเถียงกันอยู่ขณะนี้เป็นหนึ่งในนั้น

การเลือกตั้งทั่วไปภายใน 150 วันนับแต่กฎหมายลูก 4 ฉบับบังคับใช้นั้น รวมประกาศรับรองผลเลือกตั้งด้วยหรือไม่

ที่เรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

Advertisement

เนื่องจากการขยับวันเลือกตั้งออกไปจากปฏิทินเดิม 24 กุมภาพันธ์ พรรคการเมืองและ นักวิชาการเกรงว่าเมื่อลากขยับใกล้กำหนด 150 วัน หรือ 9 พฤษภาคมมากเพียงใด โดยไม่เผื่อเวลา กกต.พิจารณาประกาศผลเลือกตั้ง ก็มีความเสี่ยงสูงที่การเลือกตั้งอาจโมฆะ

โมฆะเนื่องจาก หาก กกต.รับรองผลเลือกตั้งไม่ทัน 9 พฤษภาคม หรือมากกว่า 150 วัน

อาจมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่

Advertisement

แม้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่มีปัญหา เลือกตั้งแล้ว ประกาศรับรองผลเกิน 150 วันได้

แต่วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายรัฐบาล เห็นแย้ง-ยอมรับเรื่องนี้เป็นปัญหาจริง

เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ 2 มาตราในรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 85 ในบทถาวรเขียนว่า ต้องประกาศผลเลือกตั้งให้แล้วเสร็จไม่เกิน 60 วัน ตั้งแต่วันเลือกตั้ง

แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 268 บัญญัติว่าในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน

รองนายกฯแนะทางออก เมื่อรู้อยู่แล้ววันสุดท้ายของ 150 วัน คือ 9 พฤษภาฯ ตัดปัญหาก็คือ จัดเลือกตั้งและนับคะแนนให้แล้วเสร็จภายใน 9 พฤษภาคมเสีย

ขณะที่ประธาน กกต.-อิทธิพร บุญประคอง ให้สัมภาษณ์ล่าสุด ยืนยันจะจัดเลือกตั้ง และรับรองผลภายใน 9 พฤษภาคม

เลือกวิธีปลอดภัยที่สุด เพื่อมิให้มีปัญหา

ซึ่งนั่นเท่ากับแสดงว่า ทั้ง ดร.วิษณุ ประธาน กกต.เห็นตรงกัน เรื่องนี้มีปมประเด็นกฎหมาย เป็นข้อสงสัย

ไม่มีใครการันตีได้ จึงหาทางตัดไฟแต่ต้นลม

เพราะอำนาจตัดสินวินิจฉัยเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่แม้ กกต.เตรียมปิดจ๊อบภายใน 150 วัน ประเด็นที่นำเสนอเข้ามาเพิ่มเติมก็คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ มันง่าย จบเร็ว รับรองผลได้ภายใน 9 พฤษภาคมได้จริงหรือ

ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีทาง

กติกาเลือกตั้งก็ดี เดิมพันการเมืองก็ดี ทำให้อุณหภูมิเลือกตั้งปีนี้แข่งขันสูง ทุกคะแนนมีความหมาย

เมื่อแพ้ไม่ได้ แต่ละพรรค-ผู้สมัครก็ต้องงัดสารพัดวิชา สู้ให้ชนะเลือกตั้ง

การร้องเรียน โกงเลือกตั้ง ย่อมคาดการณ์ได้ว่าจะมากตาม

ทำให้ประกาศผลไม่ได้เร็ว ต้องใช้เวลาสอบเคลียร์ แจกใบต่างๆ ไม่เสร็จง่ายๆ และโดยที่การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรเดียว กาเลือก ส.ส.เขต นำไปคำนวณเป็นปาร์ตี้ลิสต์ด้วย

ฉะนั้น หากมีการร้องสอบโกงหลายสิบเขต ก็อาจมีปัญหา

เพราะเมื่อไม่จบ ก็เอามาเป็นคะแนนรวม ส.ส.เขตของทุกพรรคทั้งประเทศ คำนวณหาตัวเลขได้กี่คะแนนถึงได้ ส.ส. 1 คน ไม่ได้

เมื่อไม่ได้ก็นำตัวเลขที่ได้ไปหารคะแนนเลือก ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้เท่ากับจำนวน ส.ส.พึงมี ไม่ได้ ขั้นตอนต่อจากนั้นก็ไปต่อไม่ได้เช่นกัน

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็กระทบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด ประกาศไม่ได้ทั้ง 150 คน กระเทือนยาวถึงการจัดตั้งรัฐบาล เพราะสะดุด 150 คน ก็ต้องแน่นอนว่าทำให้ตัวเลข ส.ส.รวมไม่ถึง 95% (ของจำนวน 500 คน) ตามกฎหมายกำหนดขั้นต่ำที่จะเปิดประชุมสภาได้

รัฐบาลใหม่ตั้งไม่ได้ไม่พอ

เมื่อประกาศผลไม่ได้ ต้องเคลียร์เรื่องร้องทุจริต รวมถึงที่ กกต.จับโกงได้เอง ทุกอย่างก็จะลากยาว เลย 150 วัน

เมื่อเลย 9 พฤษภาฯ ก็เข้าสู่โซนสุ่มเสี่ยงอันตราย อย่างไรเสีย ต้องมีผู้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความวันยังค่ำ

ผลตีความออกหน้าไหนก็ได้

ขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญไม่มีใครรู้

ขึ้นอยู่กับผลเลือกตั้ง ใครแพ้-ชนะด้วยหรือไม่ ไม่มีใครรู้

เลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง ที่จะโมฆะซ้ำรอย

ยิ่งกำหนดวันช้า ก็ยิ่งเสี่ยง

รัฐธรรมนูญเมืองไทย ดีไซน์ได้พิสดาร พันลึกจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image