สมการ 375 เสียง!

เลือกตั้งครั้งแรกภายใต้กติกาใหม่ ถูกตั้งคำถามหลายต่อหลายเรื่อง นับเนื่องแต่ก่อรูปขึ้นร่าง กระทั่งบังคับใช้ และถึงวันที่ต้องนำมาปฏิบัติจริงในวันนี้

บทบัญญัติตัวแม่บทก็ดี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็ดี

เป็นที่สงสัย นี่หรือคือการดีไซน์ ส่งเสริมปฏิรูปการเมือง

แต่ก็มีความใหม่อยู่บ้าง ไม่ใช่วิจิตรพิสดาร ใหม่เก่าอย่างการเปิดทางนายกฯคนนอก หรือคนในซ่อนรูป ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ที่เป็นจารึกล้าหลังทางการเมือง

Advertisement

เรื่องที่ว่านั้นคือ การเขียนบังคับพรรคการเมือง เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพดานสูงสุด 3 ชื่อ

จากก่อนหน้านี้ เห็นลางๆ ไม่หัวหน้าพรรค ก็ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นเท่านั้น

แต่หากนำไปเทียบเคียงกับ ฉบับอื่น ออกหลังปี’35 กติกาที่ถูกฉีกทิ้งดีกว่าอย่างมิต้องสงสัย เนื่องจากบัญญัติให้ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ยึดโยงประชาชนเท่านั้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ความใหม่ที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้ ก็เป็นผลดีต่อการเลือกตั้งทั่วไป วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม

การเลือกตั้งที่เชื่อกันว่า ยิ่งชัดมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น ประชาชนตัดสินใจใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งง่ายขึ้น

เนื่องจากไม่ปล่อยหลบซุก อำพรางตัว

แต่ต้องเสนอ-โชว์ให้เห็นตัวเป็นๆ จะนำใครนอกเหนือจากบัญชีมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้เด็ดขาด

นิยมชมชอบ รัฐบาลปัจจุบันก็เลือกพรรคพลังประชารัฐ ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางตัวเป็นลำดับ 1 ในบัญชีรายชื่อนายกฯ

แต่กระนั้นในฝ่ายของพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนว่า ยังไม่พอใจแค่นี้ หวั่นว่าประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแยกแยะไม่ออก

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงพยายามจุดกระแส ชูแคมเปญ 375 เสียง

วางตำแหน่งพรรคอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย แยกอีกขั้วฝ่ายเป็นประชาธิปไตยแต่ในนาม ที่ไม่จำเป็นต้องชนะเลือกตั้ง ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน

แต่การมี 250 ส.ว.แต่งตั้ง เป็นฐานเสียงใหญ่ในรัฐสภา ทำให้ง่ายต่อการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

หากต้องการขีดฆ่า

ต้องเลือกขั้วฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้จำนวนเสียงมากพอ กระทั่ง 250 เสียง ส.ว.ไม่มีความหมาย

เพื่อไทยกำลังปลุกกระแสนี้

เป็นเรื่องจริงที่ยากเป็นที่ยิ่ง ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีพรรคการเมือง หรือขั้วการเมืองใดจะชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ครองเสียงส่วนใหญ่ ของจำนวนที่นั่งในรัฐสภา
ทั้งหมด 750 คน

กติกาไม่เอื้อให้พรรคใหญ่เติบโต

ฉะนั้นเพื่อไทยพรรคเดียว หรือเพื่อไทยกับพรรคเครือข่ายและแนวร่วมไม่มีทางทำได้

เลิกฝันถึงวันพีค 377 ที่นั่ง

มันเป็นไปไม่ได้โดยกติกา และการแข่งขันเดิมพันสูง ยอมให้เสียของแพ้ไม่ได้

แต่เพื่อไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่น

นอกจากสู้ตามวิถีทาง ปลุกแยกธาตุ แยกฝ่าย มีหน้าตักฐานเสียงกว้างขวางแน่นหนากว่าเป็นข้อได้เปรียบ ต้นทุนการเมือง

แต่ก็ยังไม่มากพอ

ที่อาจพอเข้าทางอยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็นกติกา บังคับเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

เพราะการที่ พรรคพลังประชารัฐต้องเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่ากับการตอกย้ำความชัดเจน

การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ แข่งขันระหว่าง 2 ฝ่าย

ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันที่โค่นล้มยึดอำนาจจากรัฐบาลเพื่อไทย กับพรรคเพื่อไทย

แต่การเปิดชื่อ เปิดถ้วยแทง ก็มิใช่ว่า เพื่อไทยจะได้เปรียบทุกประตู

เพราะเมื่อเสนอชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ก็แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจ พลังประชารัฐก็ย่อมมั่นใจว่า มีดีพอ-ขายได้

ในวันที่ฝ่ายเพื่อไทยมองว่า ‘บิ๊กตู่’ คือจุดอ่อน ผลงานบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปีกว่าที่ผ่านมาฟ้องชัด

แต่พลังประชารัฐ กลับมองเป็นจุดแข็ง จุดขาย คล้ายท้าแยกฝ่าย ให้ประชาชนตัดสินใจเหมือนกัน

และการที่ ‘บิ๊กตู่’ มีชื่อในบัญชี ก็ยิ่งเพิ่มเดิมพัน

กดดันพลังประชารัฐแพ้ไม่ได้

เมื่ออับอายขายหน้าไม่ได้ ก็ทำให้สนามแข่งเดือดเป็นไฟ เข้มข้น

แบ่งขั้ว-แบ่งฝ่ายชัดเท่าใด แน่นอนว่าทำให้ประชาชน ตัดสินใจง่ายขึ้น จะเลือกอยู่ภายใต้การเมืองแบบเก่า หรือแบบใหม่

แต่อาจนำมาซึ่งการไม่คำนึงถึงวิธีการชนะเลือกตั้ง

เพราะวิธีการอันชอบธรรมเช่นกัน

เพราะมันชัด ยิ่งกว่าชัดมาตลอด ในสงครามการเมือง เรื่องการแบ่งฝ่ายนั้น

ป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการเข้าสู่อำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image