หลังวันที่ 8 กุมภาฯ

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทำให้คนไทยทั้งชาติหันมามองการเมืองที่กำลังจะเป็นไป

และสนใจว่าหลังจากนี้ การต่อสู้บนสนามเลือกตั้งระหว่าง คสช. กับ ไม่เอา คสช. จะเป็นอย่างไร

มองไปทางฟากฝั่งของฝ่ายสนับสนุน คสช. ต้องขอบอกว่า ยังไม่มีกระแสสนับสนุนเพิ่มเติม เพราะทุกอย่างยังคงตัว

พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ในบัญชีพรรค ยังคงมีขุนพลและนโยบายแบบเดิม

Advertisement

นั่นคือ สานต่อแนวทาง คสช. และผลักดันให้ประเทศไปตามทิศทางยุทธศาสตร์ 20 ปี

ขณะที่พรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงไม่มีอะไรบุบสลาย

ขณะที่พรรคการเมืองฝั่งไม่เอา คสช.นั้น เกิดความระส่ำระสาย เพราะพรรคไทยรักษาชาติถือเป็นพรรคสำคัญพรรคหนึ่งในเกมการเลือกตั้งครั้งนี้

Advertisement

ขณะนี้พรรคไทยรักษาชาติอยู่ในอาการ “ทำใจ” รับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

และไม่ว่าผลจะเกิดเช่นไร แรงกระทบจากเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ย่อมสะเทือนต่อความมั่นคงของพรรคไม่มากก็น้อย

เมื่อพรรคไทยรักษาชาติที่เป็นพรรคที่สำคัญพรรคหนึ่งของฝั่งไม่เอา คสช. ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้

คงต้องรอฟังว่าจะเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด

ผลกระทบแรกที่สัมผัสได้คือการลาออกจากสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติที่ออกมาแสดงตัวว่าได้ลาออกตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์

ยังไม่ทราบว่าภายในพรรคยังจะมีผลกระทบอื่นๆ ต่อเนื่องไปหรือไม่

ผลกระทบต่อไปคือการเผชิญหน้ากับคำร้องให้ยุบพรรค ซึ่งมี นายศรีสุวรรณ จรรยา ไปยื่น และ กกต.ก็รับไปพิจารณา

ทุกอย่างจึงรอฟังคำตัดสินขององค์กรที่เกี่ยวข้อง

ผลกระทบสุดท้ายคือความรู้สึกของประชาชนที่หลายคนเป็นแฟนคลับของพรรคไทยรักษาชาติ

ในสภาพของพรรคไทยรักษาชาติที่กำลังเผชิญหน้ากับคำร้องยุบพรรค แฟนคลับยังคงจะเลือกหรือเปลี่ยนใจ

ถ้าเปลี่ยนใจแล้วจะไปลงเอยกับพรรคการเมืองใด

ทั้งนี้ประเมินกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นมา ประชาชนหลายคนมีคำตอบที่จะกาบัตรอยู่แล้วเป็นระยะๆ

ระยะเบื้องต้นคือจะกาบัตรเลือกขั้วอะไรระหว่าง คสช. กับ ไม่เอา คสช.

หลังจากนั้นจึงเกิดพรรคการเมืองที่อาสามาให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดิมอย่างพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ

หรือเป็นพรรคใหม่อย่าง พลังประชารัฐ ไทยรักษาชาติ ประชาชนปฏิรูป เพื่อชาติ อนาคตใหม่ ประชาชาติ และอื่นๆ

ในบรรดาพรรคการเมืองเหล่านี้ อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม เรียกว่า “3 ก๊ก”

ประกอบด้วย ก๊กพรรคเพื่อไทย ก๊กพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. 250 เสียง และก๊กพรรคประชาธิปัตย์

และได้ทำนายความเป็นไปได้ของ 3 ก๊ก ดังกล่าวในการเลือกตั้งเอาไว้ตอนขึ้นเวที “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ที่มติชนจัดไปเมื่อเร็วๆ นี้

ถ้ายึดตามโมเดล 3 ก๊ก ก็น่าเชื่อว่าในภาพใหญ่ของการเลือกตั้งในขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง

เสียงสนับสนุนขั้ว คสช. กับ ไม่เอา คสช.ยังคงเหมือนเก่า

หากแต่เสียงสนับสนุนพรรคในแต่ละก๊กออกจะมีความเปลี่ยนแปลง

จะมากหรือน้อยยังคงขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยเหมือนเดิม

นั่นคือตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต ตัวผู้อยู่ในบัญชีนายกฯ และนโยบาย ซึ่งขณะนี้ตัวบุคคลลงชิง ส.ส.และรายชื่อผู้จะชิงนายกฯ ปรากฏให้เห็นแล้ว

คงเหลือแต่นโยบายพรรคที่ต้องสดับฟัง

พรรคใดนำเสนอได้โดนใจประชาชนมากกว่า น่าจะได้คะแนนเพิ่มในวันที่ 24 มีนาฯ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image