ว่าที่ ส.ส.-ว่าที่ผู้บริหาร

การหาเสียงเลือกตั้งเพื่อดึงดูดใจประชาชนให้ไปหย่อนบัตรเลือกในวันที่ 24 มีนาคม กำลังเพิ่มดีกรีความดุเดือด

จากข้อมูลของ กกต.ที่เผยแพร่เอกสารเมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่า หลังจากปิดการรับสมัครเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์

กกต.พิจารณาแล้ว ได้ประกาศรับรองรายชื่อพรรคการเมืองที่ส่งสมัคร “แบบบัญชีรายชื่อ” จำนวน 77 พรรค

ประกาศรับรองรายชื่อผู้สมัคร 2,810 คน จากจำนวนที่การยื่นสมัคร 2,917 คน

Advertisement

ไม่รับรอง 107 คน

สำหรับผู้สมัคร “ส.ส.แบบแบ่งเขต” ที่มีการส่งสมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 81 พรรค จำนวน 11,181 คนนั้น เป็นอำนาจผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่จะตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งต้องดำเนินการประกาศไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์

และเมื่อได้ประกาศรายชื่อแล้วจะนำไปปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง

Advertisement

นอกจากนี้ กกต.ยังยกเลิกประกาศ กกต.ที่รับรองรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จาก 46 พรรค 71 รายชื่อ ให้เหลือ 44 พรรค 68 รายชื่อ

โดยไม่ประกาศรับรอง 2 คน

คนหนึ่ง ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายศาล คือ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

และอีกคนหนึ่ง มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ส่วนแคนดิเดตนายกฯของพรรคไทยรักษาชาติ กกต.ไม่ประกาศรับรองรายชื่อตั้งแต่ต้น

หลังจาก กกต.ประกาศรับรองรายชื่อแล้ว บรรดาผู้มีรายชื่อก็ถึงเวลาต้องออกหาเสียง

ชีวิตนักการเมืองที่ต้องเลือกตั้งจนหลายคนปรามาสเป็น “นักเลือกตั้ง” ได้เริ่มขึ้นแล้ว

แม้นักการเมืองจะถูกกล่าวหา เหยียดหยาม และไม่ให้เครดิต แต่สิ่งที่ต้องทำคือเดินเข้าไปหาประชาชน

วันนี้จึงได้เห็นนักการเมืองเดินไปหาประชาชน

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่บอกกับสังคมว่าเป็นนักการเมืองก็เดินไปหาประชาชน

รวมทั้งบรรดาผู้สมัครที่ยังไม่คุ้นเคยกับการหาเสียงแบบ ส.ส. ก็ต้องได้ใช้ชีวิตแบบนี้

เข้าไปฟังชาวบ้านบ่น เข้าไปฟังชาวบ้านด่า

พร้อมทั้งเข้าไปอธิบายแนวคิดที่ตัวเองอาสาเป็นตัวแทนเข้าไปทำงานในสภา

ชีวิตแบบนี้หลายคนชอบ อีกหลายคนบ่นอุบ เพราะว่าเหนื่อยสาหัส

ในขณะที่กำลังหาเสียงกับประชาชนก็มีคู่แข่งคอยค่อนแคะ ยื่นร้อง และกล่าวหา

กว่าจะได้เข้าสภา ก็สะบักสะบอมกันไปตามๆ กัน

เมื่อเข้าสู่สภาแล้วก็ใช่ว่าชีวิตจะสงบเงียบ เพราะต้องฟังเสียงชาวบ้านที่มีเรื่องเดือดร้อน

ต้องถูกสังคมตรวจสอบในฐานะ “บุคคลสาธารณะ”

ต้องวางตัวให้อยู่ในจริยธรรมนักการเมือง ซึ่งวางกรอบกติกาเอาไว้ให้

การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านๆ มาเป็นแบบนี้ แต่ก็เห็นบรรดานักการเมืองยังเดินหน้าหาเสียงกันเต็มที่

มีก็ครั้งนี้ที่นักการเมืองบ่นกันหนาหูเรื่อง “เอาเปรียบ”

ไม่ได้บ่นแค่พรรคหรือสองพรรค แต่ได้ยินจากหลายพรรค

เรื่องเอาเปรียบกันในการแข่งขันแสดงถึงแนวโน้มพฤติกรรมในอนาคต

เมื่อเริ่มต้นด้วยการเอาเปรียบ จะมีอะไรรับประกันว่าหลังจากนี้จะไม่เอาเปรียบ

คราวนี้เอาเปรียบนักการเมืองด้วยกัน

ถ้าได้เป็น ส.ส.ก็อาจจะเอาเปรียบสภา

หรือหากได้เป็นรัฐบาล จะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่เอาเปรียบประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image