การเมืองเรื่องสายสัมพันธ์

ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเนื้อหาหรือไม่? หรือเห็นว่าข่าวคราวดังกล่าวมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด?

แต่ต้องยอมรับว่าข่าววิวาทะการเมือง ที่มีตัวละครหลักเป็นอดีตนักร้องดังซึ่งประกาศจุดยืนชัดเจนว่าหนุนลุงตู่อย่าง “โจ นูโว”, พิธีกรหนุ่มที่มีจุดยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยอย่าง “จอห์น วิญญู” ตลอดจน “พ่อของจอห์น” และ “พ่อของโจ” นั้นเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

มาถึงปัจจุบัน ดูเหมือน “ประเด็นตั้งต้น” ของวิวาทะนี้ จะพร่าเลือนและหมดสิ้นความสำคัญลงไปแล้วในการรับรู้ของสาธารณชนคนทั่วไป

(เอาเข้าจริง คนส่วนใหญ่คงลืมไปแล้วเช่นกันว่า “คนต้นเรื่อง” ของ วิวาทะ นั้นไม่ใช่ทั้งโจ, จอห์น, พ่อโจ และพ่อจอห์น ด้วยซ้ำ)

Advertisement

เนื่องจากเส้นเรื่องของข้อถกเถียงค่อยๆ เบี่ยงเบนไปสู่ประเด็นที่ว่าโจเป็นลูกใคร? พ่อจอห์นเป็นใคร?

ก่อนจะมีพ่อของบางฝ่ายออกมาร่วมดีเบตผ่านพื้นที่ออนไลน์

ส่วนอีกฝ่ายก็ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ครั้งเดียวจบ เพื่อตัดบทความยุ่งเหยิงต่างๆ และยืนยันแนวคิดหลักการของตนเองและครอบครัว

อย่างไรก็ตาม คุณภาพเนื้อหาของวิวาทะอันเกิดจากปรากฏการณ์ “ดารากับการเมือง” ระลอกล่าสุดนี้ อาจไม่น่าสนใจเท่ากับรูปแบบของตัววิวาทะ

เพราะท่ามกลางการทุ่มอารมณ์และห้ำหั่นดราม่าเข้าใส่กัน นี่ไม่ใช่การยืนกรานความคิด-ความเห็น-อุดมการณ์ ของใครคนใดคนหนึ่งในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” อย่างบริสุทธิ์ตรงไปตรงมา

ทว่าคู่สนทนาฝ่ายหนึ่ง รวมถึงกองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย ต่างพยายามยึดโยงว่าตนเองและคนนั้นคนนี้มีความสัมพันธ์กับใคร

ประเด็นใจกลางวิวาทะจึงเคลื่อนจากเรื่องเนื้อหา-จุดยืนทางการเมือง ไปสู่สายสัมพันธ์ระหว่างคู่ถกเถียงและคนอื่นอีกมากมาย ซึ่งถูกอ้างอิงถึง

น้ำหนักของการแสดงความเห็นต่างจึงวางอยู่บนเรื่องกลุ่มก้อนเครือข่ายความสัมพันธ์ มากกว่าจะเป็นความคิดความเชื่อที่ย่อมผิดแผกกันได้ของปัจเจกบุคคลแต่ละราย

จุดแข็งของการผลักวิวาทะให้กลายเป็นเรื่องเครือข่ายสายสัมพันธ์ทำนองนี้ อาจอยู่ที่การสามารถรวบรวมพลังของกองเชียร์หรือกระทั่งกวักมือเรียกเสียงต่อต้านเข้ามาได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ในบริบทของโซเชียลมีเดียยุคปัจจุบัน

แต่จุดอ่อนที่ควรถูกตั้งคำถาม ก็คือ ในวงล้อมของความขัดแย้งที่ดุเดือด รุนแรง แบ่งขั้วแยกข้างชัดเจน บุคคลอื่นๆ ซึ่งถูกโยงใยเข้ามาสู่วิวาทะลักษณะนี้โดยไม่รู้ตัว จะต้องปฏิบัติตน-แสดงจุดยืนอย่างไร?

หากไม่อยากอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เขาจะมีทางปฏิเสธไม่เข้าร่วมหรือเดินออกจากวิวาทะดังกล่าวได้หรือไม่? ด้วยวิธีใด?

อย่างไรก็ดี มิอาจปฏิเสธว่า ดูคล้ายกิจกรรมทางการเมืองที่สับสนวุ่นวาย ซึ่งขยายขอบเขตผ่านสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเช่นนี้ จะเป็นสิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้ กระหาย และปรารถนาถึง

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การแสดงจุดยืน-ความเห็นทางการเมืองที่ชุลมุนน้อยกว่า เรียบง่ายกว่า และซื่อตรงมากกว่า ผ่านหลัก “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” เช่น “การเลือกตั้ง” กลับกลายเป็นวิธีการที่พวกเราจำนวนไม่น้อย ไม่ค่อยเต็มใจจะใช้สอยมากนัก

หรือไม่ก็พยายามจะใช้โดยหลบเลี่ยงผลลัพธ์จริงๆ ของการเลือกตั้ง, ใช้โดยถ่วงเวลาออกไปให้ยืดเยื้อยาวนานมากที่สุด

นี่คือ “ลักษณะเฉพาะ” ที่แปลกดีจริงๆ ของสังคมการเมืองไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image