สถานีคิดเลขที่12 : เริ่มต้นนับถอยหลัง! : โดย จำลอง ดอกปิก

รัฐบาลใหม่จะมีเสียง ส.ส.ค้ำ สนับสนุนมากน้อยเพียงใดยังเป็นคำถาม

ฝ่ายขั้วเพื่อไทย ออกโรงท้าขอเพียง พลังประชารัฐแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ทุกอย่างก็จบ เพื่อไทยพร้อมประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านทันที

ที่แสดงท่าที ยอมรับกติกาแต่โดยดี เช่นนี้ ก็เนื่องจาก 2 ขั้วที่พยายามรวบรวมเสียง ชิงจัดตั้งรัฐบาลนั้น

ยังไม่มีขั้วใด ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

พรรคพลังประชารัฐ ล็อกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไว้ได้ก็จริง

115 เสียงรวมพรรคพันธมิตร ผนึกกับ 250 ส.ว.มากพอ หนุนส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ทะลุเกิน 376

แต่ตัวเลขในสภาล่าง ของฝั่งพลังประชารัฐ กรณีทุกพรรคที่ไม่ร่วมลงสัตยาบันกับเพื่อไทย เทให้ทุกเสียง เต็มที่ก็อยู่ที่ 253 เสียงเท่านั้น ปริ่มน้ำเป็นที่ยิ่ง

ต่อให้มีบางพรรคฉีกสัตยาบัน หันหลังให้เพื่อไทย โผซบ

สุดเหยียดนาทีนี้ ก็มีแค่ประมาณ 260 เสียง

ถีบทะยานไม่พ้นจากภาวการณ์ปริ่มน้ำอยู่ดี

โดยปกติแล้ว เสียงจากฝ่ายรัฐบาล คือเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เนื่องจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในสภาผู้แทนราษฎร ยึดเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์การตัดสิน

การเริ่มต้นด้วยการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จึงเป็นไปไม่ได้ในกติกามาตรฐาน

เพราะเหตุ ต้องมีเสียงโหวตสนับสนุน ผู้จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี-หัวหน้ารัฐบาล เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน นั่นเอง

ขณะที่ขั้นตอน กระบวนการ นำไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลนั้น จะเริ่มต้นจาก การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นด่านแรก

รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา และที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน บัญญัติไว้เหมือนกันต่อกรณีเลือกประธาน

แต่ที่ต่างออกไป ก็คือ การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นประธานรัฐสภาอัตโนมัติ ดำเนินการในสภาผู้แทนราษฎร ใช้เกณฑ์มติเสียงข้างมากตัดสิน แต่การโหวตเลือกนายกฯ ทำในที่ประชุมรัฐสภา อันประกอบไปด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน รวมเป็น 750 คน

เกณฑ์ตัดสินคือ เสียงกึ่งหนึ่ง

ขณะนี้จำนวนเสียงโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นนายกฯ มีมากพอ การันตีเก้าอี้ในมือ

แต่ที่ยังไม่ลงตัวนัก คือประธานสภาผู้แทนราษฎร

ในอดีตนั้น เสียงโหวตเลือกประธานสภา และโหวตเลือกนายกฯ เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน นั่นคือเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แต่ครั้งนี้ องค์ประกอบของเสียงโหวตเลือกนายกฯ แตกต่างออกไป

กลายเป็นว่า นายกฯนั้น อาศัยฐานของ 250 ส.ว. เป็นหลัก ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง

กติกาที่ดีไซน์มาอย่างนี้ เปิดช่องให้เกิด ให้มีรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นได้

และการที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็สะท้อนภาพว่า พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น ไม่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเท่าที่ควร กระทั่งมีจำนวนเสียงมากพอที่จะชนะ ครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาล่าง และไม่ประสบความสำเร็จในการรวบรวมเสียงพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อรวมกันให้ได้เสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาล

แม้โดยสภาพความจริงปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมเสียง จึงไม่อาจสรุปได้ว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ตาม

เนื่องจากอาจเป็นเสียงข้างมากก็ได้

แต่ไม่ว่า จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือเสียงข้างมากแต่น้อยซึ่งสูงสุดก็ปริ่มน้ำอยู่ดี

รัฐบาลอย่างนี้ นับหนึ่งเริ่มต้นบริหารขึ้นได้เมื่อใด

การนับหนึ่งถอยหลังก็ดูเหมือนจะเริ่มทันทีไปพร้อมๆ กัน

แม้จะเก่งกาจ มีเทคนิคกำลังภายในปานใด บริหารจัดการเสียงในสภาล่าง มิให้ส่งผลกระทบ เป็นปัญหาต่อรัฐบาลก็ตาม

แต่ตัวเลข-เสียง ส.ส.อย่างเป็นทางการที่นับจำนวนได้แน่นอนมั่นคง

มันบ่งบอกถึงเสถียรภาพ บั่นทอนความเชื่อมั่น

เรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญของงานบริหารการเมือง-เศรษฐกิจ ส่งผลต่อการอยู่-การไปอายุขัยรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image