สถานีคิดเลขที่12 : กรณี‘ปั้นจั่น’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

โดยส่วนตัว ไม่แน่ใจว่าสเตตัสเฟซบุ๊กที่ถูกมองว่าเอียงข้าง คสช. ของดาราหนุ่ม “ปั้นจั่น-ปรมะ อิ่มอโนทัย” นั้นส่งผลต่อความล้มเหลวทางด้านรายได้ของหนังไทยเรื่อง “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน” จริงหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวนำไปสู่ประเด็นที่น่าคิดต่อจำนวน 3 ข้อ

ข้อแรก ผู้สันทัดกรณีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยบางราย คาดเดาว่า “รัก 2 ปี ยินดีคืนเงิน” มีแนวโน้มจะ “แป้ก” อยู่แล้ว เพราะหนังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างก่อนเข้าฉาย

เผลอๆ คนจำนวนมากเพิ่งจะมาคุ้นชื่อหนัง หลังเกิดข่าวคราว “คอมเมนต์การเมือง” ของ “ปั้นจั่น” และการต้องออกมา “ขอโทษ” ของเขา ด้วยซ้ำไป

Advertisement

ที่สำคัญ แม้ดาราชายอย่าง “ปั้นจั่น” จะเป็นนักแสดงสมทบผู้มีส่วนร่วมในละครโทรทัศน์ยอดฮิต เช่น “บุพเพสันนิวาส” แต่พอหันมารับบทพระเอกหนังไทยจอใหญ่แล้ว

หนังของเขากลับไม่เคยทำเงินมาก่อน

ข้อสอง ท่ามกลางการแบ่งฝ่ายแตกขั้วทางการเมือง ดาราจำนวนไม่น้อยถูกมองว่ามีจุดยืน “ขวาจัด” เป็น “สลิ่ม” หนุนอำนาจนอกระบบ และเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เช่นเดียวกับดาราส่วนน้อยที่ถูกตัดสินว่าเป็น “ควายแดง” “ขี้ข้าทักษิณ” หรือไม่รักชาติบ้านเมือง

Advertisement

แต่ในโลกความจริง อุตสาหกรรมบันเทิงก็เป็นเช่นเดียวกับปริมณฑลทางสังคม-เศรษฐกิจประเภทอื่นๆ ซึ่งความเชี่ยวชาญชำนาญการในเชิงวิชาชีพกับความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นคือคนละเรื่องกัน

พูดง่ายๆ คือ หนัง/ละครขนาดกลางๆ ขึ้นไป อาจไม่สามารถแสดง-ถ่ายทำ-จัดจำหน่ายได้ด้วยคณะบุคคลที่ยึดมั่นในขั้วการเมืองใดขั้วการเมืองหนึ่ง

และบางครั้ง คนที่ถูกประเมินว่ามีความเชื่อต่างฝ่าย ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ (ดี)

สำหรับผู้ที่ติดตามภาพยนตร์ไทยอยู่บ้าง คงพอรู้ว่ามีหนังดี (หรือดีมาก) อยู่สองเรื่อง ซึ่ง “ปั้นจั่น” เคยร่วมแสดง

เรื่องแรก คือ “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก” (2555) ที่ส่งให้ “ปั้นจั่น” คว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก 3 สถาบันหลัก ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์, รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง และสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์

เรื่องที่สอง คือ “ปั๊มน้ำมัน” (2559) ที่ทำให้ “ปั้นจั่น” ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก 3 สถาบันหลักเช่นกัน

อาจเป็น “ตลกร้ายทางการเมือง” เมื่อหนังทั้งสองเรื่องนี้กำกับโดย “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ ของพรรคอนาคตใหม่

ข้อสุดท้าย ถ้าถามว่า “กระแสแอนตี้” ที่มวลชนส่วนหนึ่งมีต่อ “ปั้นจั่น” เพื่อตอบโต้-ลงโทษที่เขากระทำ “สิ่งบกพร่องผิดพลาดทางการเมือง” นั้นดำรงอยู่จริงหรือไม่?

คำตอบก็คือ “จริง” (ส่วนกระแสดังกล่าวจะทำให้หนัง “เจ๊ง” หรือไม่? เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

กระแสต้าน “ปั้นจั่น” มีอยู่จริง เหมือนกับกระแสวิจารณ์-ถล่มดาราบางคน ที่เคยร่วมม็อบ กปปส. เพื่อชัตดาวน์กรุงเทพฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง และแสดงอาการเชียร์ “มือปืนป๊อปคอร์น” อย่างสะใจ (โดยไม่ใส่ใจว่าจะมีใครบ้างเสียชีวิตจากพฤติกรรมเช่นนั้น)

เมื่อดาราเหล่านั้นออกมาแสดงบทบาทสนับสนุนองค์กรสิทธิมนุษยชนในระดับสากล หรือได้รับรางวัลบันเทิงเกียรติยศ ณ ปี 2562

เหมือนกับที่ดาราซึ่งถูกตีตราว่าเป็น “ฝ่ายแดง” เคยโดนมวลชนอีกส่วน (และเพื่อนร่วมวงการจำนวนไม่น้อย) แอนตี้มานานหลายปี

คำถามต่อเนื่อง คือ มวลชนที่ต้าน “ปั้นจั่น” เป็นใครบ้าง?

คำตอบ คือ ส่วนหนึ่งอาจเป็นประชาชน “ฝ่ายนิยมประชาธิปไตย” ที่ดำรงอยู่แต่เดิม

ส่วนหนึ่งอาจเป็น “คนรุ่นใหม่” ที่กำลังตื่นตัวทางการเมือง และเห็นว่าทางออกเดียวของประเทศคือ “ระบอบประชาธิปไตย”

กระแสแอนตี้ “ปั้นจั่น” คือตัวอย่างของเสียงที่รอเปล่ง แต่ต้องเก็บกดเอาไว้ เพราะบรรยากาศบ้านเมืองตลอด 5 ปีที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวย

ครั้นพอ “ประตูประชาธิปไตย” แง้มเปิด เสียงเหล่านี้ก็เริ่มหลุดเล็ดลอดออกมาตามขอบเขต-ช่องทางต่างๆ

และจะยิ่งก้องดังแผ่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image