สถานีคิดเลขที่ 12 : ต้องมีพิพิธภัณฑ์ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ถ้าคนที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกสะอกสะใจในเหตุการณ์ที่ “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์รุมทำร้ายทุบตีจนบาดเจ็บสาหัส กลางเมืองหลวง โดยเป็นความรู้สึกที่มาจากจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกัน

ถ้าคนเหล่านี้ ลองนึกย้อนถึงภาพเหตุการณ์ร้ายแรงในบ้านเมือง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีการนำเอาร่างผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ มาแขวนคอไว้กับต้นมะขาม ริมสนามหลวง พร้อมกับใช้เก้าอี้ฟาดร่างไร้วิญญาณนั้น

โดยจุดสำคัญของภาพนี้ก็คือ บรรดาไทยมุงที่ยืนล้อมรอบอยู่ จำนวนไม่น้อยพากันยิ้มเยาะ หัวเราะ อย่างชอบอกชอบใจ เชียร์กันอย่างเมามัน และในจำนวนนี้มีเด็กอายุไม่มากนัก ยืนยิ้มร่ารวมอยู่ด้วย

จากภาพสะเทือนใจนี้ สมควรที่บรรดาผู้สะอกสะใจกับเหตุการณ์จ่านิวถูกรุมตีถึงเลือกตกยางออก น่าจะนำมานึกทบทวนเปรียบเทียบดู

Advertisement

แตกต่างกับสีหน้าแววตาของเหล่าไทยมุงรอบศพที่ถูกเก้าอี้ฟาด เมื่อ 6 ตุลาฯหรือไม่

ความจริงภาพและเรื่องราว หลักฐานของเหตุการณ์ความรุนแรงในบ้านเมืองเรา ที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อถูกกระทำจากอำนาจฝ่ายรัฐ

ถ้าหากได้รับการบันทึกหรือจัดทำอย่างเป็นจริงเป็นจังกว่านี้ เราอาจจะสร้างจิตสำนึกในทางที่ดีงามให้กับคนรุ่นต่อๆ มาได้มากกว่าทุกวันนี้

Advertisement

ดังนั้น ที่กำลังมีความพยายามของกลุ่มคนผู้จัดทำโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ ตั้งเป้าหมายจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ความรุนแรงที่เกิดจากรัฐขึ้นมาในสังคมไทย

ควรได้รับการสนับสนุน ทำให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้

ที่เพิ่งไปรื้อถอนประตูแดง ใน จ.นครปฐม จุดที่มีการฆ่าแขวนคอ 2 ช่างไฟฟ้า อันเป็นชนวนที่นำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นที่ได้รับการนำไปเก็บรักษาเอาไว้

แค่ประตูแดง ก็ทำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่า ก่อนจะมีการฆ่ากันในเดือนตุลาคม ก่อนนั้นราว 2 สัปดาห์ มีการฆ่าแขวนคอ 2 ศพที่นครปฐม พร้อมกับชื่อของ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และชุมพร ทุมไมย ผู้เป็นเหยื่อโหดร้ายนั้น ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบและรำลึกถึงคนทั้งสอง ในฐานะวีรชน

อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวว่า ความตั้งใจจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ อยากให้มีการบันทึกประวัติศาสตร์ความรุนแรงจากรัฐในทุกเหตุการณ์เอาไว้ ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 รวมถึงพฤษภาคม 2535 เมษายน-พฤษภาคม 2553 และความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ฟังแล้วต้องเห็นด้วยมากๆ

พิพิธภัณฑ์เหล่านี้ ทำกันอย่างจริงจังครบถ้วนในหลายประเทศ ที่เคยผ่านช่วงเวลาแห่งการเข่นฆ่าผู้คน ทั้งในเอเชียและในยุโรป เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนทั้งสังคมได้เรียนรู้และยกระดับจิตสำนึก

ในขณะที่บ้านเราเอง ฆ่ากันมาหลายรอบ แต่ฝ่ายรัฐพยายามจะกลบเกลื่อนเรื่องราวเหล่านี้ ไม่เคยมีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ ไม่มีในแบบเรียน ทั้งพยายามทำให้ลืมๆ กันไป

เมื่อไม่ศึกษาเรียนรู้จากภาพไทยมุงขณะมีการเอาเก้าอี้ฟาดศพ จึงยังมีคนเมืองหลวงส่งเสียงเชียร์เมื่อชาวบ้านจากอีสานถูกยิงตายในเหตุการณ์ 99 ศพ ยังมีคนสนับสนุนมือปืนป๊อปคอร์นที่ยิงถล่มใส่ฝ่ายตรงข้าม

ก็เลยยังมีคนปรบมือส่งเสียงเชียร์เมื่อจ่านิวถูกรุมทุบตีปางตาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image