สถานีคิดเลขที่12 : กระเบนราหู : โดย ปราปต์ บุนปาน

ช่วงนี้ มีหนังไทยฟอร์มเล็กๆ แต่กวาดรางวัลระดับนานาชาติมากมาย กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์

หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า “กระเบนราหู” เป็นผลงานการกำกับของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ซึ่งสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากสายการประกวด Orizzonti (Venice Horizons) ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส 2018 มาครองได้สำเร็จ

หลังจากนั้น “กระเบนราหู” ก็ออกตระเวนไปตามเทศกาลหนังนานาชาติอีกหลายแห่ง ได้รับรางวัลเพิ่มเติมมาอีกหลายตัว

ล่าสุด ก่อนเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย หนังยังเพิ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์อาเซียนยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2562 เพิ่มอีกหนึ่งรางวัล

Advertisement

“กระเบนราหู” อาจไม่ได้มีลีลาเดินเรื่องอันกระชับฉับไวแบบ “ภาพยนตร์สมัยนิยมทั่วไป” แต่หนังก็มีประเด็นหลักที่ชัดเจนไม่ซับซ้อน

นั่นคือการพยายามถ่ายทอดความสัมพันธ์ฉันเพื่อนมนุษย์ระหว่างตัวละครนำสองราย

รายแรกเป็นชาวประมงท้องถิ่นคนไทย อีกรายเป็นผู้อพยพแปลกหน้า-ไร้เสียงพูด (ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าคือ “ผู้อพยพชาวโรฮีนจา” หากพิจารณาจากคำสัมภาษณ์ในหลายวาระของผู้กำกับ)

Advertisement

หนังเรื่องนี้ค่อยๆ สลับสับเปลี่ยนบทบาท/หน้าที่/สถานภาพของตัวละครทั้งคู่

โดยให้ตัวละครคนไทยถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างอยุติธรรม กระทั่งสิ้นไร้อัตลักษณ์, บ้าน, ครอบครัว และเกิดรอยแผลในชีวิต

ขณะที่ตัวละครผู้อพยพก็มีโอกาสถือครองอัตลักษณ์ใหม่, บ้าน, ครอบครัว และได้เยียวยาบาดแผลของตนเอง

หนังมุ่งสำรวจ “ความเป็นมนุษย์” ไปจนถึงขั้นรากฐานที่สุด ในรูปของมนุษย์ผู้เปลือยเปล่า ไร้ตัวตน ไร้ที่อยู่อาศัย และไร้ภาษาสื่อสาร

ในรูปของชนชั้นแรงงานและคนต่างด้าวที่ดำรงชีวิตอยู่ตรงฐานล่างสุดของสังคม

“กระเบนราหู” มีคุณูปการสำคัญยิ่งประการหนึ่ง เนื่องจากหนังพยายามจะทะลุทะลวง “อคติ” ซึ่งฝังแน่นอยู่ในสังคมไทย นั่นคือ อคติหรือความหวาดระแวงที่มีต่อคนต่างศาสนาและชาติพันธุ์

นี่เป็นอคติที่ก่อตัว-แผ่ขยายอย่างแน่นหนากว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทว่าถูกกลบบังไว้ด้วย “ความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ” ซึ่งปรากฏชัดเจนต่อเนื่องกว่า

นี่เป็นอคติที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ (อย่างน่าตกใจ) กับทั้งในหมู่ “ผู้นิยมประชาธิปไตย” และ “ผู้ฝักใฝ่เผด็จการ”

มองอีกแง่หนึ่ง ประเด็นใจกลางที่หนังเรื่อง “กระเบนราหู” กำลังสื่อถึงนั้นมีความคล้ายคลึงหรือมีจุดร่วมเดียวกันกับความเคลื่อนไหว “เล็กๆ” เรื่อง “การใช้ภาษา/สำเนียงท้องถิ่น” และ “รูปแบบการแต่งกาย” ในรัฐสภา

ซึ่งจะพาพวกเรามุ่งหน้าไปสู่หลักการร่วมกันว่า แม้เราจะแตกต่างกัน แต่เราก็เป็นคน (ผู้มีสิทธิ-เสียง) เท่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image