สถานีคิดเลขที่12 : เพ้อ-อยู่ยาว : โดย จำลอง ดอกปิก

เห็นตัวเลข เสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ ทางการนับได้เพดานสูงสุด 254 เสียง และภาพตัด ระหว่างแถลงนโยบาย ที่แม้ไม่มีการลงมติแต่ประการใด แต่การเผชิญหน้าครั้งแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภูมิต้านทานในสภาต่ำ หากมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านงัดมาตรการสูงสุดตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล

จะเกิดอะไรขึ้น

มองจากเสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภาล่าง เรื่องอยู่ 4 ปี ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดถึงในฟลอร์ 88 การ์มองเต้ วังน้ำเขียว

คงเป็นได้แค่ฝัน

Advertisement

แต่กระนั้น ก็ไม่ควรมองข้าม ด่วนตัดสินว่าเป็นไปไม่ได้

จริงอยู่เสียงปริ่มน้ำนั้น ไม่เอื้อต่อการอยู่ครบเทอมแน่นอน

รัฐบาลสุ่มเสี่ยงพังพาบสูง

Advertisement

หากกฎหมายการเงิน ร่าง พ.ร.บ.สำคัญ อย่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ล้มคว่ำกลางสภา หรือพ่ายเสียงโหวต ญัตติไม่ไว้วางใจ

แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ ความเป็นจริง

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ กลับไม่น่าห่วงเท่าใดนัก

ไม่น่าวิตกกังวล เนื่องจากแม้เสียงปริ่มน้ำ แต่รัฐบาลบิ๊กตู่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก กล่าวคือมีเสียงเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และก็ย่อมแน่นอนว่า มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน

เมื่อเสียงมากกว่า ประกอบการความจำเป็นในการต้องใช้ ต้องมีงบประมาณ รายจ่ายต่างๆ ตั้งแต่เบื้องต้น เงินเดือนข้าราชการ ไปจนถึงเรื่องสำคัญ

กฎหมายงบประมาณ คงผ่านอย่างแน่นอน

ไม่ต้องงัดแผนสำรอง เรียกใช้บริการ ส.ส.กองหนุน ที่เตรียมซุ่มจัดไว้ในพรรคฝ่ายค้านด้วยซ้ำ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ไม่น่าหนักใจเช่นกัน

เพราะการลงมตินั้น นับเอาเสียงของฝ่ายที่ไม่ไว้วางใจ เป็นเกณฑ์ตัดสิน ซึ่งเสียงฝ่ายค้านไม่มีทางเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว

รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ตั้งเป้าอยู่ยาวครบเทอม 4 ปี

แม้เสียงที่เล็ดลอดออกมาจากโต๊ะวีไอพี 88 การ์มองเต้ ไม่หนักแน่นจริงจังเท่าใดนัก

แต่ลึกๆ น่าเชื่อได้ว่า เป็นหมุดหมายที่บิ๊กๆ ปักป้ายไว้ ต้องลากไปให้ถึง

และมีลุ้นเป็นจริงด้วย

มีลุ้นสูงเนื่องจาก เสียงปริ่มน้ำ ที่เป็นข้อด้อยนั้น บางทีก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง และกติกาที่เป็นใจ

การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์

การจัดสรร ปันส่วน หลายระดับ

รัฐบาลเสียงข้างมาก ในอดีตที่ผ่านมาไม่นานช้า มั่นใจเสียงในสภา และการบริหารงานทุกอย่าง

ได้ชื่อว่าเป็นสำนักงานสลากแห่งใหม่ เป็นลักษณะของการกินรวบ

รวบทุกอย่างเอาไว้ในมือฝ่ายรัฐบาลเบ็ดเสร็จ

ฝ่ายค้านไม่มีอำนาจต่อรอง ออกมาต่อสู้ตามท้องถนน แย่งชิงอำนาจอันบันดาลทุกสิ่งอย่าง

แต่การเมืองการต่อสู้ในภาวะที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ฝ่ายค้านมีอำนาจต่อรองสูง

ฝ่ายรัฐบาลต้องแสวงหาความร่วมมือ

ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือเฉลี่ยสุขในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล และเผื่อแผ่ไปถึงฝ่ายค้านที่ต้องพึ่งพาอาศัย อันมีเทคนิค ทำได้หลายประการทั้งนอกและในสารบบงบประมาณ

เมื่อการจัดสรรลงตัว

การเมืองเป็นการเมืองมากขึ้น คุยกันได้ ไหลให้กันได้เกือบทุกพรรค

การต่อสู้ ชนิดเอาเป็นเอาตาย ทำทุกวิถีทางให้ล้มกันไปข้าง ก็น้อยลง

ส.ส.ก็อยู่เป็น ไม่เห็นความจำเป็น ที่จะต้องไปลำบาก หากมีการยุบสภา

ประการสำคัญก็คือ ยุบอีกกี่ครั้ง เลือกอีกกี่ครั้ง ภายใน 5 ปีเริ่มแรกนี้ รัฐบาลบิ๊กตู่มีแต้มต่อ 250 ส.ว.เป็นนั่งร้าน

ชนะเลือกตั้ง ก็แพ้เสียงในรัฐสภาอยู่ดี 24 มีนาคม 2562 เป็นตัวอย่าง

กติกาไม่เป็นใจ ปิดทางชนะถล่มทลายพรรคเดียว

กลายเป็นว่าฝ่ายค้านก็เข็ดขยาดเลือกตั้ง

สู้ปล่อยให้รัฐบาลลากยาว กัดกินตัวเอง 4 ปี แล้วเอาไปสู้วัดในช่วงท้ายๆ 250 ส.ว.ใกล้หมดฤทธิ์ 5 ปี หมดสิทธิโหวตเลือกนายกฯ

ฝ่ายค้านยังมีลุ้น เปอร์เซ็นต์พลิกกลับมาสูงกว่า

รัฐบาลนั้นอยากอยู่ยาวอย่างมิต้องสงสัย ฝ่ายค้านก็เหน็ดเหนื่อยมากกับการเลือกตั้ง มีแต่รายจ่าย ไม่คุ้มลงทุน

2 ขั้วมีจุดร่วม ความจำเป็นบางอย่าง ในความเห็นต่าง

รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ อยู่ครบเทอม 4 ปี จึงมีความเป็นไปได้

ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน

แม้อาจมีใครมองเป็นฝันร้ายมากกว่าก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image