สถานีคิดเลขที่12 : สัญญาณล่ม! : โดย จำลอง ดอกปิก

ฝ่ายรัฐบาลพ่ายเสียงโหวตในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก

ในการลงมติ ข้อ 9(1) ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หมวดว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของประธานสภา ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม เพิ่มถ้อยคำจากร่างฉบับแรก ต้องเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่

แม้แพ้เสียงฝ่ายค้าน ในเรื่องทั่วไป ที่การลงมติ ไม่มีผลต่อสถานะรัฐบาล เทียบไม่ได้กับกฎหมายการเงิน หรือฉบับสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ

แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนรัฐบาล

Advertisement

ปลุกให้ตื่นจากฝันอยู่ยาว ครบเทอม 4 ปี

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 เสียงปริ่มน้ำเป็นที่ยิ่ง

รัฐบาลผสม 19 พรรค มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน เพียง 4 เสียง

เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากก็จริง แต่มีที่นั่งในสภาล่าง 254 ที่นั่งเท่านั้น

ในขณะที่จำนวนเสียงปลอดภัย เอื้อต่อการบริหาร และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ว่ากันว่า ต้องมีจำนวนเสียงมากกว่า 270

แต่ฝ่ายรัฐบาลก็รวบรวมเสียงในเพียงเท่านี้

เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ภายหลังการรัฐประหาร ประเทศปกครองด้วยรัฐบาลทหาร 5 ปี พรรคการเมืองแตกออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำฝ่ายค้าน เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ฟากฝ่ายรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคแกนนำ

เมื่อ 7 พรรค 246 เสียง อันประกอบด้วย เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ เศรษฐกิจใหม่ และรวมพลังปวงชนไทยผนึกแน่น

การขยายเพิ่มจำนวนเสียงของฝ่ายรัฐบาลก็เป็นไปไม่ได้

เอาแค่การรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลแต่แรก ก็ทุลักทุเลเป็นที่ยิ่ง กว่าจะครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ ก็มีการแตกหน่อ แจ้งเกิดพรรคเล็ก 1 เสียงเป็นว่าเล่นถึง 11 พรรค

แต่กระนั้น ก็มีคำปลุกปลอบในแบบโลกสวย

จำนวนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นสลักสำคัญแน่ แต่ก็มิได้เสมอไป

การทำงานและผลงานต่างหาก เป็นเครื่องการันตีอายุขัยรัฐบาล

ทั้งที่ที่จริงต้องประกอบเข้ากันทั้ง 2 ส่วน จึงจะสมบูรณ์หนุนส่งซึ่งกันและกัน

รัฐบาลบิ๊กตู่จะอยู่ในสักกี่น้ำ เกิดเป็นคำถามขึ้นแต่แรก เมื่อสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้สูงสูด 254 เสียงเท่านั้น ไม่มี 250 ส.ว.เป็นตัวช่วยอีกต่อไป เหมือนกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา

ทั้งนี้ เนื่องจากนักวิชาการ ฝ่ายการเมือง ต่างมองตรงกันว่า

รัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามกติกาใหม่ ที่บ่อนเซาะทำลาย สกัดการเติบใหญ่ของพรรคการเมือง ดีไซน์ออกมาเพื่อให้เกิดรัฐบาลผสมมากพรรคโดยเฉพาะ

จะเกิดการต่อรองกันมาก

พรรคเล็กพรรคน้อยมีอำนาจต่อรองสูงเป็นพิเศษ

แค่พรรค 5 เสียงงอแง แค่พรรคเล็กไม่พอใจ รวมตัวโหวตสวน เค้าลางหายนะก็มาเยือน

หากต้องการให้อยู่ได้-อยู่ยาว รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ต้องมีวิธีบริหารจัดการพรรคร่วม จัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งแห่งหน หรือในรูปแบบอื่น

การพ่ายโหวต ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรบางหมวด

เป็นสัญญาณเตือนรัฐบาล

นับจากนี้ต่อไป อาจเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นอีก มีครั้งแรกก็อาจมีครั้งที่สองสามตามมา เพราะการต่อรองนั้น ได้ดอกผลตอบแทนงาม กลุ่มนี้ได้ กลุ่มอื่น พรรคอื่นอาจเอาอย่างบ้าง

ประชาธิปไตยนั้น ถือเอาเกณฑ์เสียงข้างมากตัดสิน

รัฐบาลเสียงข้างมากในอดีต ลงมติท่วมท้น ชนะขาดลอย แต่ก็ถูกตีค่าเท่ากับ ที่สภาชุดนี้ลงมติ 248:246 เสียงไม่เลื่อนเลือกประธานสภา กล่าวคือชนะท่วมท้น ชนะ 2 เสียง หรือชนะแค่เสียงเดียวก็ถือว่าชนะแล้ว

ในทางกลับกันการแพ้ 1 เสียงล่าสุดของพรรครัฐบาล เนื่องจากพรรคเล็กตีรวน โหวตสวน

ก็ยังผลอย่างเดียวกัน คือฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้

แต่ที่กลับด้าน สวนทาง คือผลต่าง

คล้ายกับว่าอนาคตของคนส่วนใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาล ฝากไว้กับเสียงส่วนน้อย ของพรรคเล็ก พรรคน้อย พรรคละ 1 เสียง ที่มาจากการคำนวณคะแนนพิสดาร

จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด

ผลพวง-พิษภัยจากกติกาใหม่ทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image