สถานีคิดเลขที่ 12 : สถาปัตยกรรมการเมือง : โดย ปราบต์ บุนปาน

ช่วง 1-2 สัปดาห์มานี้ มีภาพยนตร์เกาหลี (ใต้) เรื่องหนึ่ง ซึ่งกำลังเข้าฉายในบ้านเรา และสามารถทำรายได้สูงติดอันดับ ทั้งยังถูกนำไปพูดถึง-คิดต่อกันอย่างแพร่หลาย
หนังเรื่องนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Parasite” และมีชื่อภาษาไทยง่ายๆ แต่สะดุดใจว่า “ชนชั้นปรสิต”

นี่คือผลงานที่ส่งให้ “บงจุนโฮ” คนทำหนังเชิงพาณิชย์ศิลป์แนวสนุกสนานเข้มข้น (ไม่ใช่หนังอาร์ตที่เรียบ นิ่ง และดูยาก) ผงาดคว้ารางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

“Parasite” หรือ “ชนชั้นปรสิต” จึงเป็นหนังแนวดราม่า สนุก เข้มข้น มีครบแทบทุกรส (ตั้งแต่อารมณ์ขัน อารมณ์รักใคร่ อารมณ์โกรธเกลียดคลั่งแค้น ไปจนถึงอารมณ์เศร้าสร้อย) ไม่ต่างจากละครหลังข่าวแบบไทยๆ หรือซีรีส์เกาหลีฮิตๆ

ทว่าหนังก็แฝงสัญลักษณ์อันแยบคาย ที่เชิญชวนให้ผู้ชมสามารถขบคิด-ตีความต่อได้อย่างหลากหลาย

Advertisement

ผู้สนใจสามารถหาอ่านบทวิจารณ์-วิเคราะห์-ตีความหลากแง่หลายมุมเหล่านั้นได้ ใน
โซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต

ไม่อาจปฏิเสธว่าประเด็นหลักที่สำคัญสุดของ “Parasite” คือ ปัญหาความแตกต่างทางชนชั้น ซึ่งนำไปสู่การปะทะชน และแรงระเบิดของความโกรธแค้นชิงชังบางประการ

อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “สถาปัตยกรรม” กับ “การเมือง” (ซึ่งหมายถึง “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” ระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม)

Advertisement

หนังฉายภาพให้เห็นว่า “บ้าน” ของคนรวยครอบครัวหนึ่ง ซึ่งออกแบบโดย “อาจารย์สถาปนิก” ชื่อดังระดับชาติ-นานาชาติ นั้นคือ ภาพย่อ-ภาพแทนของสังคมเมือง (หรือประเทศ) อันกว้างใหญ่กว่านั้น

ถ้าโลกชั้นบนของบ้านหลังนี้ คือ พื้นที่ที่เปิดให้บรรดาผู้มีอันจะกิน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างหรูหรา รุ่มรวย ไม่ต้องทุกข์ร้อนเหนื่อยยาก

โลกด้านล่างตรงชั้นใต้ดินของบ้านหรู (ที่กระทั่งเจ้าของบ้านก็ไม่รับรู้ว่ามีอยู่) ย่อมเป็นพื้นที่ซุกซ่อนตัว เพื่อหาหนทางกระเสือกกระสน-เอาชีวิตรอด ของผู้คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจและไร้สถานภาพทางสังคม

การออกแบบ “บ้านมหาเศรษฐี” นั้นไม่ต่างอะไรกับการออกแบบ “สังคมเมือง” หรือ “ผังเมือง” ซึ่งย่านที่พักอาศัยของเหล่าคนรวยตั้งอยู่บนเนินเขา

ก่อนที่บ้าน-ฐานะทางเศรษฐกิจ-ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของสมาชิกที่เหลือในสังคมจะค่อยๆ ไล่ระดับลดหลั่นกันลงไปเรื่อยๆ

โดยที่อยู่อาศัยของคนยากจน ก็คือ ใต้ถุนชั้นใต้ดินตามอาคารต่างๆ ในบริเวณพื้นที่โซนล่างๆ ของเมือง

“บงจุนโฮ” คล้ายกำลังสื่อสารผ่านหนังเรื่อง “Parasite” ว่าปฏิสัมพันธ์และความขัดแย้งทางการเมือง-เศรษฐกิจ นานัปการ ล้วนถูกล้อมกรอบไว้ด้วยการออกแบบพื้นที่หรือการจัดวางโครงสร้างสังคมเช่นนี้

ในแง่ปัจเจกบุคคลหรือครอบครัว คนรวยบางราย/ตระกูล อาจประสบปัญหาส่วนตัว มีรุ่งเรืองหรือร่วงโรยหมุนเวียนเปลี่ยนวนกันไป แต่อย่างไรเสีย พวกเขากลุ่มแล้วกลุ่มเล่าก็ยังจะได้ใช้ชีวิตอยู่ตรงโลกด้านบน

ขณะที่คนจน ไม่ว่าจะมีแผนการชีวิตหรือความใฝ่ฝันเลิศหรูขนาดไหน จะทำทุกอย่างพังพินาศเพราะผิดแผนเพียงไร หรือจะดำเนินชีวิตไปวันๆ โดยปราศจากแผนการใดๆ สุดท้าย พวกเขาก็มักถูกผลักไสให้ลื่นไถลกลับลงสู่โลกเบื้องล่างเสมอ

นี่คือ “สถาปัตยกรรมทางการเมือง” ที่คอยรองรับปัญหา ความท้าทาย ความเหลื่อมล้ำ ความเปลี่ยนแปลง และสถานการณ์คาดไม่ถึงของสังคม

นี่เป็นแบบแปลนใหญ่-โครงสร้างรวม ที่ทุกคนขยับหนีไปไม่พ้น

และทุกสังคมต่างต้องมี “แบบแปลน-โครงสร้าง” ดังกล่าว ในลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป

น่าสนใจว่า “สถาปัตยกรรมทางการเมือง” ของสังคมไทย นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image