สถานีคิดเลขที่12 : พระพุทธรูปอุลตร้าแมน : โดย ปราปต์ บุนปาน

ความสัมพันธ์ระหว่างซุปเปอร์ฮีโร่ “อุลตร้าแมน” กับ “พระพุทธรูป” หรือ “พระพุทธศาสนา” นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือมิได้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันสองวันมานี้

อย่างน้อย หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ในสมรภูมิแย่งชิงลิขสิทธิ์ “อุลตร้าแมน” ระหว่างเอกชนญี่ปุ่น กับ “สมโพธิ แสงเดือนฉาย” นักสร้างภาพยนตร์ชาวไทย เจ้าของผลงานแหวกแนวช่วงปลายทศวรรษ 2510 อาทิ “หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์” และ “หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง”

เรื่องเล่าจากฝั่งสมโพธิก็ระบุว่า คาแร็กเตอร์ของ “อุลตร้าแมน” ที่เขามีส่วนคิดค้นออกแบบนั้น อ้างอิงมาจาก “พระอัฏฐารส” พระพุทธรูปยุคสุโขทัย

เรื่องราวความขัดแย้งสดๆ ร้อนๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ กรณีภาพวาด “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ของนักศึกษาหลักสูตรศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ถูกถอดออกจากนิทรรศการจัดแสดงผลงานในห้างสรรพสินค้าดัง

Advertisement

ขณะเดียวกัน เจ้าของผลงานและผู้เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ากราบขอขมาคณะสงฆ์ เพราะความ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นั้น

จึงน่าสนใจ

ข้อน่าสนใจประการแรก คือ อะไรเป็นเส้นแบ่งระหว่าง “พฤติกรรมลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนา” กับ “การเผยแพร่-ตีความศาสนาในรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่มีเจตนาลบ/ร้าย”?

Advertisement

นักศึกษาเจ้าของผลงานยืนยันชัดเจนว่าเธอไม่ได้คิดลบหลู่พุทธศาสนา หากต้องการสื่อให้เห็นว่า “พระพุทธเจ้า” เป็นฮีโร่เหมือน “อุลตร้าแมน” ซึ่งอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้แก่มนุษย์ และช่วยให้โลกสงบสุข

คำอธิบายเช่นนี้ดูจะสอดคล้องลงรอยกับความรู้สึก-ความคิดเห็น-การตีความของผู้คนจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย

รวมถึง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่มองว่าการลงทัณฑ์ทางสังคมต่อนักศึกษาผู้วาดภาพ “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” นั้นเป็นการไปตีกรอบความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเยาวชน

อาจารย์เฉลิมชัยมองว่า “อุลตร้าแมน” คือสิ่งที่อยู่รอบตัวคนรุ่นใหม่ มีสถานะเป็นฮีโร่ปกป้องโลก เป็นตัวละครฝ่ายดีมีศีลธรรม เมื่อนำมาผสมผสานกับพุทธศาสนา จึงก่อให้เกิดความหมายแปลกใหม่ในแง่บวก มิใช่การดัดแปลงศาสนาให้กลายเป็น “ปีศาจ” หรือ “สิ่งชั่วร้าย”

น่าตั้งคำถามว่า ขณะที่สังคมมีแนวโน้มจะพิจารณาว่าภาพ “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” คือ “การเผยแพร่พระศาสนาในรูปแบบใหม่”

แต่ทำไมภาครัฐ องค์กรพุทธศาสนา และกลุ่มคนผู้มีความศรัทธาในพระศาสนา บางส่วน จึงมองเห็นภาพวาดชุดเดียวกันเป็น “การลบหลู่”?

กระทั่งการแปลความใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม อาจถูกเหมารวมเป็นการดูหมิ่นศาสนาไปเสียทั้งหมด

ข้อน่าสนใจประการที่สอง คือ ดังได้เกริ่นไปแล้ว ณ ช่วงต้นบทความว่า การผูกโยง “อุลตร้าแมน” เข้ากับ “พุทธศาสนา” มิใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในการรับรู้ของคนไทย

สิ่งที่น่าครุ่นคิดจึงได้แก่ ทำไมก่อนหน้านี้ พวกเราไม่มีปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีความกระวนกระวายใจ ต่อประเด็นดังกล่าว?

ทำไมวิวาทะระหว่าง “การลบหลู่ดูหมิ่น” กับ “การเผยแพร่ตีความแบบใหม่” ถึงกลายเป็นเรื่องร้ายแรงลุกลามไปได้ในยุคปัจจุบัน?

ถ้าคำตอบออกมาว่า เป็นเพราะเพดานทางความคิดความเชื่อในสังคมไทยนั้นต่ำลง หรือนิยาม “ความเป็นไทย-อัตลักษณ์ไทย” ได้แคบเรียวลง แทนที่จะเปิดกว้างขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ก็น่าถามต่อว่าอาการเช่นนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยใด? และจะส่งผลลัพธ์อย่างไรในวันข้างหน้า?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image