สถานีคิดเลขที่12 : ‘กูเกิล’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

ในยุค “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น”

องค์กรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นราชการหรือเอกชน ที่ก่อตั้งมาก่อนยุคอินเตอร์เน็ตจะแพร่หลาย และเทคโนโลยีดิจิทัลยังมิได้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำงาน รวมถึงการดำเนินชีวิต ต่างมีปัญหาเรื่องการปรับตัว-เปลี่ยนวัฒนธรรม

ปัญหาที่พบเห็นบ่อย คือ ผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูง มักรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ลึกซึ้ง ไม่ละเอียด ไม่รอบด้าน เท่ากับกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน (ตลอดจนผู้บริโภค)

ผู้นำ-ผู้บริหาร ผู้อยู่ในเจเนอเรชั่น “เบบี้บูมเมอร์” อาจขึ้นปาฐกถาเรื่องกลยุทธ์หรือแนวนโยบายกว้างๆ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่วิถีดิจิทัลได้

Advertisement

แต่เป็นที่รู้กันว่าไม่ควรปล่อยให้ผู้นำ-ผู้บริหาร พูดเยอะ ลงรายละเอียดแยะ เพราะจะยิ่งเปิดเผยจุดบกพร่องหรือสะท้อนอาการรู้ไม่จริงออกมา

กระทั่งคนใน-นอกหน่วยงานต่างพากันไม่เชื่อมั่น เผลอๆ จะขำใส่เข้าให้อีก

เร็วๆ นี้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง “กูเกิล” ระหว่างการขึ้นเวทีพูดคุยที่สหรัฐ

Advertisement

เอาเข้าจริง นายกฯ น่าจะมีเจตนาดี โดยอยากสื่อสารให้คนต่างแดนรับรู้ว่าสังคม-ระบบเศรษฐกิจไทย กำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว

แต่คำกล่าวนั้นมีข้อผิดพลาดสำคัญสองประการ

ข้อแรก ท่านนายกฯ คงหยิบยกเรื่อง “กูเกิล” ขึ้นมาพูด เนื่องจากเห็นว่านี่เป็นวัฒนธรรมดิจิทัลที่คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคย กระทั่งพูดอธิบาย-ฟังเข้าใจได้ง่าย

จุดท้าทายอยู่ที่ว่าผู้พูดจะนำความง่ายนี้ไปขยายความ จนผู้ฟังสามารถมองเห็นเป้าหมาย/ปัญหาใหญ่ๆ ที่สลับซับซ้อนกว่านิทานต้นเรื่องได้อย่างไร

ไม่ใช่นำตัวอย่างง่ายๆ มาอธิบายในสิ่งที่คนส่วนใหญ่รับรู้กันอยู่แล้ว

ข้อสอง ท่านนายกฯ ได้พยายามเชื่อมโยงเรื่อง “กูเกิล” ไปถึงประเด็นที่ใหญ่กว่า ตามความน่าจะเป็นในข้อแรก

ทว่าโวหารดังกล่าวกลับนำไปสู่สมมุติฐานที่ว่า คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีฐานะทางสังคม-เศรษฐกิจดีกว่า นั้นใช้งาน “กูเกิล” (เป็น) มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป

ในแง่นี้ “กูเกิล” จึงมีความหมายไม่ต่างจาก “ภาพเหมารวม” เก่าแก่อื่นๆ

จากที่เคยมีคำกล่าวว่าคนกลุ่มแรกรัก-ห่วงชาติ, ขยันทำมาหากิน หรือทำบุญมามากกว่าคนกลุ่มหลัง

ก็ต้องเพิ่มเรื่องคนกลุ่มแรกใช้ “กูเกิล” มาก/ถูกต้องกว่าคนกลุ่มหลังเข้าไปด้วย

จริงๆ แล้ว “กูเกิล” ถือเป็นตัวอย่างเปิดเรื่องที่เข้าท่า ซึ่งสามารถต่อขยายไปยังปรากฏการณ์ชวนขบคิดหลายข้อ เช่น

หนึ่ง ถ้ามอง “กูเกิล” เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ ก็น่าย้อนกลับมาพิจารณาตั้งคำถามว่า “บิ๊กดาต้า” ที่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในบ้านเรานั้น จะสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงกันอย่างเป็นระบบ และเปิดกว้างให้สาธารณชนเข้าถึง-ใช้ประโยชน์ ได้หรือไม่? อย่างไร?

สอง แพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกไม่ใช่เครื่องมือวิเศษที่โปร่งใส ทว่าคอยกำหนด สอดส่อง แสวงหาประโยชน์จากพฤติกรรมของผู้บริโภค/ผู้ผลิตท้องถิ่น มากพอๆ กับ (หรืออาจมากกว่า) ที่ผู้คนเหล่านั้นมีส่วนสร้างสรรค์-เสพเนื้อหาต่างๆ บน
แพลตฟอร์ม

รัฐบาลมีท่าทีอย่างไรต่อ “อำนาจเหนือรัฐ” เช่นนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับประชาชนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่อง “ข่าวปลอม”?

และเมื่อเม็ดเงินโฆษณาจำนวนมหาศาลอันเกิดจากการบริโภค-ผลิตเนื้อหาโดยคนไทย หลั่งไหลเข้าสู่เจ้าของแพลตฟอร์มที่ต่างประเทศ รัฐบาลมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีจาก “กูเกิล-เฟซบุ๊ก” บ้างหรือไม่? อย่างไร?

สาม เมื่อกล่าวถึงการใช้งานอินเตอร์เน็ต มีสองเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ

(1) ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี (การเล่นอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา นึกอยากเสิร์ชอะไรก็เสิร์ช นั้นมีค่าบริการที่ต้องจ่าย) สถานการณ์เรื่องนี้ในสังคมไทยเป็นอย่างไร? มีพัฒนาการดีขึ้นแค่ไหน?

(2) แม้แพลตฟอร์มออนไลน์อาจมิใช่ดินแดนประชาธิปไตยในอุดมคติ แต่โลกเสมือนดังกล่าวก็เต็มไปด้วยความหลากหลายทางรสนิยม-ความเชื่อ-การแสดงออกของผู้ใช้งาน รัฐบาลจะเปิดรับความหลากหลายที่ว่าได้มากน้อยเพียงใด?

น่าเสียดายที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ขยายความมาถึงปรากฏการณ์เหล่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image