สถานีคิดเลขที่12 : ‘6 ตุลา’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

หากพิจารณา “6 ตุลาคม 2519” เป็น “ประวัติศาสตร์” บทหนึ่ง

นี่ก็เป็น “ประวัติศาสตร์” ที่ทั้งใกล้และไกล ทั้งชัดเจนและเลือนราง

“ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา” มีชีวิตขึ้นๆ ลงๆ แตกต่างกันไป ในแต่ละช่วงเวลา

ราวสองทศวรรษแรกหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ ความเงียบงันอาจปกคลุม “ประวัติศาสตร์” บทนี้

Advertisement

ทว่านับจากปี 2539 จนถึงช่วงทศวรรษ 2540 “ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา” ได้ถูกรื้อฟื้นและมีที่ทางในความทรงจำของผู้คน อย่างมีนัยยะสำคัญ

“6 ตุลา” ถูกนำมาใช้สอยตีความเป็นหนึ่งในเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมือง ณ ช่วงต้นทศวรรษ 2550

ก่อนจะค่อยๆ อ่อนพลังลง และถูกจำกัดขอบเขตหลังปี 2557

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ ในฐานะเหตุการณ์หนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ “6 ตุลาคม 2519” จึงมีทั้งพลังพิเศษและจุดอับเฉพาะของตนเอง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผ่านเครือข่ายสถานการณ์หรือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่กว้างขวางยืดยาวกว่านั้น ย่อมสามารถกล่าวได้ว่า “6 ตุลาคม 2519” ยังอยู่กับพวกเราทุกคน แม้กระทั่งคนจำนวนมากที่เกิดหลังปี 2519 หรือคนที่เกิดทัน รับรู้ แต่ไม่อยากจดจำ “6 ตุลา”

แม้สภาพการณ์จะเปลี่ยนแปลงเพราะศัตรูของรัฐไทยไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่มีการเข้าป่าจับปืนอีกต่อไป

ทว่าเงื่อนไขบางอย่างที่สืบทอดมาจากยุค “6 ตุลา” ยังดำรงอยู่โดยแทบไม่แปรเปลี่ยน

อารมณ์เกลียดชังคั่งแค้นที่นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังคงตามหลอกหลอนสังคมไทยท่ามกลางวิกฤตการเมืองเสื้อสี และปะทุเป็นความรุนแรงถึงขีดสุด เป็นบาดแผลร้าวลึกซ้ำสอง เมื่อปี 2553

ชุดโวหารประเภท “ขวาพิฆาตซ้าย” หรือการสร้างปีศาจขึ้นมาหลอกหลอนตัวเอง ยังคงถูกนำมาฉวยใช้โดยผู้มีอำนาจบางรายและประชาชนบางกลุ่ม เพื่อมุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก

เงื่อนไขเดิมๆ เหล่านี้ ต้องเผชิญหน้ากับบริบทใหม่ๆ หลายประการ เช่น

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลายมาเป็นป้อมปราการแข็งแกร่งชนิดหนึ่ง ที่อำนาจนอกระบบใดๆ ไม่สามารถเอาชนะประชาชนส่วนใหญ่ได้ในแง่คะแนนเสียง (แม้จะบิดผันเจตนารมณ์ประชาชนได้ก็ตาม)

คนรุ่นใหม่ เทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ ได้ก่อให้เกิดวิถีการมีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะใหม่ๆ พร้อมด้วยแนวคิด-วิธีมองโลกมุมใหม่ๆ ที่บางครั้ง ผู้ใหญ่อาจยากจะเข้าใจ

มี “ตัวละครใหม่” อีกหลายราย ที่ปรากฏบทบาทขึ้นมา เพื่อช่วยคลี่เผยปัญหาและโยนคำถามถึงภาวะผิดปกตินานัปการที่อาจเกิดขึ้น ณ จุดอื่นๆ ของภาครัฐและสังคม ดังกรณีข่าวคราวน่าเศร้าสลดล่าสุดของผู้พิพากษาท่านหนึ่งที่จังหวัดยะลา

สังคมการเมืองไทยจึงยังเดินหน้าไป ทั้งด้วยการ “ผลิตซ้ำ” และ “ต่อยอดแตกแขนง” จาก “ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image