สถานีคิดเลขที่12 : จุดอับปาง‘ลุงตู่’ : โดย จำลอง ดอกปิก

รัฐบาลแก้เกมเสียงปริ่มน้ำ

รับมือวาระร้อน อันเป็นที่หวั่นวิตก กระทบเสถียรภาพรัฐบาลได้ดี

ผนึกเสียงโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ได้อย่างไม่มีปัญหา โดยที่ไม่ว่าฝ่ายค้านจะงดออกเสียงหรือไม่ก็ตาม

เมื่อดันผ่านวาระแรกได้ เปอร์เซ็นต์สะดุด วาระ 2 และ 3 ก็มองไม่เห็น

Advertisement

ไม่มีข้ออันใดให้ห่วงกังวล แค่พรรคร่วมรัฐบาลระดมเสียงโหวตครบเหมือนการลงคะแนนวาระ 1 หรือตกหล่นน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

เพียงเท่านี้ กฎหมายงบประมาณก็ผ่านฉลุย

ไม่ต้องสนใจไยดีว่าฝ่ายค้านจะโหวตอย่างไร

อีกวาระใหญ่ที่รัฐบาลจะเผชิญคิวต่อไปในสมัยประชุมสภาสามัญ เริ่ม 11 พฤศจิกายนนี้ คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่ถึงแม้ฝ่ายค้านงัดมาตรการการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลสูงสุดออกมาใช้

เรื่องคว่ำรัฐบาลก็เป็นไปได้ยากยิ่ง

7 พรรคคงมิได้มุ่งหวังผลขั้นสูงขนาดนั้น มันเป็นไปไม่ได้ แต่คงต้องการชี้ให้ประชาชนเห็นมากกว่าว่า รัฐบาลบริหารไม่ได้เรื่อง ส่งผลสะเทือนต่อศรัทธา สั่งสมความไม่สมควรไว้วางใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า

หวังผลทางการเมืองระยะยาวมากกว่าการล้มรัฐบาลอย่างปัจจุบันทันด่วน

ทั้งนี้ เนื่องจากญัตติไม่ไว้วางใจ ถือเอาเสียงไม่ไว้วางใจเป็นเกณฑ์ตัดสิน

จึงไม่มีทางที่เสียงข้างน้อยฝ่ายค้านจะเขย่งสูงเกินกึ่งหนึ่งของสภา

ฉะนั้นเรื่องที่ฝ่ายค้านจะล้มรัฐบาลตรงๆ ด้วยญัตติไม่ไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจทางอ้อม โหวตคว่ำกฎหมายงบประมาณ เป็นไปไม่ได้แน่

เรื่องงบฯ ก็แค่ระดมเสียงครั้งใหญ่ปีละครั้ง เรื่องซักฟอก หากไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล ก็ทำอะไรรัฐบาลไม่ได้

แต่กระนั้นการดำรงอยู่ของรัฐบาลก็มิได้วัดด้วยการโหวตเสียงในสภาอย่างเดียว ซึ่งแก้ได้ สู้ด้วยเอกภาพ

เสียงปริ่มน้ำที่คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ วันนี้กลายเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว

เรื่องใหญ่ที่สุด เครื่องวัดอายุขัยรัฐนาวาเรือเหล็ก คือการบริหารราชการแผ่นดิน บริหารเสียงนอกสภา เพื่อให้เกิดเป็นศรัทธาค้ำจุนรัฐบาล

รัฐบาลที่ประชาชนเสื่อมศรัทธา ล้มหายตายจากระหว่างทางหลายต่อหลายชุด ทั้งที่ไม่มีปัญหาเสียงในสภา

แต่ถูกกดดันด้วยเสียงนอกสภาจากการบริหารไม่เอาไหน ต้องยุบสภาคืนอำนาจประชาชนในที่สุด

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าบริหารในจังหวะที่ไม่ดีนัก

เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ขนาดของปัญหาใหญ่มาก

เกิดเป็นคำถามตามมาว่าจะฝ่าออกไปได้อย่างไร ในเมื่อฝีมือบริหารด้านนี้สมัยรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 ก็ยังเป็นที่คาใจ ทั้งที่สถานการณ์ในห้วงแรกไม่หนักเท่านี้

แต่ประชาชนก็เดือดร้อนจากปัญหาปากท้อง เม็ดเงินจากการขยายตัวของเศรษฐกิจกระจุกอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่ คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับอานิสงส์

ปัจจุบันขณะ ปัญหาหนักหนา สากรรจ์มากกว่านั้นหลายเท่า

รัฐบาลพยายามแก้ไขด้วยการออกมาตรการต่างๆ แต่ก็บรรเทาผลกระทบได้ไม่มาก

แม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนก็บ่นพ้อ มองไม่เห็นอนาคต

ผลกระทบความเดือดร้อนแผ่ขยาย

ทุกฝ่ายฝากความหวังไว้กับรัฐบาล แต่รัฐบาลก็มีข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือแก้ปัญหา

การที่ขนาดปัญหาใหญ่มากจึงเป็นโจทย์แก้ยากมาก ลำพังแค่จะลดทอน บรรเทาปัญหายังลำบาก

แต่ไม่ว่าโหดหินขนาดไหน รัฐบาลก็ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ภาระการแก้ไขตกอยู่บนบ่าไหล่รัฐบาล

และต้องให้ความสำคัญสูงสุด

วันนี้ปัญหาใหญ่เสียงปริ่มน้ำกลายเป็นเรื่องเล็ก ที่สำคัญคือเศรษฐกิจ ปากท้อง

ถ้าประชาชนเดือดร้อนอยู่ไม่ได้ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้

อาจทนอยู่ได้ อยู่อย่างนี้ต่อไปจนครบ 4 ปี แต่อย่าได้ฝันถึงอนาคต-อยู่ยาว อย่างน้อยเท่ากับอายุขัย ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก ที่ดีไซน์ไว้เป็นฐานค้ำยัน ล็อกนายกฯ-รัฐบาลต่อเนื่อง 8 ปี

หากไม่สามารถบริหารจัดการแก้ไข บรรเทาเบาบางผลกระทบจากวิฤตเศรษฐกิจได้

อย่าว่าแต่ 2 สมัยเลย

จะแพ้ภัยตัวเอง รอด 4 ปีแรกหรือไม่ ยังเป็นคำถาม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image