สถานีคิดเลขที่ 12 : เริ่มด้วยจุดจบ : โดย จำลอง ดอกปิก

ปัญหารุงรังที่รัฐบาลเผชิญอยู่ขณะนี้ ไม่ว่าเรื่อง 3 สารเคมีการเกษตร ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติกลับไปกลับมา ปัญหาหลายขาบริหารเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การโหวตแพ้ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศ และคำสั่ง คสช.รวมถึงการใช้อำนาจ ม.44 ของหัวหน้า คสช.

ทั้ง 3 เรื่องที่ยกมานี้ ล้วนสะท้อนภาพ ความไม่เป็นขบวน ของรัฐบาลทั้งสิ้น

ที่ว่าไม่เป็นกระบวน ก็เนื่องจาก หากเรื่อง 3 สารเคมีอันตราย มีเจ้าภาพ มีการบูรณาการแต่เริ่มต้น เมื่อมีข้อมูลในมือที่ถูกต้องครบถ้วนทุกด้าน ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบในเชิงธุรกิจการค้า การนำเข้า การตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ก็อาจทำให้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาพิจารณาเรื่องนี้อีก

มติให้แบน 3 สารเมื่อ 22 ตุลาคม มีผล 1 ธันวาคม 2562 ยังไม่ทันบังคับใช้ ก็ต้องทบทวน รื้อใหม่ ออกมาเป็นมติล่าสุดอีกครั้ง อย่างที่เห็นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น ไม่เป็นปัญหาซ้อนทับด้วยปัญหาการเมือง อย่างที่ปรากฏอีก

Advertisement

ในขาการบริหารด้านเศรษฐกิจ ขาเดียว หลายขา ก็ยุ่งจากความไม่เป็นขบวนเช่นกัน

เรื่องนี้เป็นปัญหาแต่แรก เริ่มต้นรัฐบาล ความจำเป็นทางการเมือง ทำให้ไม่สามารถรวบกระทรวงเศรษฐกิจมาอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคหนึ่งพรรคใดได้ เพื่อกำกับแถวแนวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นพลังไฮเพาเวอร์ขับเคลื่อนแก้ปัญหา

เรื่องนี้มีความพยายามแก้ไข ด้วยการตั้ง ครม.เศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งประธาน

Advertisement

แต่ ครม.เศรษฐกิจก็ช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เมื่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจของพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นสมาชิกวีไอพีคณะนี้ ไม่เห็นความสำคัญของการทำงานเศรษฐกิจภาพรวม

ตั้งหน้าตั้งตาบริหารกระทรวงเป็นหลัก มุ่งสร้างผลงาน ความนิยมทางการเมือง

งานต่างคนต่างทำ ไม่เป็นกระบวน ยังปรากฏในกรณีมาตรการช่วยเกษตรกรชาวนาล่าสุด ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีพรรคแกนนำรัฐบาล กับรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ ว่าด้วยเรื่องการลัดข้ามขั้นตอน กลางวงประชุม ครม.

การไม่เป็นขบวนอย่างยิ่ง ยังมีกรณีเพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายรัฐบาลที่กุมเสียงข้างมากในสภา พ่ายฝ่ายค้าน ในการลงมติญัตติ ม.44 ที่กระทั่งขณะนี้ ยังไม่สามารถหาทางออก ทางลงที่ดีได้

เป็นการพ่ายทั้งที่ไม่น่าแพ้ด้วยประการทั้งปวง เนื่องจาก รู้วันล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะมีการลงมติ และธงโหวตก็ชัดเจนว่าไม่ตั้ง แต่วิปแม่งานสภาในฝ่ายรัฐบาล ก็ดูเหมือนไม่กระตือรือร้นระดมเสียง เช็กเสียงเท่าที่ควร จึงมีทั้ง ส.ส.ที่โดดร่ม ไม่เข้าประชุมสภา ซ้ำร้ายกว่านั้นยังใช้เอกสิทธิ์โหวตสวน ซึ่งสะท้อนความไม่เป็นขบวน ความขัดแย้งในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล

เป็นอย่างที่เรียกว่า คนละเรื่องเดียวกัน

สืบเนื่อง โยงใย จากงานในสายบริหารสู่งานในฝ่ายนิติบัญญัติ และย้อนกลับสู่งานบริหาร

อันที่จริง มีการทำนายทายทักแต่แรกว่า รัฐบาลผสม จำนวนเสียงเป็นอย่างนี้ จะเกิดความขัดแย้ง และการต่อรองอย่างสูงอย่างแน่นอน ตลอดห้วงอายุขัย แต่เรื่องความเห็นไม่ลงรอย เห็นต่าง ขัดแย้ง ต่อรองก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง ออกจะแปลกพิสดารด้วยซ้ำ หากไม่เกิดการต่อรองสำหรับรัฐบาลผสม เสียงปริ่มน้ำ

แต่ที่สำคัญคือ การบริหาร เพื่อควบคุม จำกัดวงของความขัดแย้งให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อมิให้เป็นพิษ กระทบต่อการบริหารแก้ปัญหา พัฒนาประเทศ หรือแม้แต่งานในฝ่ายนิติบัญญัติ ในการออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับฝ่ายบริหาร

ขณะนี้ดอกผลของรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ เบ่งบานเป็นปัญหาทั่วทุกทิศ

เป็นปัญหาซ้อนปัญหา ท้าทายฝีมือบริหารจัดการ

คำถามมีอยู่ว่า ถ้าเริ่มต้นไม่เป็นขบวน เรื่องพื้นๆ ยังจัดการให้เป็นระบบไม่ได้อย่างนี้ นับประสาอะไรกับงานใหญ่งานยาก อย่างปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ สติปัญญา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image