สถานีคิดเลขที่12 : รธน.กับศก. : โดย นฤตย์ เสกธีระ

ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงว่ารัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ

แต่รัฐธรรมนูญนี่แหละที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

วันนี้ผลจากเหตุที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญกำลังส่งผลให้เห็น

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เพราะกลัวว่าถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพมากจะใช้อำนาจแบบเผด็จการ

Advertisement

แต่ผลจากการทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลทำให้การบริหารงานอ่อนแอ

ผลจากข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ แม้จะ “ดีไซน์” มาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯอีกครั้ง

แต่ขณะเดียวกันด้วยอานุภาพของรัฐธรรมนูญได้ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ

กว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ ต้องไปอ้อนวอนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ให้มาร่วม

อย่างน้อยก็พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

การเป็นนายกรัฐมนตรีแม้จะมีเสียงโหวตสนับสนุนจาก ส.ว. แบบเอกฉันท์ เพราะ ส.ว.แต่ละท่านได้รับการการันตีมาจาก คสช.

แต่การบริหารประเทศนั้น ส.ว.แทบจะไม่ได้เข้ามามีบทบาท เสียงในสภาผู้แทนราษฎรต่างหากที่มีพลัง

การขับเคลื่อนเดินหน้าในการทำงานของสภา ที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงเพียงปริ่มๆ จึงเป็นปัญหา

โหวตแพ้ หรือชนะ มีโอกาสเกิดขึ้นได้พอๆ กัน

อย่างกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจาก ม.44 พอฝ่ายรัฐบาลโหวตแพ้จะขอโหวตใหม่ เพราะไม่อยากให้มีคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา

เกรงว่าจะบานปลายลามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์

แต่ปรากฏว่า ฝ่ายค้านไม่เอาด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือสภาล่ม

ล่มแล้วล่มอีก เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนัดพรรคร่วมรัฐบาลมาเลี้ยงสังสรรค์ 3 ธันวาคม

ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลผสม ทีมงานด้านต่างๆ ต้องมีลักษณะผสม

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลก็อยู่ในลักษณะผสม

เป็นกระทรวงเศรษฐกิจภายใต้การนำ 3 พรรค พลังประชารัฐ คุมคลัง พลังงาน อุตสาหกรรม ประชาธิปัตย์ คุมพาณิชย์ และเกษตรฯ ภูมิใจไทย คุมคมนาคม และท่องเที่ยว

นโยบายด้านเศรษฐกิจของแต่ละพรรคมีทิศทางของตัวเอง เงินงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายมีอยู่จำกัด จะตอบสนองความต้องการทุกพรรคไม่ได้

สุดท้ายเกิดขัดแย้ง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไร้เอกภาพ

รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแต่ละพรรคมุ่งมั่นทำงาน แต่เพราะไม่มียุทธศาสตร์ร่วมจึงไม่มีพลัง

ปัญหาเศรษฐกิจจึงเสมือนไม่ได้รับการแก้ไข

ประชาชนเดือดร้อน เงินในกระเป๋าลดลง หนี้สินมากขึ้น และหวังจะพึ่งพารัฐบาล

แต่รัฐบาลไม่มีพลังพอจะให้ประชาชนได้พึ่งพา

สุดท้ายคนเริ่มรู้สึกเบื่อ

และอาจจะกลายเป็นปัญหาการเมืองในที่สุด

เมื่อย้อนกลับไปดู จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่หลายคนบอกว่าไม่เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ

แท้จริงแล้วเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องการคนดีมีฝีมือ และเอกภาพในการแก้ไข

เมื่อรัฐธรรมนูญดีไซน์มาให้เป็นรัฐบาลผสม

รัฐบาลจึงไม่มีเอกภาพ การแก้ปัญหาใหญ่ๆ อย่างเศรษฐกิจจึงไม่มีพลัง

เหตุในปัจจุบันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็น

รัฐธรรมนูญเกี่ยวโยงกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยประการฉะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image