สถานีคิดเลขที่ 12 : ช่องว่าง : โดย ปราบต์ บุนปาน

จากปี 2562 สู่ 2563 เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจ
สภาพปัญหาคือเงินในมือชาวบ้านระดับรากหญ้า-ระดับกลาง มีน้อยลงเรื่อยๆ การหว่านโปรยเม็ดเงินเป็นครั้งคราว ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

นี่เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายรู้กันดี แต่ด้านหนึ่ง อาจยังแก้ไขไม่ได้ เพราะติดขัดตรงศักยภาพของคนออกนโยบาย-คนทำงาน หรืออีกด้าน อาจเป็นเพราะคนระดับบนๆ ที่ควบคุมระบบ-กลไกต่างๆ ของสังคม ยังไม่ทุกข์ร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากช่องว่างทางเศรษฐกิจ-ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพยากร ที่สูงขึ้น-ถ่างกว้างขยายออกไปเรื่อยๆ

กระนั้นก็ดี องค์ประกอบของปัญหาเศรษฐกิจมักมีทั้งเงื่อนไขปัจจัยภายใน (ที่ควรจะแก้ไขปรับปรุงได้) และเงื่อนไขปัจจัยภายนอก (ที่ควบคุมได้ยาก)

ขณะเดียวกัน การพิจารณาไปที่ความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจประการเดียว ก็อาจทำให้เรามองเห็นภาพรวมได้ไม่ครบถ้วน

Advertisement

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่ ปัญหาความขัดสนยากไร้ทรัพยากรจะยิ่งทวีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อช่องว่าง-ความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้นมีเยอะมีสูงอย่างคู่ขนานกันไป

ช่องว่างทางสังคมอาจปรากฏผ่านวิถีการบริโภค-การดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน เพราะเงินในกระเป๋ามีไม่เท่ากัน

อาจปรากฏผ่านการเข้าถึงอำนาจที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน

Advertisement

หรืออาจปรากฏในความรู้สึกที่มองว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้โดยแท้จริง

ช่องว่างประเภทแรกมีความเกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ช่องว่างสองประเภทหลัง ดูจะเป็นปัญหาทางการเมือง

ยิ่งเมื่อสังคมการเมืองของเรายังไม่เป็นปกติ ยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพิ่งผ่านรัฐประหารมาสองครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 15 ปี และมีการออกแบบโครงสร้างกฎกติกาซึ่งเปิดให้บุคคลจากระบบแต่งตั้งเข้ามาแสดงอิทธิพลเหนือหรือถ่วงดุลอำนาจอันมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาพื้นฐานข้างต้นนับเป็นแหล่งบ่มเพาะช่องว่าง-ความเหลื่อมล้ำทางสังคมชั้นดี (ที่ย่อมส่งผลเสียหายหนักหนาสาหัสในปัจจุบันและอนาคต)

แน่นอน ช่องว่างทางเศรษฐกิจและช่องว่างทางสังคมมักหลั่งไหลมาหลอมรวมกันในบริบทต่างๆ ต่างกรรมต่างวาระ บางครั้งอาจนำไปสู่สภาวะความเหลื่อมล้ำที่มนุษย์ธรรมดาสามัญยากจะทำใจยอมรับ (ส่วนพวกเขาจะลงมือแก้ไขสะสางมันอย่างไร หรือระบายความอึดอัดคับข้องใจด้วยวิธีการแบบไหน เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

นี่คือความท้าทายที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังรอคอยพวกเราทุกคนอยู่ในปี 2563

บางที คำว่า “สวัสดีปีใหม่” อาจเป็นคำทักทายที่หลอกหลอนให้เรามองโลกในแง่ดีจนเกินไป และไม่บ่งบอกถึงอุปสรรคขวากหนามจริงๆ ซึ่งขวางทางอยู่ข้างหน้า

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image