กราดยิงโคราช

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาของคนไทย ซึ่งควรดำเนินไปอย่างสุขสงบ เพราะตรงกับช่วงหยุดยาวและวันสำคัญทางพุทธศาสนา กลับคุกรุ่นด้วยความเศร้าสลด

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกขานกันสั้นๆ ว่า “กราดยิงโคราช” อันถือเป็นกรณีสะเทือนขวัญครั้งใหญ่สำหรับสังคมไทย

ขอแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และญาติมิตร รวมทั้งขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในพื้นที่ ผู้ทุ่มเทอุทิศตนปฏิบัติภารกิจตึงเครียดตลอดค่ำคืนอันยาวนาน มา ณ ที่นี้

มีประเด็นน่าสนใจอย่างน้อยๆ 3 ข้อ ที่น่าคิดต่อจากเหตุ “กราดยิงโคราช”

Advertisement

ข้อแรก เราอาจรีบสรุปง่ายๆ ว่าเรื่องราวทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุคับข้องใจส่วนตัวของบุคคลคนหนึ่งก็ย่อมได้

แต่อย่างไรเสีย สังคมมิอาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ลงมือก่อเหตุมีสถานภาพเป็นข้าราชการทหาร และลงมือสังหารผู้คนโดยใช้อาวุธสงครามของกองทัพ ที่จัดซื้อด้วยเงินภาษีของประชาชน

ด้วยเหตุนี้ แม้ในที่สุด ผู้ก่อเหตุจะต้องจบชีวิตลงในเช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ แต่หน่วยงานต้นสังกัดย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะถูกตั้งคำถามจากสาธารณชน

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการการเก็บรักษาและเบิกจ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงเรื่องสุขภาพจิตของกำลังพลชั้นผู้น้อย

รวมทั้งโจทย์สำคัญที่ว่า กองทัพจะรับประกันได้แค่ไหน ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่ทหารที่เชี่ยวชาญยุทธวิธีระดับนี้ เข้าถึงอาวุธหนักได้ขนาดนี้ มีสภาพจิตใจเหี้ยมโหดแบบนี้ ลงมือเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์รายแล้วรายเล่าในพื้นที่สาธารณะ เกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า

ข้อสอง แม้เหตุการณ์ “ปล้นทองลพบุรี” กับ “กราดยิงโคราช” อาจมีรายละเอียดจำนวนมากที่แตกต่างกัน แต่องค์ประกอบประการหนึ่งที่สอดคล้องต้องกันอย่างสำคัญ ก็คือสถานที่หรือพื้นที่ใจกลางของสถานการณ์ฉุกเฉินเหล่านั้น ล้วนเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในจังหวัด

ด้านหนึ่ง ศูนย์การค้าคือพื้นที่สาธารณะที่รองรับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเข้ามาแทนที่วัด ตลาด หรือแหล่งชุมชนชนิดอื่นๆ

แต่อีกด้านหนึ่ง ห้างสรรพสินค้าก็มีสภาพเป็นพื้นที่ปิด อันเต็มไปด้วยการแบ่งซอยเหลี่ยมมุมและการจัดวางเส้นทางเดินที่สลับซับซ้อน ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรม/โศกนาฏกรรมร้ายแรง คนจำนวนมากจากภายในจึงหลบหนีออกสู่ภายนอกได้ไม่ง่ายนัก เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ข้างนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานข้างในได้อย่างยากลำบาก

นี่เป็นจุดท้าทายอย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและการวางนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะถ้าเรามีความเชื่อว่าพฤติกรรมกราดยิงในพื้นที่สาธารณะทำนองนี้ อาจเป็นอาชญากรรมที่มีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นในอนาคต

ข้อสุดท้าย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐไทยนั้นให้ความสำคัญสูงยิ่งต่อมิติด้านความมั่นคงภายใน
ดังจะเห็นได้จากการขยายขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้ครอบคลุมไปถึงระดับจังหวัด

น่าตั้งคำถามไม่น้อยว่า เมื่อแรกที่แนวคิดการปรับขยายโครงสร้างการทำงานของ กอ.รมน. ให้กว้างขวางขึ้น ถูกเสนอออกมานั้น

อะไรบ้างคือ “ภัยต่อความมั่นคงภายใน” ที่ผู้เสนอแนวคิดหรือรัฐไทยโดยรวมนึกถึง?

มีเหตุกราดยิงในแหล่งชุมชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้ครอบครองอาวุธยุทโธปกรณ์ของทางราชการ รวมอยู่ด้วยหรือไม่?

หากยังไม่รวม นี่คือ “ภัยใกล้ตัว” อีกชนิดหนึ่งที่ภาครัฐต้องตระหนักและหาทางระงับป้องกัน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image